พ.ต.ท. พงศ์พร ไม่มีความผิด แล้วย้ายทำไม??  หรือคนที่ขอให้ย้ายกลัวความผิด?? รัฐบาลถึงชักเข้าชักออกไม่เรียกว่าโลเล แล้วให้เรียกว่าอะไร??

พ.ต.ท. พงศ์พร ไม่มีความผิด แล้วย้ายทำไม?? หรือคนที่ขอให้ย้ายกลัวความผิด?? รัฐบาลถึงชักเข้าชักออกไม่เรียกว่าโลเล แล้วให้เรียกว่าอะไร??

วันที่ 26 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม. ว่า ครม. มีคำสั่งให้ตั้ง พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ เป็น ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) คนใหม่ โดยมีผลวันที่ 1 ต.ค. นี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อ โดยยืนยันว่า พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ไม่มีความผิดและอย่ากล่าวหารัฐบาลว่าโลเล เพียงแต่ช่วงก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องให้ออกมาก่อน เพื่อพูดคุยจัดระบบการทำงานที่จำเป็น และให้ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล พศ. แทนนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.สำนักนายก

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ได้มีคำสั่งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้นายพนม ศรศิลป์ พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กลางศึกวัดพระธรรมกายที่ยังร้อนระอุอยู่ หลังอัยการคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้องพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในคดีพิเศษที่ 27/2559 ในฐานความผิดสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร ในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จนทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บังคับการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาดำรงตำแหน่งแทน

ด้าน พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ หลังจากได้เข้ารับตำแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็ได้เดินหน้าตรวจสอบขบวนการทุจริตงบประมาณอุดหนุนวัดต่างๆอย่างต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าสะเทือนไปทั้งบางกันเลยทีเดียว อย่างเช่น การร่วมกับทางด้าน ตำรวจปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. นำกำลังเข้าตรวจค้น 10 จุดในหลายจังหวัด เพื่อตรวจค้นบ้านพักข้าราชการระดับสูง สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และเครือข่าย เพื่อค้นหาเอกสารที่เชื่อมโยงกับการทุจริตเงินอุดหนุนงบประมาณบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)  หลังตรวจพบว่ามีวัดที่ร่วมทุจริต 12 แห่ง สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 60.5 ล้านบาท  
นอกจากนั้นแล้วทางด้าน สำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 สำนักงานตรวจสอบเงินแผ่นดิน ได้ขยายผลตรวจสอบการทุจริตการเรียกรับเงินคืนจากงบประมาณอุดหนุนวัดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง หลังพบเบาะแสครั้งแรกที่ จ.สงขลาเมื่อตั้งแต่เดือน  สิงหาคม 2558 ล่าสุดผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบพิเศษภาค 15 ระบุว่าผลการตรวจสอบย้อนหลังปีงบประมาณ 2557-2558 พบมีการทุจริตหลายโครงการทั้งโครงการบุรณะปฏิสังขรณ์, โครงการครอบครัวอบอุ่นด้านการปฏิบัติธรรม และงบประมาณส่งเสริมความมั่นคงสถาบันพุทธศาสนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น โดยพบเจ้าหน้าที่จากสำนักพระพุทธศาสนาฯ และผู้ร่วมกระทำผิดมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเรียกคืนจากวัดเป็นเงินทอนเริ่มต้นร่วม 100 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสิ้น 218 ล้านบาท และเกิดขึ้นกับวัดมากกว่า 80 แห่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการเดินหน้าตรวจสอบเรื่องทุจริตเงินทอนวัด จนไปสู่การนำเสนอให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัดต่างๆ จากทางคณะกรรมการธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่อง การพัฒนาระบบการบริหารทรัพย์สินของวัดให้เป็นไปตามมาตรฐานตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย โปร่งใส และตรวจสอบได้
 

 

หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน วันที่ 29 ส.ค ได้มีมติโยกย้ายพ.ต.ท.พงศ์พร ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และอีกสัปดาห์ถัดมาในที่ประชุมครม.ในวันที่ 5 ก.ย. ได้มีการแต่งตั้งนายมานัส ให้มาดำรงตำแหน่งผอ.พศ.แทน โดยให้มีผลนับแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากนั้นในวันที่ 6 ก.ย.นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสปน. ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 2 ฉบับ ฉบับแรกให้พ.ต.ท.พงศ์พร มารักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี อีกฉบับมอบหมายให้รับผิดชอบตรวจราชการเขตตรวจราชการที่ 8 ใน 5 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล แต่พงศ์พรได้มีหนังสือไปถึงนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลพศ. เพื่อแย้งคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะตนเองยังเป็นผอ.พศ.อยู่ ยังไม่พ้นตำแหน่งจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ทำให้ในวันที่ 8 ก.ย.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลงนามในคำสั่งสำนักนายกฯ อีกฉบับเพื่อให้มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะพ้นตำแหน่งผอ.พศ. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา.
ขณะที่ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ทำหนังสือแย้งคำสั่งถูกโอนย้ายให้มาเป็นผู้ตรวจราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ตนเองได้ทราบเรื่องนี้จากข่าวเช่นกัน ยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวจริง คงต้องขอขึ้นห้องทำงานไปดูรายละเอียดเสียก่อน แต่อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนกำกับดูแลงาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ดังนั้น ถือว่าตนเป็นผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.ท.พงศ์พร และต้องดูแลความเรียบร้อยของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ส่วนเรื่องอื่น ๆ ก็ค่อยไปว่ากัน

นอกจากนั้นแล้วทางด้าน นายออมสิน ยังกล่าวต่อ หลังจากที่ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ผอ.พศ. ไม่รับคำสั่งผู้บังคับบัญชากระทำได้หรือไม่ นายออมสิน กล่าวว่า ไม่รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคงไม่ได้กระมัง
 
ขณะที่ทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือแย้งถึงนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ระบุการถูกโยกย้ายจากตำแหน่ง ผอ.พศ.ในครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหรือการขอตัวให้ช่วยราชการ ไม่ต้องได้รับการยินยอม แต่เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา อาจมีการสอบถามว่ามีความพร้อมหรือไม่ แต่จะไปหรือไม่ไปเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา สำหรับกรณีนี้ แบ่งเป็น 2 ประเด็น
ประเด็นแรก เป็นเรื่องการโยกย้าย จะต้องเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณานำขึ้นกราบบังคมทูลฯ แต่ในระหว่างการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ที่จะต้องใช้เวลา จึงอาจเกิดปัญหาที่จะต้องเข้าไปจัดการ ทำให้ต้องหาคนเข้ามารักษาการ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งรองลงมา เพื่อเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาไปพลางก่อน ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติปกติของทางราชการ

กรณีของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยืนยันว่า พ.ต.ท.พงศ์พร สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดี แต่เพื่อความเหมาะสมเห็นควรให้ไปปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่น ซึ่งระหว่างนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มีภารกิจช่วยงานด้านพระพุทธศาสนาในฐานะเลขาธิการมหาเถระสมาคม (มศ.) ดังนั้น ผอ.พศ.จะต้องเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ สามารถร่วมงานกันได้ พร้อมกันนี้ยังมีหน้าที่ในการปราบปรามการทุจริตต่อจาก พ.ต.ท.พงศ์พร ที่ทำมาได้ดีอยู่แล้ว แต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการดูจากภายในไปสู่ภายนอก
อีกประเด็นคือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มีภาระในการร่วมจัดศาสนพิธีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ร่วมกับกรมการศาสนา จึงเป็นสาเหตุที่ให้นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา มาดำรงตำแหน่ง ผอ.พศ.คนใหม่ และตั้งใจว่าจะให้รักษาการในตำแหน่งเดิมต่อไปด้วย จนกว่าจะเสร็จงานพระราชพิธี

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการ TNEWS สด ลึก จริง ทางช่องไบร์ททีวี เมื่อวันที่ 8 ก.ย. โดยระบุว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงในสำนักพุทธฯจากเดิมที่เป็นหน่วยงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันตลอดว่าไม่โปร่งใส แต่เมื่อนายพงศ์พร เข้ามาดำเนินงานโดยมีขั้นมีตอน ตรวจสอบให้โปร่งใสทำให้เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลขึ้น ซึ่งได้ตรวจสอบเรื่องพระทุจริตเงินทอนวัด เลยมีการพยายามที่จะมีการให้นายพงศ์พร ให้พ้นออกไป เพื่อที่จะได้โกงกันต่อไป ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งคนดี    

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มหาเถรสมาคม วิษณุ ออมสิน กลัวอะไรหรือเปล่าถึงได้รีบย้ายนายพงศ์พร นายไพบูลย์กล่าวว่า กลัวคำขู่ของพระผู้ใหญ่บางรูปในมหาเถรสมาคมขู่ว่าจะปลุกระดมกันมาประท้วงรัฐบาล ไม่ยอมมาร่วมงานพระราชพิธี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่บังควรที่จะเอามาข่มขู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ได้ผล เพราะรัฐบาลก็เป็นห่วง กลัวจะเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไข คล้อยตามคำขู่ก็คือให้ย้ายนายพงษ์พรโดยเร็ว ซึ่งการที่พระในมหาเถรสมาคมบางรูปใช้เรื่องของการขู่มาบีบบังคับรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องที่สกปรกมาก ซึ่งรัฐบาลก็ไม่กล้าเปิดเผยเรื่องนี้ให้สังคมรับรู้
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) (ขณะนั้น)ถึงกับต้องตั้งรับอย่างเร่งด่วน เพื่อสนองทางด้านมหาเถระสมาคม หากปล่อยให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ เดินหน้าจัดการกับเรื่องการทุจริตเงินทอนวัด รวมถึงการเดินหน้าตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของวัดต่อไปนั้น หวั่นจะลุกลามบานปลาย สาวไปถึงบงการ และผู้ร่วมขบวนการอื่นๆ จึงต้องรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม