ชาวนาหลายชีวิต ต้องดับดิ้นเพราะพิษจำนำข้าว!! ย้อนรอยคดีรับจำนำข้าว ก่อนชี้ชะตา “ยิ่งลักษณ์”

ชาวนาหลายชีวิต ต้องดับดิ้นเพราะพิษจำนำข้าว!! ย้อนรอยคดีรับจำนำข้าว ก่อนชี้ชะตา “ยิ่งลักษณ์”

วันที่ 25 สิงหาคม 2560 นี้ วันแห่งการอ่านคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ฐานปล่อยปละละเลยและเพิกเฉยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

ทั้งนี้ในวันที่ 24 สิงหาคมก่อนวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา พบว่าอดีตนายกฯได้เคลื่อนไหวผ่านทางเฟสบุ๊กส่วนตัวโดยระบุข้อความว่า “ดิฉันขออนุญาตกล่าวถึงวันฟังคำพิพากษาคดีของดิฉันที่ศาลฎีกาฯ ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ดิฉันทราบถึงความห่วงใย และความเมตตา ของพี่น้องประชาชนที่รับรู้ถึงความทุกข์ร้อน และความยากลำบากที่ดิฉันประสบอยู่ แต่ดิฉันเห็นว่าการเดินทางมาศาลเพื่อให้กำลังใจดิฉันนั้น ครั้งนี้เราจะไม่ได้พบปะ เห็นหน้า หรือสื่อความรู้สึกถึงกันได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงได้จัดระเบียบของผู้ที่จะเดินทางมาศาลผิดไปจากทุกครั้ง ทั้งที่เจตนาของพวกเราทุกคนเพียงต้องการมาให้กำลังใจซึ่งกันและกันเท่านั้น”
“ทั้งนี้ ดิฉันมีความห่วงใยต่อทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องประชาชน หรือแฟนเพจ และไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายอันอาจเกิดจากมือที่สาม ดังเช่นที่ฝ่ายความมั่นคงให้เหตุผลมาโดยตลอด ดิฉันจึงขอให้ทุกท่านที่ห่วงใย และต้องการให้กำลังใจดิฉัน ไม่ต้องเดินทางมาศาลฯในวันพรุ่งนี้ และขอให้ทุกท่านให้กำลังใจดิฉันโดยการรับฟังข่าวสารอยู่ที่บ้าน เพื่อความไม่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และต่อพวกเราทุกคน”
ขอขอบคุณทุกกำลังใจค่ะ

หากย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2554 รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้ชนะการเลือกตั้งโดยได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย แต่ยังไงก็ตามยังคงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆ ของเธอเอง
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมาใช้นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกอีกครั้งในปีการผลิต 2554/2555 และยกระดับราคารับจำนำข้าวเปลือก เป็นตันละ 15,000 บาท ซึ่งได้ประกาศเป็นนโยบายตอนหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยประกาศเริ่มโครงการรับจำนำผลผลิตข้าวจากชาวนาหมดทุกเมล็ดในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ทั้งแบบประทวนและยุ้งฉาง ขณะนั้นมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินโครงการ
ย้อนกลับไปปี 2553 นโยบายโครงการจำนำข้าวตันละ 1 หมื่น 5 พันบาท ที่พรรคเพื่อไทยชูเป็นนโยบายหลักหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้ชนะคู่แข่งท่วมท้น ถูกจับตามองและถูกวิพากย์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มโครงการว่า จะเกิดภาระงบประมาณ เกิดปัญหาขาดทุนมหาศาล เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ แต่รัฐบาลรับจำนำให้ราคามากกว่าราคาตลาด และยังมีคำถามว่าจะระบายข้าวได้มากน้อยเพียงใด
เมื่อผ่านไป 2 ปี รัฐบาลยังไม่สามารถระบายข้าวในสต็อกได้ ก่อเกิดปัญหาด้านงบประมาณที่นำมาจ่ายคืนให้ชาวนา ซึ่งทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้เปิดเผยตัวเลขขาดทุนกว่า 2 แสน 6 หมื่นล้านบาท แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น ออกมาปฏิเสธตัวเลขนี้  
ปัญหาความไม่ชอบมาพากลโครงการรับจำนำข้าว เริ่มชัดขึ้นตามลำดับ เมื่อมีการตรวจพบขบวนการปลอมใบประทวนนำไปขึ้นเงินกับ ธกส.โดยที่ไม่ได้นำข้าวมาจำนำจริง รวมถึงมีการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่คุณภาพต่ำมาสวมสิทธิ์ การขโมยข้าวจากโกดังมาเวียนเทียนจำนำ ปัญหาข้าวเน่าจากการเก็บรักษ ซึ่งหลายฝ่ายได้ออกมาเปิดโปงขบวนการนี้ ทั้งเปิดเผยผ่านที่สาธารณะและการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น
พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ฐานปล่อยปละละเลยและเพิกเฉยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว นอกจากนี้ การเก็บรักษายังมีปัญหาทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพและสูญหาย ทำให้การขายข้าวขาดทุน ข้าวหายจากโกดัง ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ ทำลายระบบโรงสี ทำให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกสำคัญ จากราคาข้าวที่สูงกว่าคู่แข่งในตลาดต่างประเทศ ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทและมีการสรุปตัวเลขความเสียหายจากโครงการนี้มากกว่า 6 แสน 8 หมื่นล้านบาท จากนั้นอัยการได้ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการไต่สวนคดีกว่า 2 ปี 4 เดือน
เมื่อเข้าสู่ที่รัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. โครงการรับจำนำข้าวถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น มีการตั้งคณะกรรมการสอบสอบสต๊อคข้าวและความเสียหายต่างๆ

 

ลำดับเวลาของคดีนี้
ปีพ.ศ. 2554
ประกาศรับจำนำข้าว

ปีพ.ศ. 2555
เดือนตุลาคมต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน มีการยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. 3 ครั้งให้ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว โดยพรรคการเมืองใหม่, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ปลายปีเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นำ ส.ส. ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประเด็นทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G)

ปีพ.ศ. 2556
วันที่ 5 มิถุนายน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการระบายข้าวค้างเก่าในโครงการรับจำนำปี 2554/2555 เป้าหมายในการยื่น ป.ป.ช. ครั้งนี้ เน้นไปที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายข้าว และนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว

ปีพ.ศ. 2557
วันที่ 20 มกราคม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ได้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556-เดือนพฤษภาคม 2557 เคลื่อนขบวนจากเวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปปิดล้อมธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ที่สะพานควาย เพื่อคัดค้านการนำเงินฝากของประชาชนมาช่วยเหลือโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการทุจริต
วันที่ 28 มกราคม ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่ไต่สวนนางสาวยิ่งลักษณ์ ในคดีโครงการรับจำนำข้าว และใช้เวลา 21 วันในการแจ้งข้อกล่าวหา
วันที่ 8 พฤษภาคม ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลนางสาวยิ่งลักษณ์ คดีจำนำข้าว ส่งเรื่องให้ ส.ว. ดำเนินการถอดถอน
วันที่ 22 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์
วันที่ 17 กรกฎาคม ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลนางสาวยิ่งลักษณ์ คดีจำนำข้าว ผิดในส่วนคดีอาญา

ปีพ.ศ. 2558
วันที่ 23 มกราคม อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์วันเดียวกับที่ สนช. มีมติถอดถอนด้วยคะแนน 190 ต่อ 18 เสียง ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ป.ป.ช. ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้เรียกค่าเสียหายจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าว
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อ ‘ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ ให้เอาผิดฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 วรรคสี่ มีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม ศาลฎีกาฯ รับฟ้อง
วันที่ 19 พฤษภาคม ศาลฎีกาฯ เริ่มพิจารณาคดีครั้งแรก โดยให้นางสาวยิ่งลักษณ์มาศาลทุกครั้งในการไต่สวนพยานทั้งฝ่ายโจทก์-จำเลย และให้ประกันตัวด้วยเงินสด 30 ล้านบาท
วันที่ 29 กันยายน นางสาวยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้องอัยการสูงสุดกับพวกต่อศาลอาญา ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งฟ้อง แต่ศาลไม่รับคำฟ้อง

ปีพ.ศ. 2559
วันที่ 15 มกราคม เริ่มไต่สวนพยานนัดแรก
วันที่ 13 พฤษภาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องนายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธาน คกก. ตรวจสอบความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว
วันที่ 13 ตุลาคม รมว. คลัง เซ็นคำสั่งทางปกครองให้นางสาวยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,717,273,028 ล้านบาท ภายใน 30 วัน
วันที่ 23 พฤศจิกายน นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวก เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท กรณีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว

ปีพ.ศ. 2560
วันที่ 26 มกราคม ศาลปกครองกลางรับฟ้องคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าเสียหาย 35,717 ล้านบาท ต่อมาศาลมีคำสั่งไม่ทุเลาบังคับคดี
วันที่ 29 มิถุนายน นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ออกเดินเผชิญสืบที่โรงสีข้าว จ.อ่างทอง แต่ศาลยกคำร้อง
วันที่ 7 กรกฎาคม นางสาวยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายวิธีพิจารณาคดีในศาลฎีกาฯ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ศาลยกคำร้อง
วันที่ 21 กรกฎาคม ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายในคดีจำนำข้าว
วันที่ 26 กรกฎาคม กรมบังคับคดีได้รับคำสั่งให้อายัดบัญชีของนางสาวยิ่งลักษณ์ 12 บัญชี แต่พลเอกประยุทธ์ยืนยันว่ายังไม่มีการยึดทรัพย์
27 กรกฎาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ระบุว่า มีเงินในบัญชีบางส่วนถูกถอนออกไปแล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่ามี 5 บัญชี ซึ่งมีเงินจำนวนเงินหลักแสนถูกถอนมารวมไว้ด้วยเหตุผลความจำเป็นบางอย่าง แต่ยังไม่มีส่วนใดที่ส่งเข้าคงคลัง โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังสามารถร้องขอต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลาตามกระบวนการของกฎหมายได้ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีการยึดมาเป็นของหลวง และทรัพย์สินเหล่านี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์เจ้าของเดิมทั้งหมดจนกว่าจะมีผลทางคดี
วันที่ 1 สิงหาคม นางสาวยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลฎีกาฯ  “ดิฉันขอใช้โอกาสนี้กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม”  ประโยคดังกล่าวคือการเปิดฉากของการกล่าวถ้อยแถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลฎีกาฯซึ่งมีความยาวกว่า 19 หน้า ใน 6 ประเด็นสำคัญ
วันที่ 25 สิงหาคม ศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษา


สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาในคดีนี้ ประกอบไปด้วยผู้พิพากษา 9 ท่าน ได้แก่
1. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ และเป็นองค์คณะคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวก ซึ่งเคยเป็นอดีตอธิบดีศาลผู้พิพากษาศาลอาญาที่ทำบันทึกแย้งคำพิพากษาขององค์คณะศาลอาญาที่สั่งยกฟ้อง นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับพวกรวม 5 คน ในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่ยอมเก็บภาษี คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (นามสกุลในขณะนั้น) ที่โอนหุ้น บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 738 ล้านบาท ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม เมื่อปี 40
2. นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษา เจ้าของสำนวน คดีทุจริตโครงการระบายข้าว จีทูจี และเป็นองค์คณะคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์
3. นายธนสิทธ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา
4. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา
5. นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาอดีตรองประธานศาลฎีกา เคยเป็นเสียงข้างมากในองค์คณะผู้พิพากษาที่สั่งให้ยึดทรัพย์ 7 หมื่น 6 พันล้านบาทของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ตกแผ่นของแผ่นดิน และเมื่อปี 2549 เคยได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ไปเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ พิพากษาคดียุบพรรคไทยรักไทยด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 แต่เป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยให้นำประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 มาย้อนหลังใช้บังคับเพื่อกำหนดโทษการตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
6. นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
7. นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา
8. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา
9. นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา
สำหรับขั้นตอนในการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาองค์คณะทั้ง 9 คน ต้องทำคำพิพากษาส่วนตนมาก่อนที่องค์คณะทั้ง 9 คน จะต้องร่วมกันลงมติ ว่าแต่ละท่านมีความเห็นในทางคดีอย่างไร ก่อนจะทำเป็นคำพิพากษากลางออกมา ก่อนอ่านคำตัดสินสิน