เนติบริกร  ยก  เชคสเปียร์  เหน็บกระทบ  แม้ว  ชี้คดีจบในศาลแล้วอย่าทวิตอีกเลย ระบุความยุติธรรมคือการทำให้คดีจบแต่ไม่ใช่ทำให้ทุกคนพอใจ

เนติบริกร ยก เชคสเปียร์ เหน็บกระทบ แม้ว ชี้คดีจบในศาลแล้วอย่าทวิตอีกเลย ระบุความยุติธรรมคือการทำให้คดีจบแต่ไม่ใช่ทำให้ทุกคนพอใจ

“เนติบริกร”ยก“เชคสเปียร์”เหน็บกระทบ“แม้ว” ชี้คดีจบในศาลแล้วอย่าทวิตอีกเลย ระบุความยุติธรรมคือการทำให้คดีจบแต่ไม่ใช่ทำให้ทุกคนพอใจ เผยรัฐห่วงคดีล้นศาล

วันนี้ (1 ก.ย.) เวลา 10.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางกระบวนการยุติธรรมไทยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ" ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ  ซึ่งมีผู้เข้าฟังประกอบด้วย ทูตต่างประเทศ คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม

 โดยนายวิษณุ กล่าวตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศจะไม่สำเร็จถ้าไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติปรับเปลี่ยนได้ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องอยู่บนความจริง สถานการณ์โลก ความเป็นไทย หลักนิติธรรม และกรอบเป้าหมายของสหประชาชาติ  ขณะที่กระบวนการยุติธรรมมี 4 มิติ คือ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง กระบวนการยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 

 

 

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาคนและด้านการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้คนในสังคมเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง รัฐธรรมนูญปัจจุบันบัญญัติว่ารัฐต้องจัดให้มีการบริหารงานยุติธรรมในทุกด้าน จึงต้องปรับปรุงงานด้านกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ ให้คนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อยางสะดวกและง่าย รวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายถูก อีกทั้งต้องกำหนดเวลาของการดำเนินคดีทุกขั้นตอนอย่างชัดเจนว่าจะใช้เวลากี่เดือน กี่ปี ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องไปคิดว่าจะทำรูปแบบออกมาเป็นอย่างไร 

นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลทราบว่านับวันมีคดีขึ้นศาลเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ธ.ค.2559 มีการร้องคดีต่อศาลทั่วประเทศ โดยในศาลชั้นต้นมี 175,000 คดี ศาลสามารถตัดสินได้ 140,000 คดี ที่เหลือไปพอกในปีถัดไป ศาลอุทธรณ์มี 50,000 คดี สามารถตัดสินได้เสร็จ 40,000 คดี คดีขึ้นศาลฎีกา 20,000 ตัดสินคดีเสร็จ 11,000 คดี ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับปรุง ปฏิรูปกระบวนการตรงนี้ โดยควรเปลี่ยนให้จบแค่ชั้นศาลอุทธรณ์แล้วให้เหลือแต่คดีที่จำเป็นจริงๆให้ถูกส่งไปถึงศาลฎีกา  อย่างไรก็ตาม กระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องยุติลงได้อย่างน่าเชื่อถือ และเกิดความพึงพอใจ แต่ไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจ ย่อมมีคนที่ไม่พอใจผลตัดสิน ซึ่งเราก็ปล่อยเขาไป 
 

 

 

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่อยากอ้างถึงมงเตสกีเออร์หรือเชคสเปียร์ แต่เชคสเปียร์เป็นผู้ประพันธ์เรื่อง"เวนิสวานิช" ที่เป็นเรื่องพ่อค้าทะเลาะกัน โดยพระเอกที่เป็นพ่อค้าไปกู้ยืมเงินจากพ่อค้าชาวยิวหน้าเลือด ที่ชื่อ"ไชล็อก" แต่พระเอกถูกฟ้องเพราะไม่มีเงินใช้หนี้ ไชล็อกจึงบอกกับศาลว่ามีเงื่อนไขว่าเฉือนเนื้อหนัก 3 ปอนด์เป็นการใช้หนี้ แต่ทนายความของพระเอกบอกว่าเฉือนก้อนเนื้อได้ แต่ห้ามมีเลือด

มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญา ซึ่งศาลเห็นชอบ ทำให้ไชล็อกร้องว่าไม่ยุติธรรมเลย พระเอกจึงพูดว่า "โธ่ยิว เมื่อพูดถึงความยุติธรรม จงกำหนดจดจำให้ด้วยว่าในกระแสยุติธรรม ยากจะหาความเกษมเปรมใจ" ซึ่งนี่แปลว่าเมื่ออ้างถึงความยุติธรรม แล้วยากที่ทุกคนจะหาความถูกใจได้ทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อคดียุติ จบในศาลแล้ว อย่าได้ทวิตเตอร์กันอีกเลย ขอให้จบกันเท่านี้
//////