แฟนคลับ "ลุงตู่" สะเทือน!! ผลสำรวจโพลสถาบันพระปกเกล้า "ทักษิณ" ได้รับความนิยมมากกว่า "พล.อ.ประยุทธ์" ส่วน "อภิสิทธิ์ ติดอันดับคะแนนนิยมต่ำ!!

แฟนคลับ "ลุงตู่" สะเทือน!! ผลสำรวจโพลสถาบันพระปกเกล้า "ทักษิณ" ได้รับความนิยมมากกว่า "พล.อ.ประยุทธ์" ส่วน "อภิสิทธิ์ ติดอันดับคะแนนนิยมต่ำ!!

วันนี้ (5 ก.ย.60 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สถาบันพระปกเกล้า นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชน ปี 2560 เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปีสถาบันพระปกเกล้า โดยผลการสำรวจเกี่ยวกับผู้นำรัฐบาล ส่วนราชการ ศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย และพัฒนาของสถาบันพระปกเกล้าฯ ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างความน่าจะเป็นของประชาชนไทยทั่วประเทศ อายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 33,420 คน เก็บข้อมูลระหว่าง 24 เม.ย. – 15 พ.ค. 2560 ซึ่งผลที่น่าสนใจ คือ ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบ ติดตามข่าวสารการเมืองกว่า 80 % ส่วนใหญ่ผ่านสื่อฟรีทีวี ขณะที่ติดตามจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ วารสารต่าง ๆ น้อยลง สถาบันไม่ได้มุ่งหวังที่จะเอาใจไม่เอาใจใคร แต่ต้องการสะท้อนว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรในแต่ละห้วงเวลา การวิเคราะห์ของแต่ละภาคส่วนไป
 
ด้าน น.ส.ถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและการพัฒนา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นต่อองค์กรมันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเมือง ที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาองค์กรนั้นๆ ทั้งนี้ ผลสำรวจแจกแจงความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2545 – 2560 ผลที่น่าสนใจ เช่น นายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) ได้รับความนิยมถึง 92.9 % ในปี2546 แต่ก็ลดลงมาเหลือ 77.2 % ในปี 2549 ก่อนจะมีการรัฐประหาร ขณะที่นายฯ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในลำดับถัดมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ 87.5 % ในปี 2558 ซึ่งเป็นนึ่งปีหลังรัฐประหาร โดยความนิยมลดลงมาเล็กน้อยในสองปีถัดมาที่ 84.6 % และ 84.8 %
 
สำหรับนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมต่ำสุดในช่วงดังกล่าว คือ นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ 37.6 % ในปี 2551 ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2553 คือ 61.6 % ตกลงมาเหลือ 51.2 %ในปี 2554 ขณะที่ นส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2555 คือ 69.9 % แต่ก็ตกลงมาเหลือ 63.4 % ในปี 2556 – 2557 ซึ่งน่าสังเกตว่าความนิยมตกต่ำของนายกรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือนทั้งสามคนจะตกลงในช่วงที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองสูงสุดของยุครัฐบาลนั้น ๆ

ส่วนความเชื่อมั่นที่ผู้ตอบแบบสำรวจที่มีต่อทหาร อยู่ที่เฉลี่ย 77.98 % ในช่วง 15 ปี โดยมีความเชื่อมั่นต่ำสุดในปี 2550 ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ละความเชื่อมั่นสูงสุดในปี 2558 สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ
 
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อตำรวจอยู่ที่เฉลี่ย 60.42 % โดยตกต่ำที่สุดในปี 2557 ช่วง คสช. ทำรัฐประหาร และสูงสุดในปี 2548 ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อบุคคลหรือคณะบุคคล พบว่า 5 อันดับแรกประกอบด้วย แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ (86.4 %) แพทย์ในโรงพยาบาลของเอกชน (85.6 %) ทหาร (85.1 %) พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี (84.8 %) และ คสช. (82.3 %) ในขณะที่ความนิยมต่ำสุด 5 อันดับ ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ (36.8 %) องค์กรพัฒนาเอกชน (38.3 %) พรรคเพื่อไทย (39.4 %) พรรคการเมืองโดยรวม (43.5 %) และ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูประเทศยุทธศาสตราติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) (47.6 %)
 
ทั้งนี้ ด้านความพึงพอใจที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันนั้น พบว่า 5 อันดับแรกได้แก่ การปกป้องเชิดชูพระมหากษัตริย์ (97.2 %) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ (92.4 %) โครงการหลักสุขภาพถ้วนหน้า (92 %) การแก้ปัญหาบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ ทะเล (89.7 %) และการควบคุมราคาสลากกินแบ่ง (89.4 %) ขณะที่จุดที่ประชาชนพึงพอใจน้อยที่สุด คือเรื่องปัญหาสินค้าอุปโภค บริโภคราคาแพง (43.9 %) รองลงมาคือราคาพืชผลเกษตร (54 %)
 

สำหรับหน่วยงานองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด คือ ศาลยุติธรรม (83.6 %) รองลงมาคือศาลรัฐธรรมนูญ (80.3 %) ศาลปกครอง (80.2 %) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (71.8 %) และ ปปช. (70.7 %) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ( 67.9 %) ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ที่ได้รับความพึงใจต่ำสุดก็ยังมีถึง (62.6 %)
 
นอกจากนี้ผลสำรวจอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ ความพึงพอใจต่อบริการสาธารณะที่รัฐและท้องถิ่นจัดให้ประชาชน โดยพบว่า 5 ลำดับที่พึงพอใจที่สุดคือระบบไฟฟ้า โรงเรียน ถนน ศูนย์เด็กเล็ก และการบริการสาธารณสุข อนามัย (ระดับความพอใจ 90.8 – 83.3 % ตามลำดับ) แต่ที่สะท้อนสิ่งที่ขาดแคลน คือระดับความพึงพอใจต่ำสุด ได้แก่ อินเทอร์เน็ตชุมชน (28.4 %) โดยทีมีผู้ตอบว่ายังไม่มีการให้บริการถึง 36.3 % รองลงมาคือการฝึกอาชีพ (55.5 %) และระบุว่ายังไม่มี 19.1 % และระบบขนส่งมวลชน หรือรถประจำทางในท้องถิ่น (57.5 %) และระบุว่ายังไม่มีให้บริการ 12.7 %