ทักษิณ เขียนจดหมายอาลัย อาจารย์ยิ้ม ยกเป็นอาจารย์ของคนรักประชาธิปไตย

ทักษิณ เขียนจดหมายอาลัย อาจารย์ยิ้ม ยกเป็นอาจารย์ของคนรักประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนจดหมายแสดงความอาลัย ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรืออาจารย์ยิ้ม ที่เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 27 ก.ย.  เนื้อหาดังนี้

ผมขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรืออาจารย์ยิ้มของพวกเราต่อครอบครัวของอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์บาหยันกับลูกสาวคนเดียวของอาจารย์ อาจารย์ยิ้มเป็นอาจารย์ที่เป็นขวัญใจของคนรักประชาธิปไตยและรักความยุติธรรม อาจารย์เป็นคนที่มีจริยธรรมในวิชาชีพ มีความเคารพอาชีพของตัวเอง มีความเคารพในวิชาที่เล่าเรียนมา มีความเคารพในนักศึกษาที่จะต้องรับรู้สิ่งที่ถูกต้องอย่างมีหลักการมีทฤษฎีและความถูกต้อง ซึ่งสังคมไทยกำลังโหยหา ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์ยิ้มได้สอนได้พูดย่อมสามารถอ้างอิงได้ตลอดเวลาเพราะไม่ได้สอนด้วยอารมณ์รักหรือเกลียด
การสูญเสียอาจารย์ยิ้มไปนับเป็นการสูญเสียอย่างยิ่งของแวดวงการศึกษาและผู้รักประชาธิปไตยและความยุติธรรมทุกๆคน คุณงามความดีเหล่านี้ ขอได้นำดวงวิญญาณของอาจารย์ยิ้มไปสู่สุขคติในปรายภพเทอญ
ด้วยความเคารพรัก “ทักษิณ ชินวัตร”

ทักษิณ เขียนจดหมายอาลัย อาจารย์ยิ้ม ยกเป็นอาจารย์ของคนรักประชาธิปไตย

ทักษิณ เขียนจดหมายอาลัย อาจารย์ยิ้ม ยกเป็นอาจารย์ของคนรักประชาธิปไตย

ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (28 เมษายน พ.ศ. 2499 – 27 กันยายน พ.ศ. 2560) คือ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ อดีตรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาจาก ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2524 จากนั้นได้จบการศึกษาระดับอักษรศาสตรมหาบัณฑิต เอกประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2532
อาจารย์ยิ้ม เป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา ในขณะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมในขบวนการนักศึกษา และร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 หลังเหตุการณ์ ได้เดินทางเข้าสู่เขตป่าเขาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อจัดตั้งว่า "สหายสมพร" อยู่เขตเดียวกับ อมร อมรรัตนานนท์ หรือ สหายสกล สุวิทย์ วัดหนู หรือ สหายเชิด จาตุรนต์ คชสีห์ หรือ สหายสืบแสง และ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ หรือ สหายวีระ เป็นต้น

ในช่วงเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2554 ผศ.ดร.สุธาชัย เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และมีความเห็นตรงกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.) รวมทั้งสนับสนุนการเคลื่อนไหวและขึ้นเวทีปราศรัย อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ขอประกันตัว นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องหาถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. 2551 ต่อมา รศ.ดร.สุธาชัยก็ได้กลายเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่รณรงค์ให้ยกเลิก มาตรา 112
และหลังการยุติการชุมนุมของ นปช. พ.ศ. 2553 รศ.ดร.สุธาชัยถูกควบคุมไปที่ค่ายอดิศร ศูนย์กลางทหารม้า จังหวัดสระบุรี พร้อมกับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงทักษิณ ด้วย ในข้อหาจัดการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผิดต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ต่อมา ได้รับการปล่อยตัว และถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ยังได้ยื่นฟ้องต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นจำเลยที่ 1 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยที่ 2 และ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นจำเลยที่ 3 ในคดี ผังล้มเจ้า ซึ่ง ศอฉ.สร้างขึ้น ผลของคดีนำมาซึ่งการยอมความในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 โดย พ.อ.สรรเสริญยอมรับว่า ข้อหาล้มเจ้า ตั้งขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่า ขบวนการล้มเจ้ามีจริง ส่วนบุคคลที่ปรากฏชื่อในผัง ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในขบวนการล้มเจ้า เพียงแต่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น
หลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวด้วยคำสั่งที่ 44/2557 ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้เข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 แต่ไม่ได้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด