ออกหน้าออกตา !!! "วัฒนา" โร่ป้อง "โอ๊ค" ทุจริตฟอกเงินกรุงไทย....พ้อหนักคงผิดที่"นามสกุล"!

วันที่ 21 กันยายน 2560 นายวัฒนา เมืองสุข ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค Watana Muangsook แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีทุจริตเงินกู้กรุงไทย มีข้อความระบุว่า


ออกหน้าออกตา !!! "วัฒนา" โร่ป้อง "โอ๊ค" ทุจริตฟอกเงินกรุงไทย....พ้อหนักคงผิดที่"นามสกุล"!

“นามสกุลผิด ชีวิตเปลี่ยน”

“เรื่องเงินกู้กรุงไทยกลายเป็นมหากาพย์ ล่าสุดคุณวีระ สมความคิด ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีฐานฟอกเงินกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 200 ราย คุณวีระฯ ยังเปิดเผยอีกว่าระหว่างปี 2535-2555 บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการ ส่วนธนาคารกรุงเทพฯ ใครเป็นประธานผมไม่ทราบ

การกล่าวหาใครในทางอาญาต้องมีหลักฐานว่าบุคคลนั้นกระทำความผิด สำหรับความผิดฐานฟอกเงิน ผู้ที่โอนหรือรับโอนจะต้องทราบว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด และต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยซุกซ่อน หรือปกปิดฯ เมื่อพิจารณาฐานะของผู้ชำระเงินคือนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ที่เป็นนักธุรกิจเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมาย ก่อหนี้ได้นับหมื่นล้านบาท ขนาดนายมีชัยฯ ยังเชื่อถือมาเป็นประธานกรรมการบริษัทให้ อีกทั้งในปี 2547 ยังไม่มีการกล่าวหานายวิชัย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับเงินจากนายวิชัยย่อมเชื่อว่าเป็นเงินสุจริตและคงไม่มีใครไปสอบถามที่มาของเงิน รวมถึงที่บริจาคให้กับมูลนิธิ และจ่ายให้กับนายทหารยศนายพล ซึ่งผมก็เชื่อว่ามูลนิธิและนายทหารคงไม่ได้สอบถามที่มาของเงินเช่นกัน ส่วนการรับเงินที่เกิน 3,000 บาทจะผิดกฎหมาย ป.ป.ช. หรือไม่ผมไม่ก้าวล่วง

ผมจึงเชื่อว่าไม่มีใครตาทิพย์ไปรู้เห็นที่มาของเงินก่อนศาลตัดสิน โอ๊คก็เช่นกัน ไม่มีทางทราบว่าเช็คที่ได้มานั้นมาจากการกระทำความผิด ที่แปลกคือเป็นคนเดียวที่คืนเงินแต่ถูกดำเนินคดี ส่วนพวกที่ไม่คืนเงินไม่มีใครถูกดำเนินคดี คงผิดที่นามสกุล

มีผู้หวังดีส่งหนังสือร้องทุกข์ของ ปปง. ที่ขอให้ดีเอสไอให้ดำเนินคดีโอ๊คกับพวกรวม 4 คน มาให้ ผมอ่านแล้วตกใจเพราะความในหนังสือที่ระบุว่า "ขอให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณารวบรวมพยานหลักฐาน ที่บ่งชี้ถึงเจตนา ที่ผู้กระทำรู้ว่าทรัพย์สินที่ได้รับโอน หรือที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และกระทำโดยเจตนาพิเศษเพื่อซุกซ่อน ปกปิด อำพราง แหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น" ไม่อาจแปลเป็นอย่างอื่นได้นอกจากว่า ปปง. มาร้องทุกข์โดยยังไม่ทราบว่าผู้ที่ตัวเองกล่าวหานั้นได้ทำความผิดหรือไม่ จึงขอให้ดีเอสไอไปรวบรวมหลักฐานหาเอาเอง

ทำแบบนี้ระวังติดคุกทั้งคนกล่าวหาและคนรับร้องทุกข์”

ออกหน้าออกตา !!! "วัฒนา" โร่ป้อง "โอ๊ค" ทุจริตฟอกเงินกรุงไทย....พ้อหนักคงผิดที่"นามสกุล"!

ในส่วนของคดีฟอกเงินกรุงไทยที่มีชื่อนายพานทองแท้เข้าไปเชื่อมโยงอยู่ด้วยนั้น  ปรากฏว่านายพานทองแท้ก็ได้ออกมายอมรับ ด้วยตนเอง ว่า มีธุรกรรมทางการเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่อาจเกี่ยวข้องกับตัวเองในคดีดังกล่าวหรือไม่? แต่ช่วงหนึ่งก็ได้อ้างถึง อดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ทำนองว่า นายพานทองแท้  “ไม่ได้มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย”

ที่ระบุเอาไว้ว่า...ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ขณะนี้ได้มีเอกสารหลุดอีกฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องของตัวผม โดยตรง ซึ่งเป็นของอดีตรองอธิบดีดีเอสไอ ที่ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ว่าได้รับคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาเพื่อ ดำเนินคดีกับพานทองแท้ ทั้งๆ ที่ตนเองได้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ผู้สั่งการทราบแล้วว่า ธุรกรรมของนายพานทองแท้นั้น ไม่ได้มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถ แจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีได้ เป็นเหตุให้ตนเองต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง รองอธิบดีฯ ไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งได้บรรยายเหตุการณ์ ในการสั่งการอย่างไม่ชอบธรรม โดยมีพยานยืนยันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอ เองอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

ออกหน้าออกตา !!! "วัฒนา" โร่ป้อง "โอ๊ค" ทุจริตฟอกเงินกรุงไทย....พ้อหนักคงผิดที่"นามสกุล"!

 

แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า ที่ประชุมคณะทำงานคดีนี้ มี พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เป็นประธานฯ ได้ประชุมกรณีดังกล่าวแล้ว คาดว่ากระบวนการนี้ จะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า ทรัพย์สินของ นายพานทองแท้ ที่ได้มาจากธุรกรรมทางการเงินของเครือกฤษดามหานครดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน วงเงิน 10 ล้านบาท ส่วนนายวันชัย หงษ์เหิน นางกาญจนาภา หงษ์เหิน และนางเกศินี จิปิภิพ ที่ถูกกล่าวหาพัวพันเงินอีกก้อนหนึ่ง วงเงิน 26 ล้านบาท นั้น คณะทำงานฯเสียงข้างมากให้ตัดชื่อของนางเกศินี ที่เป็นมารดาของนางกาญจนาภาออก เนื่องจากสูงวัยเกินกว่าจะเล่นหุ้นดังกล่าวแล้ว เพื่อให้เกิดเข้าใจเส้นทางการเงินคดีนี้มากขึ้น จากตรวจสอบคำพิพากษากลาง ฉบับเต็ม และคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะผู้พิพากษาคดีดังกล่าว สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้

คดีฟอกเงินดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกอดีตกรรมการผู้บริหารธนาคารกรุงไทย อดีตเจ้าหน้าที่สินเชื่อ และกลุ่มกฤษดามหานครจำนวนหลายราย โดยมีการกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 ว่า เป็นคนสั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงในธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าว โดยอ้างว่า นายทักษิณคือ ‘บิ๊กบอส’ หรือ ‘ซูเปอร์บอส’ (ปัจจุบันข้อเท็จจริงนี้ยังไม่ได้ไต่สวนให้กระจ่างชัด เนื่องจากนายทักษิณ หลบหนีคดี จึงให้จำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราว)

ในคำพิพากษากลางตอนหนึ่ง ยืนยันว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบ เส้นทางการเงิน นายวิชัย กฤษดาธานนท์ (จำเลยที่ 25) ผู้บริหารเครือกฤษดา มหานคร (ขณะนั้น) มีการโอนเงินให้แก่บุตร และบุคคลใกล้ชิดนายทักษิณ (จำเลยที่ 1) จริง 

แต่ไม่ฟันธงว่า ‘บิ๊กบอส’ หรือ ‘ซูเปอร์บอส’ คือนายทักษิณ ชินวัตร หรือคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (อดีตภรรยานายทักษิณ) หรือว่ากลุ่มการเมืองที่เป็นเครือญาติของนายทักษิณหรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงไม่กระจ่างชัด ?

อย่างไรก็ดีในคำวินิจฉัยส่วนตนของนายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา (ขณะนั้น ปัจจุบันลาออกจากการเป็นประธานศาลอุทธรณ์แล้ว) ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ สรุปได้ว่า

ผลการสอบสวนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะนั้น พบว่า มีแคชเชียร์เช็ค 11 ฉบับ รวม 7,985,762,000 บาท (ประมาณ 7.9 พันล้านบาท) ที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว

โดยมีแคชเชียร์เช็ค 6 ฉบับ รวม 2,540,096,000 บาท (ประมาณ 2.5 พันล้านบาท) นำเข้าฝากบัญชีบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (จำเลยที่ 19) ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาศรีย่าน

นอกจากนี้ยังปรากฏพฤติกรรมในการทำธุรกรรมเบิกถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าว ระหว่างบุคคลหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (จำเลยที่ 20 ปัจจุบันคือบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน)) หลายขั้นตอน และยังนำไปให้บริษัท โบนัสบอร์น จำกัด (บริษัทในเครือกฤษดามหานคร) ซ้อหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของเครือกฤษดามหานครทั้งหมดเป็นเงิน 369,685,200 บาท ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 197,622,555 บาท โอนให้บุคคลต่าง ๆ ในกลุ่มกฤษดามหานคร

ส่วนที่เหลืออีก 5 ฉบับ ถูกนำไปชำระหนี้รีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงเทพฯ จำนวน 3 ฉบับ เป็นเงิน 4,445,130,000 บาท (ประมาณ 4.4 พันล้านบาท) และนำไปซื้อหุ้นบุริมสิทธิชนิดแปลงสภาพของเครือกฤษดามหานคร คืนจากธนาคารกรุงเทพฯ ในนามของบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด (จำเลยที่ 21) จำนวน 2 ฉบับ เป็นเงิน 1,000,536,000 บาท (ประมาณ 1 พันล้านบาท)

นอกจากนี้ยังพบว่า เงินกู้จำนวน 500 ล้านบาท ที่บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นแนล จำกัด (จำเลยที่ 18 ในเครือกฤษดามหานคร) ได้รับจากธนาคารธนาคารกรุงไทย นั้น มีจำนวน 20 ล้านบาท ได้ถูกนำไปชำระค่าธรรมเนียมเงินกู้ที่บริษัท โกลเด้นฯ กู้ไปจากธนาคารกรุงไทย จำนวน 45 ล้านบาท ถูกนำไปชำระค่ามัดจำรีไฟแนนซ์ ที่บริษัท โกลเด้นฯ มีต่อธนาคารกรุงเทพฯ ด้วย

นี่คือจำนวนเช็ค 11 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินของคดีนี้ ที่นายศิริชัย อ้างอิงจากผลการตรวจสอบของ ธปท. ซึ่งไม่พบว่า มีมูลนิธิรัฐบุรุษฯ หรือว่าองค์กรอื่น ๆ ตามที่นายพานทองแท้อ้างแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดีเส้นทางเงินหลังจากนี้ตามการสอบสวนของดีเอสไอ พบว่า มีเงินไหลไป ยังกลุ่มบุคคลอื่นอีกมาก แต่ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไปที่บุคคลใดอีกบ้าง

ส่วนเส้นทางการโอนเงินถึงนายพานทองแท้ กับพวก ซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดีนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์ (เนื่องจากมีการอ้างว่า ‘บิ๊กบอส’ หรือ ‘ซูเปอร์บอส’ เป็นคนสั่งการให้ผู้บริหารระดับสูงธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้กฤษดามหานคร และมีการโอนเงินตอบแทนดังกล่าว) นั้น

ผู้พิพากษารายอื่น แทบไม่แตะประเด็นนี้ เพราะไม่ฟันธงว่า ‘บิ๊กบอส’ หรือ ‘ซูเปอร์บอส’ คือนายทักษิณ หรือเครือญาติของนายทักษิณ มีเพียงนายศิริชัย รายเดียวเท่านั้นที่วินิจฉัยว่า ‘บิ๊กบอส’ หรือ ‘ซูเปอร์บอส’ คือนายทักษิณ

นายศิริชัย อ้างอิงผลการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และจากปากคำให้การของพยาน ได้แก่ นายวิชัย อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน (ปัจจุบันเป็น รมว.อุตสาหกรรม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์) ในฐานะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยขณะนั้น พบว่า มีเครือเอกชน-นักการเมือง ที่เข้าข่ายรับเช็คจากนายวิชัยอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่

1.นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่รับเช็คจากนายวิชัย กฤษดาธานนท์ และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ (บุตรนายวิชัย) กรณีชำระค่าหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด ที่ระบุว่า จะจ่ายผ่านนายวันชัย แต่ไม่ทัน จึงให้จ่ายโดยตรงผ่านนางเกศินี และนางเกศินี โอนเงินเข้าบัญชีนายพานทองแท้ จำนวน 1.8 ล้านบาท และกรณีร่วมลงทุนกับนายรัชฎาจำนวน 10 ล้านบาท

2.นายมานพ ทิวารี กรณีได้รับเช็คจากบริษัท แกรนด์ แซทเทิลไลท์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และเงินที่มีการโอนเข้าบัญชีก่อนหน้านี้ ซึ่งนายมานพ ระบุว่า ยืมมาจากนายวิชัย รวมเป็นเงินประมาณ 172 ล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด

3.บริษัท ฮาวคัม จำกัด และ 4.บริษัท มาสเตอร์โฟน จำกัด ที่นายรัชฎานำเงินที่ได้จากสินเชื่อที่บริษัท โกลเด้นฯ ได้รับจากธนาคารกรุงไทย ไปซื้อหุ้นจองของบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ 4.2 แสนหุ้น และนำมาเสนอขายแก่พนักงานของบริษัท ฮาวคัมฯ และบริษัท มาสเตอร์โฟนฯ ของนายพานทองแท้
นายศิริชัย เชื่อว่า ธุรกรรมของนายพานทองแท้และนายมานพ เป็นการรับผลประโยชน์ตอบแทนจากการที่บริษัท โกลเด้นฯ ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย 

อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ นายพานทองแท้ เคยชี้แจงต่อ คตส. แล้วว่า ฝากนายวันชัยซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่างฯ ผ่านบัญชีของนางเกศินี วงเงิน 26 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในวันที่ 31 ธ.ค. 2546 แต่นายพานทองแท้เกรงว่าการโอนเงินค่าหุ้นดังกล่าวจะไม่ทัน จึงให้โอนเงินให้นายวันชัย ผ่านบัญชีของนางเกศินี ก่อนที่นางเกศินี จะโอนเงิน 1.8 ล้านบาท ให้นายพานทองแท้ 

อย่างไรก็ดีนายศิริชัย เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการฝากนายวันชัยซื้อหุ้นตามที่อ้าง นายรัชฎาอ้างนั้น ย่อมสามารถโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีของนายวันชัยได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลต้องนำแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีนายพานทองแท้ เพื่อฝากชำระนายวันชัยอีกทอดหนึ่ง 

แหล่งข่าวระดับสูงจากดีเอสไอเคยเปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า อ้างอิงหลักฐานการสอบสวนของ ธปท. เกี่ยวกับเส้นทางการเงินผ่านเช็คหลายฉบับ เชื่อได้ว่า นายวิชัย มีการโอนเงินให้กลุ่มบุคคลต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ในจำนวนเหล่านั้นมีนายพานทองแท้ ชินวัตร นายมานพ ทิวารี (บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) นางกาญจนาภา หงษ์เหิน (เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์) นายวันชัย หงษ์เหิน (สามีนางกาญจนาภา) และนางเกศินี จิปิภพ (มารดานางกาญจนภา) อาจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

ขณะที่นางเกศินี และนายวันชัย ให้การยอมรับว่า นายวิชัย ได้โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเองจริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ 

ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเส้นทางการเงินของคดีนี้ที่มีการโยงถึงนายพานทองแท้ และพวกว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่จากการสอบสวนของดีเอสไอ พบว่า นอกเหนือจากนายพานทองแท้แล้ว ยังมีกลุ่มบุคคลอื่นอีกเป็นจำนวนมาก ที่ได้รับเงินจากการทำธุรกรรมระหว่างแบง์กรุงไทย กับเครือกฤษดามหานครดังกล่าว 

ความคืบหน้าล่าสุดกรณีนี้ คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีการอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเงินคดีดังกล่าวแล้ว วงเงินกว่า 40 ล้านบาท โดยมีชื่อของนางเกศินี จิปิภพ ด้วย เป็นบัญชีเงินฝาก มูลค่า 16 ล้านบาท 

ส่วนจะมีชื่อมูลนิธิรัฐบุรุษฯ และนายทหารพลเรือเอกชื่อดัง ติดอยู่ในข่ายตามที่นายพานทองแท้อ้างหรือไม่ คงต้องรอผลการสอบสวนของดีเอสไอต่อไป