วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 12/2560 เรื่อง....

‘มหาเถรสมาคม - วิษณุ – ออมสิน’ กลัวอะไรการตรวจสอบเงินทอน แจ้งบัญชีทรัพย์สินวัด หรือว่ามันมีกลิ่นอะไรไม่พึงประสงค์ ต้องรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560 ราชกิจจานุเบกษาประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 12/2560 เรื่องการกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีเนื้อหาว่า

โดยที่มีความจําเป็นต้องปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจําเป็นต้องแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่การปฏิรูปและไม่อาจดําเนินการโดยวิธีการปกติได้ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้นายพนม ศรศิลป์ พ้นจากตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจราชการหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ 2 ให้พันตํารวจโท พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสํานักคดีภาษีอากรกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ้นจากตําแหน่ง และให้ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ข้อ 3 ให้ข้าราชการผู้มีรายชื่อตามข้อ 1 และข้อ 2 พ้นจากตําแหน่งเดิมและไปปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

การเปลี่ยนแปลงตําแหน่งภายหลังวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีพิจารณา

ข้อ 4 ให้สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สํานักงบประมาณ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดําเนินการเกี่ยวกับตําแหน่งและอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าว และให้นายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง หรือพ้นจากตําแหน่งตามคําสั่งนี้ ตามมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ข้อ 5 คําสั่งนี้ใหใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 

‘มหาเถรสมาคม - วิษณุ – ออมสิน’ กลัวอะไรการตรวจสอบเงินทอน แจ้งบัญชีทรัพย์สินวัด หรือว่ามันมีกลิ่นอะไรไม่พึงประสงค์ ต้องรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม

 

หลังจากที่ทางด้าน พันตํารวจโท พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ได้เข้ารับตำแหน่ง ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็เรียกได้ว่าเดินหน้าตรวจสอบขบวนการทุจริตงบประมาณอุดหนุนวัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าสะเทือนไปทั้งบางกันเลยทีเดียว อย่างเช่น การร่วมกับทางด้าน ตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. นำกำลังเข้าตรวจค้น 10 จุดในหลายจังหวัด เพื่อตรวจค้นบ้านพักข้าราชการระดับสูง สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และเครือข่าย เพื่อค้นหาเอกสารที่เชื่อมโยงกับการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หลังตรวจพบว่ามีวัดที่ร่วมทุจริต 12 แห่ง สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 60.5 ล้านบาท

 

พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ทางช่องสปริงนิวส์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ว่าการค้นหาเอกสารที่เชื่อมโยงกับการทุจริตเงินอุดหนุนวัด ว่ามีวิธีการโอนเงินจากส่วนกลางไปวัด จากนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องก็ไปขอคืนโดยการโอน จะตกลงกับวัดก่อนว่าต้องการเท่าไหร่ ก็จะทำเรื่องจากส่วนกลางโอนไปให้ แต่เป็นเงินที่มากกว่า และจะมีคนตามไปรับคืน หรือเรียกว่าเงินทอน ซึ่งส่วนนี้เป็นงบอุดหนุนที่จ่ายให้กับวัดใน 3 กรณี คือ

1.เพื่อไปปฏิบัติบูรณะซ่อมแซม

2.เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม และ

3.เพื่อการเผยแผ่ ดำเนินกิจกรรมทางศาสนา

 

 

"จากที่ดูงบประมาณที่ผ่านๆ มา และที่กำลังจะขอใหม่ใน 1 ปี งบอุดหนุนทั่่วประเทศจะอยู่ที่หลักร้อยล้าน ถึง 1 พันล้าน ซึ่งอำนาจการจัดสรรงบเป็นของหัวหน้าส่วนราชการผู้ถืองบฯ แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไม่ใช่กรม และไม่ใช่กระทรวง ดังนั้น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จึงทำหน้าที่หัวหน้าส่วนราชการ โดยหลักการจะจัดสรรตามความจำเป็น พิจารณาจากวัดแจ้งความประสงค์มา ผ่านไปยังจังหวัดและรวบรวมมาที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ซึ่งที่ได้ยินมาการทอนเงินจะอยู่ในอัตรา 3 ใน 4 คือ ทอน 75 % ของเงินที่ได้จ่ายออกไป อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 - 2559 ส่วนใครจะเกี่ยวข้องก็ให้พิจารณาว่าใครอยู่ในระหว่างนั้น แต่เรื่องเงินทอนคนใน สำนักพระพุทธเขารู้กันว่ามีการทำแบบนี้ ผมเพิ่งมาผมยังรู้เพราะเขาเล่าให้ฟัง"

 

นอกจากนั้นแล้วทางด้าน สำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน ได้ขยายผลตรวจสอบการทุจริตการเรียกรับเงินคืนจากงบประมาณอุดหนุนวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง หลังพบเบาะแสครั้งแรกที่ จ.สงขลาเมื่อตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2558 ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 ระบุว่าผลการตรวจสอบย้อนหลังปีงบประมาณ 2557-2558 พบมีการทุจริตหลายโครงการทั้งโครงการบุรณะปฏิสังขรณ์, โครงการครอบครัวอบอุ่นด้านการปฏิบัติธรรม และงบประมาณส่งเสริมความมั่นคงสถาบันพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยพบเจ้าหน้าที่จากสำนักพระพุทธศาสนาฯ และผู้ร่วมกระทำผิดมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเรียกคืนจากวัดเป็นเงินทอนเริ่มต้นร่วม 100 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 218 ล้านบาท และเกิดขึ้นกับวัดมากกว่า 80 แห่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

‘มหาเถรสมาคม - วิษณุ – ออมสิน’ กลัวอะไรการตรวจสอบเงินทอน แจ้งบัญชีทรัพย์สินวัด หรือว่ามันมีกลิ่นอะไรไม่พึงประสงค์ ต้องรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม
 

จากการเดินหน้าตรวจสอบเรื่องทุจริตเงินทอนวัด จนไปสู่การนำเสนอให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัดต่าง ๆ จากทางคณะกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่อง การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐานตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้

โดยมีข้อเสนอให้วัดจัดทำบัญชีทรัพย์สินตามเกณฑ์มาตรฐาน ครอบคลุมทรัพย์สินของวัดทั้งหมด ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศาสนวัตถุ โดยให้มหาเถระสมาคม(มส.) หรือสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)กำหนดหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดทรัพย์สินของวัดทั่วประเทศ 37,000 แห่ง ทั่วประเทศ และรูปแบบวิธีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนติดตามตรวจสอบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด และรายงานผลการตรวจสอบ

ให้สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) นำเสนอมหาเถระสมาคม (มส.) ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอาทิ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 และกฎกระทรวงปี 2511 กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งต่างๆให้ทันสมัย บังคับใช้ได้จริง อาทิ การกำหนดให้สำนักงานพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินวัด และรายงานผลการตรวจสอบให้มหาเถรสมาคม นายกรัฐมนตรี และสาธารณชนรับทราบ หากการตรวจสอบพบว่า มีความไม่โปร่งใสให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ จากเดิมที่เพียงให้วัดแค่ส่งบัญชีทรัพย์สินมาให้สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติเก็บไว้เท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบ และไม่เคยมีบทลงโทษในเรื่องดังกล่าว


นอกจากนั้นแล้วยังมีการเปิดเผยข้อมูลพบว่า มี 92 วัด มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาท

จากการเคลื่อนไหวข้างต้น ทำให้ทางด้านองค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2560 เรื่องการทุจริตเงินอุดหนุนพัฒนาวัดและเงินอุดหนุนการศึกษาสงฆ์ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ความตอนหนึ่งว่า ตามที่พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ.ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทุจริตเงินอุดหนุนพัฒนาวัดทั่วราชอาณาจักรทั้งฝ่ายธรรมยุต และมหานิกาย เสมือนเจ้าอาวาสวัดต่างๆ เป็นผู้ทุจริตโกงกินงบประมาณแผ่นดินดังกล่าวเสียเอง ทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาบันพระพุทธศาสนาโดยภาพรวม ทั้งที่ผลสอบข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏ การให้ข่าวแบบคลุมเคลือ เหวี่ยงแหของ ผอ.พศ. แสดงถึงความบกพร่องอย่างรุนแรงด้านภาวะผู้นำ หลักธรรมาภิบาล และวุฒิภาวะในฐานะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทางพระพุทธศาสนา เห็นได้จาก การโยกย้ายข้าราชการของ ผอ.พศ. ที่มุ่งโยกย้ายข้าราชการผู้ปฏิบัติการมากกว่าที่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีหลักฐานพัวพันกับการทุจริตคอรัปชั่น พฤติการณ์ดังกล่าว กรรมการมหาเถรสมาคมระดับสมเด็จผู้ปกครองวัดที่ถูกพาดพิง และสมเด็จผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแลการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาตั้งข้อสังเกตให้คำแนะนำแก้ปัญหาให้ถูกจุดให้รีบแก้ไขปัญหาภายใน พศ.โดยเร็วมากกว่า มุ่งให้ข่าวสร้างความเสียหายต่อสถาบันพระพุทธศาสนาโดยภาพรวม แม้ล่าสุดประมุขสงฆ์จะมีพระเมตตาห่วงใยสถานการณ์ดังกล่าวที่กำลังลุกลามบานปลายผ่านเลขานุการ แต่กลับเดินหน้าสร้างเครดิตให้ข่าวเชิงลบกับพระสงฆ์ คณะสงฆ์ และมหาเถรสมาคมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น องค์กรพระสังฆาธิการแห่งคณะสงฆ์ไทยจึงแถลงการณ์มาเพื่อให้ทุกวัด และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาทุกแห่งภายในประเทศและต่างประเทศขึ้นป้ายไม่ขอรับเงินอุดหนุนใดๆจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ พศ.หรือผู้นำ พศ.แสดงความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นใน พศ.เชิงประจักษ์เสียก่อน โดยไม่กระทำเพียงหวังสร้างเครดิตให้แก่ตนเองเท่านั้น


และเพราะสาเหตุนี้หรือไม่ที่ ทำให้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงกับต้องรับลูกอย่างเร่งด่วน เพียงเพื่อสนองทางด้านมหาเถระสมาคม หรือว่า ทั้งหมดเกรงว่า หากปล่อยให้
พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ เดินหน้าจัดการกับเรื่องการทุจริตเงินทอนวัด รวมถึงการเดินหน้าตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัดแล้ว จะเจออะไรเข้า จึงต้องรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้ลุกลามบานปลาย ไหม้ไปถึงตัวการ และ ผู้ร่วมขบวนการอื่น ๆ ด้วยใช่หรือไม่????