ไม่ต้องการสถาปนาตัวเองเป็น “มหาราช” เรื่องเล่าในหลวงร.9 ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย

ไม่ต้องการสถาปนาตัวเองเป็น “มหาราช” เรื่องเล่าในหลวงร.9 ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ผู้อบรมหลักสูตร “ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง” รุ่นที่ 21 จัดกิจกรรมวิชาการพิเศษภายใต้โครงการสัมมนาสาธารณะเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 กับหลักนิติธรรม” 

 

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวพระราชดำริด้านหลักนิติธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักนิติศาสตร์อย่างแท้จริง ทรงทำการบ้านอย่างละเอียดถี่ถ้วนมาก ในการเป็นนักนิติศาสตร์ได้ทรงใช้หลักนิติธรรม 

 

 

 

 

นายวิษณุ ได้เล่าตอนหนึ่งว่า รัฐบาลในสมัยหนึ่งเคยเสนอออกกฎหมาย โดยมีข้อความด้วยความมุ่งหมายที่จะเฉลิมพระเกียรติติดไปในกฎหมายว่า ให้มีการจารึกในเหรียญเฉลิมพระเกียรติว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช แต่ปรากฏว่า เมื่อถวายขึ้นไป พระองค์ท่านทรงส่งพระราชเลขานุการมาหารัฐบาลเพื่อนำกระแสรับสั่งว่า ทรงไม่ลงพระปรมาภิไธย เพราะหากลงพระปรมาภิไธยเท่ากับสถาปนาพระองค์เองเป็นมหาราช ซึ่งคำว่ามหาราช เป็นคำไว้ให้ผู้อื่นเรียก แต่จะไม่ทรงเรียกพระองค์เอง และจบด้วยกระแสรับสั่งว่า นี่คือหลัก

 

 

        นายวิษณุ ยังเล่าอีกเรื่องหนึ่งว่า มีร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ยกร่าง ซึ่งในกฎหมายมีข้อความว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช้กับบุคลดังต่อไปนี้ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์อยู่ด้วย เมื่อทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงได้โปรดเกล้าฯให้องคมนตรีท่านหนึ่งมาแจ้งว่า ถ้ามีข้อความนี้อย่าทูลเกล้าฯ ถวาย เพราะจะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย จะยกเว้นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเอาออก 
/////////