ย้อนอดีต 11 ปี “รัฐประหาร 19 กันยาฯ” กระดุมเม็ดแรกรื้อล้างระบอบทักษิณจากสนธิถึงประยุทธ์วันนี้การไล่ล่า “อดีตนายกฯพี่น้อง”  ยังไม่สิ้นสุด

ย้อนอดีต 11 ปี “รัฐประหาร 19 กันยาฯ” กระดุมเม็ดแรกรื้อล้างระบอบทักษิณจากสนธิถึงประยุทธ์วันนี้การไล่ล่า “อดีตนายกฯพี่น้อง” ยังไม่สิ้นสุด

19 กันยายน พ.ศ.2560 ถือเป็นวันครบรอบ 11 ปี  ที่ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ “คปค.” นำคณะนายทหารประกอบด้วย  “บิ๊กต๋อย” พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.ทสส. เป็น ประธานที่ปรึกษา “ครูอุ๊”  พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. เป็นรองหัวหน้า คนที่ 1 “บิ๊กต๋อยเล็ก” พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. เป็นรองหัวหน้าคนที่ 2 “บิ๊กโก” พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้าคนที่ 3 พร้อมด้วย “บิ๊กตุ่น” พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. เป็นเลขาธิการฯ เข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ (ยศในขณะนั้น)

โดยอ้างเหตุการบริหารประเทศของนายทักษิณและรัฐบาลได้ก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคี ของ คนในชาติ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และ อุปสรรค หลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพ เทิดทูน ของปวงชนชาวไทย

 

 

ถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 12  ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังจากรัฐประหารครั้งสุดท้ายในตอนนั้นเกิดขึ้นในยุค “บิ๊กจ็อด” พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ “รสช.” และคณะทำการรัฐประหารยึดอำนาจจาก “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกฯ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534   สำหรับการรัฐประหาร 19 กันยาฯนั้น  เกิดขึ้นระหว่างนายทักษิณเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในเวทีสหประชาชาติ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา  

โดยคปค.ใช้วัน ว. เวลา น.ในการรัฐประหารราวสองทุ่มเศษ ขณะที่นายทักษิณพยายามใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลตอนนั้นฮึดสู้ด้วยการให้ช่อง 9 และช่อง 11 ที่เป็นสถานีโทรทัศน์ในมือของรัฐบาลยุคนั้นออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  พร้อมมีคำสั่งปลดพล.อ.สนธิและตั้งพล.อ.เรืองโรจน์ที่เป็นนายทหารฝ่ายตัวเองขึ้นเป็นผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์  และยืนยันสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างจากกลุ่มผู้ก่อการกบฏไว้ได้หมดแล้ว    ยังไม่ทันที่พ.ต.ท.ทักษิณจะอ่านแถลงการณ์จบ   ทหารสามารถเข้าไปยึดสถานีโทรทัศน์ตัดสัญาณและควบคุมการออกอากาศได้สำเร็จ  โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยมีการออกแถลงการณ์ของคปค.  

 

โดยมีพล.อ.สนธิประธานคปค.นั่งโต๊ะแถลงพร้อมแผงอำนาจในการปฏิวัติ  หลังจากนั้นราวเที่ยงคืนเศษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ รัฐบุรุษ  นำพล.อ.สนธิและคณะคปค.เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช ฯ ร.9 และ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถฯ  เพื่อถวายรายงานสถานการณ์การยึดอำนาจของคมช.  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต   ด้านนายทักษิณหลังทราบข่าวพล.อ.สนธิปฏิวัติสำเร็จก็ถูกยกเลิกห้ามขึ้นพูดในเวทีสหประชาชาติ ก่อนที่จะเดินทางพร้อมคณะบินไปยังประเทศอังกฤษเพื่อติดตามสถานการณ์รัฐประหาร ถือเป็นการปิดฉากอำนาจของนายทักษิณและเครือขายพรรคไทยรักไทยอย่างสมบูรณ์

    จากนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้นพล.อ.สนธิได้เรียกแกนนำคนสำคัญของพรรคไทยรักไทยเข้ารายงานตัว ณ กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนิน  เพื่อไม่ให้ขยับเคลื่อนไหวต่อต้านคปค. อาทิ นายเนวิน ชิดชอบ  นายยงยุทธ ติยะไพรัช นายภูมิธรรม เวชชยชัย นายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุรีย์เดช  ฯลฯ รวมถึงแกนนำเตรียมทหารรุ่น 10 ที่เป็นเพื่อนนายทักษิณ อาทิ  พล.ต.พฤณ สุวรรณทัต พล.ต.ไตรรงค์ อินทรทัต  พล.ต.เรืองศักดิ์ ทองดี พล.ต.มนัส เปาริก  พล.อ.ท.สุเมธ โพธิ์มณี ฯลฯ โดยในวันเดียวกันนั้นพล.อ.สนธิและคณะคปค.ยังเรียกข้าราชการทุกหมู่เหล่า ตั้งแต่ระดับหัวหน้าส่วนราชการไปยังอธิบดี ประกอบด้วย  นายทหารระดับสูง นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมสำคัญๆ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น เกือบพันชีวิตเข้ารับทราบสถานการณ์และชี้แจงการเข้ายึดอำนาจ เสร็จจากนั้นก็มีการชี้แจงเหตุผลปารรัฐประหารและการเดินหน้าประเทศต่อไปกับสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศร่าว 600 คน ณ หอประชุมกิตติขจร

ภายในกองบัญชาการกองทัพบก  จากนั้นพล.อ.สนธิก็เปิดเผยว่าจะหาตัวนายกฯที่มีความเหมาะสมเข้ามาบรริหารประเทศ โดยมีรายชื่อ นายอักขราทร จุฬารัตน นายศุภชัย พานิชภักดิ์ นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ และพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  เป็นแคนดิเดตรายชื่อนายกฯ   จากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าชื่อพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกฯคนที่ 24  ก่อนจะมีการเสนอชื่อครม.ที่ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีที่มาจากสายข้าราชการประจำและมีอายุสูงวัยพ้นเกษียณมาเป็นคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่าเป็น “รัฐบาลขิงแก่”  หลังจากเข้ายึดอำนาจจัดการบ้านเมืองแล้วเสร็จเป็นเวลา 4 เดือนพล.อ.สนธิและคปค.ก็ถอยบทบาทออกมาทำหน้าที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ “คมช.”  

 

อย่างไรก็ตามระหว่างบริหารประเทศของพล.อ.สุรยุทธ์ภายใต้การดูแลความมั่นคงของพล.อ.สนธิและคมช.  การบริหารบ้านเมืองไม่ได้เป็นไปด้วยความราบรื่นแต่อย่างใด มีการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงอยู่บ่อยครั้ง

 

ขณะที่การบริหารประเทศก็เกิดปัญหาสะดุดอยู่เป็นประจำ  รวมถึงเกิดเหตุลอบวางระเบิดหลายจุดในกทม.ช่วงปีใหม่รอบต่อ 31 ธันวาคม 2549 ถึง 1 มกราคม 2550  ขณะที่การทำงานระหว่างรัฐบาลกับคสช.ที่พล.อ.สนธิเปรียบเหมือนคอหอยกับลูกกระเดือกก็เกิดการกระทบกระทั่งในลงรอยกันเป็นประจำ  แม้ภายหลังพล.อ.สนธิจะเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและให้พล.อ.อ.ชลิตขึ้นเป็นประธานคมช.แทนจนสิ้นอายุรัฐบาลแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้น

 

 

อย่างไรก็ตาม รับประหาร 19 กันยาฯ  ก็ยังถูกยกให้เป็นการรัฐประหารยึดอำนาจจากนายทักษิณถือที่เป็น “กระดุมเม็ดแรก”  ในการเริ่มต้นรื้อล้างอำนาจนายทักษิณและคนในตระกูลชินวัตร  ถือเป็นการรัฐประหารที่ไม่มีเรื่องของการเลือดตกยางออกเลยแม้แต่หยดเดียวจนถูกเรียกว่า “รัฐประหารดอกไม้”  เพราะมีประชาชนจำนวนมากแห่เอาดอกไม้ไปมอบให้ทหารที่เข้ามายุติความวุ่นวายและการนองเลือดในบ้านเมือง  แต่กระนั้นในระหว่างบริหารประเทศปีเศษของพล.อ.สุรยุทธ์ที่ถูกพล.อ.สนธิเป็ฯคนเลือกมา   ก็ถูกมองว่าแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไปไม่ถึงไหนพายเรือไม่ถึงฝั่ง  ที่สำคัญยังไม่อาจขุดรากถอนโคนนายทักษิณกับบริวารได้ที่สุดก็กลายเป็นปฏิวัติเสียของ  หนำซ้ำในภายหลังพล.อ.สนธิยังกระโดดมาเล่นการเมืองในนามพรรคมาตุภูมิทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ประกาศว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวไม่เล่นการเมือง   หนักกว่านั้นคือเจ้าตัวยังเป็นคนเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติเข้าสู่สภาที่ถูกมองว่าเป็นการช่วยนายทักษิณ   ที่สุดก็ทำให้พล.อ.สนธิเสียรังวัดเสียเครดิตในทางการเมืองเป็นอย่างมาก 

 

อย่างไรก็ตามจากวันที่พล.อ.สนธิรัฐประหารจวบจนวันนี้ที่พล.อ.ประยุทธ์เข้าควบคุมอำนาจบริหารประเทศด้วยการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา  รัฐบาลทหารยังคงไล่ล่านายทักษิณไม่แล้วเสร็จยังไม่สามารถเอาตัวอดีตนายกฯพี่ชายมาลงโทษได้   หนำซ้ำยังเกิดกรณีนายกฯน้องสาวอย่างน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนีคดีรับจำนำข้าวตามไปสมทบอีกคน  ต้องจับตาดูกันยาวๆว่าอนาคตประเทศไทยจะหนีวงจรอุบาทว์นี้พ้นหรือไม่  และการรัฐประหารครั้งที่ 14 จะเกิดหรือไม่  ในประเทศที่การเมืองยังวุ่นวาย และทหารยังคงมีอำนาจและเป็นใหญ่เสมอในแผ่นดินนี้   
/////////////////