"จุฬาฯ"สุดทน ออกแถลงการณ์แจงปลด"เนติวิทย์และพวก"พ้นสภานิสิตฯ เหตุจงใจป่วนพิธีถวายสัตย์ฯ

"จุฬาฯ"สุดทน ออกแถลงการณ์แจงปลด"เนติวิทย์และพวก"พ้นสภานิสิตฯ เหตุจงใจป่วนพิธีถวายสัตย์ฯ ระบุกำลังสอบวินัยอาจารย์ฟิวส์ขาดกระชากคอเสื้อนิสิต ยันจุฬาฯรั

จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งหนังสือปลดนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมพวก พ้นจากตำแหน่งในสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเหตุการณ์ชุลมุนในระหว่างการประกอบพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ จนทำให้นายเนติวิทย์และพวก ถูกตัดคะแนนความประพฤติ คนละ 25 คะแนน แต่สภานิสิตจุฬาฯได้ส่งหนังสือคัดค้านการปลดนายเนติวิทย์และพวกนั้น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ โต้เถียงกันโดยหลายฝ่าย จนกลายเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนในเรื่องการลงโทษทางวินัยต่อกลุ่มของนายเนติวิทย์ ว่า  เนื่องจากมีข้อเขียนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในสื่อไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับคำตัดสินลงโทษทางวินัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อกลุ่มนิสิตที่มีพฤติกรรมอันก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตชั้นปีที่หนึ่งเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอขอบคุณสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจกับกิจการภายในของจุฬาฯ แต่ขออนุญาตอธิบายชี้แจงข้อมูลบางประการเพื่อให้พิจารณาเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ประการแรก ในกรณีการลงโทษทางวินัยอื่นๆที่ผ่านมา จุฬาฯ มิได้เปิดเผยรายละเอียดคำตัดสินลงโทษต่างๆ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลต่ออนาคตของนิสิตที่ถูกลงโทษ แต่ปรากฏว่าในกรณีนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและบิดเบือนในสื่อต่างๆ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องแถลงให้ทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยละเว้นการเปิดเผยรายชื่อของนิสิตที่เกี่ยวข้อง

ประการที่สอง จุฬาฯขอรับรองว่าการพิจารณาทางวินัยของกลุ่มนิสิตดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอน และกฎ ระเบียบตามปกติของมหาวิทยาลัย ซึ่งระเบียบทางวินัยเช่นนี้มีในทุกมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการพิจารณาที่เป็นอิสระ และดำเนินการในรูปแบบเดียวกันกับกรณีสอบสวนทางวินัยเรื่องอื่นๆ หากนิสิตไม่พอใจกับผลการตัดสินก็มีสิทธิอุทธรณ์ในลำดับต่อไปได้

ประการที่สาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับความเป็นอนุรักษ์นิยมของมหาวิทยาลัย พร้อมคำวิจารณ์ว่าจุฬาฯ ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับความคิดที่แตกต่าง ทางจุฬาฯ ขอย้ำว่ามหาวิทยาลัยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมรับความแตกต่างนั้น พิธีการทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยเป็นกิจกรรมที่นิสิตเข้าร่วมโดยสมัครใจและมีสิทธิที่จะไม่เข้าร่วม โดยไม่มีผลเสียใดๆต่อตัวนิสิต  แนวปฏิบัตินี้ใช้กับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2540 สำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งทุกคน เพื่อแสดงความเคารพและปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้วย

นอกจากนี้ “การถวายบังคม” ยังเป็นรูปแบบการแสดงความเคารพที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องสำหรับพิธีถวายสัตย์ฯต่อพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล โดยในปีนี้ ทางผู้จัดได้มีการกำหนดพื้นที่ในการแสดงความเคารพด้วยวิธีอื่น เช่น การถวายคำนับ สำหรับนิสิตที่มีข้อจำกัดด้านสภาพร่างกายที่เป็นอุปสรรคต่อการคุกเข่าและถวายบังคม และสำหรับนิสิตที่มีความเชื่อทางศาสนา ทัศนคติทางการเมือง และอุดมการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับวิถีปฏิบัตินี้  ทั้งนี้ นิสิตที่เข้าร่วมพิธีในวันนั้นได้รับทราบถึงพื้นที่ที่ว่านี้อย่างทั่วถึง

กลุ่มนิสิตที่ถูกตัดสินลงโทษทางวินัยต่างก็ตระหนักดีว่า มีพื้นที่เฉพาะที่จัดไว้แล้ว ดังเห็นได้จากการที่นิสิตกลุ่มนี้ได้นำเสนอข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียในเชิงสนับสนุนให้มีพื้นที่เพื่อการถวายคำนับแทน อย่างไรก็ดี นิสิตกลุ่มนี้เลือกที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในพิธีการโดยการเดินออกไปจากแถวที่จัดไว้สำหรับพวกเขาในฐานะสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ และแสดง “พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์”  โดยการยืนโค้งคำนับ ในขณะที่นิสิตคนอื่น ๆ นับพันคนถวายบังคมอย่างพร้อมเพรียงเป็นระเบียบ 

กลุ่มนิสิตที่ถูกตัดสินลงโทษทางวินัย มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น โดยเฉพาะเมื่อการแสดงออกนั้นกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล  พิธีถวายสัตย์ฯ  แม้จะกำเนิดขึ้นมากว่า 20 ปี หลังการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ในปีพ.ศ.2530 แต่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นพิธีการศักดิ์สิทธิ์ของจุฬาฯ ซึ่งเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างนิสิต เจ้าหน้าที่และนิสิตเก่า

ในขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการกระบวนการสอบสวนทางวินัยสำหรับอาจารย์ที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และได้การแสดงออกอย่างไม่สมควรยิ่งกับนิสิตคนหนึ่งในเหตุการณ์วันที่ 3 สิงหาคมดังปรากฏเป็นข่าวไปกว้างขวาง  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าอับอายยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัย แต่เป็นการกระทำของบุคคลเพียงคนเดียวและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับนโยบายของมหาวิทยาลัย  อาจารย์ท่านนี้ลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

สุดท้ายนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าสื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่จุฬาฯ ใคร่ขอให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง ไม่ลำเอียง และเป็นธรรมต่อสถานการณ์ของจุฬาฯ การจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้ เป็นกิจการภายในที่ไม่ควรถูกเชื่อมโยงกับการแบ่งขั้วทางการเมือง และการควบคุมปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งมักนิยมใช้เป็นวาทกรรมและกรอบการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือในแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฎิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย จุฬาฯ ไม่คาดหวังให้สื่อตะวันตกเห็นชอบกับการตัดสินใจและวิธีการในเรื่องนี้ แต่เราขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6  กันยายน 2560