สัญญาณบวก เด้งรับ เลือกตั้ง พ.ย. 61 วัดใจ  “บิ๊กตู่” ทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน

สัญญาณบวก เด้งรับ เลือกตั้ง พ.ย. 61 วัดใจ “บิ๊กตู่” ทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน

หลังจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจะเดินหน้าตามโรดแมป โดยการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 อย่างแน่นอน ส่งผลให้มีสัญญาณในเชิงบวกตามมามากมาย เริ่มจากหุ้นไทย ที่พุ่งทะลุ 1,700 จุด

โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันเจตนาชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งได้ไม่นาน ก็มีความเคลื่อนไหวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยดัชนีปรับตัวขึ้น 14.73 จุด เปลี่ยนแปลง 0.87% มูลค่าการซื้อขาย 81,464.26 ล้านบาท ทั้งนี้ ดัชนีสูงสุดอยู่ที่ 1,708.35 จุด และต่ำสุดที่ 1,687.01 จุด นับเป็นสัญญาณเชิงบวกภายหลัง นายกฯประกาศจะเปิดให้มีการเลือกตั้ง
 

 

 

หากวิเคราะห์กันตามเนื้อผ้าจะพบสาเหตุที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยอมเปิดปากประกาศวันเลือกตั้ง 
ดังนี้

1.แรงกดดันจากภายใน ซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ ที่ออกมาเรียงหน้าทวงสัญญาจาก คสช.เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ยิ่งเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้เมื่อวันที่  7 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยในกฎหมายฉบับนี้ พรรคการเมืองต่างๆมีกรอบเวลาที่ต้องดำเนินการเรื่องต่างๆอย่างจำกัด ดังนั้นทุกพรรคจึงออกมากดดันให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองให้สามารถประชุมได้ พร้อมเรียกร้องความชัดเจนเรื่องโรดแมปการเลือกตั้งไปพร้อมๆกัน

2.แรงกดดันจากภายนอก ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ใช้เทคนิคขั้นสูงเพื่ออธิบายกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งเมื่อมองลึกลงไปแล้ว “บิ๊กตู่” ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 เพราะ ปี 2561 นั้น รัฐบาลแค่จะประกาศ ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงกดดันให้รัฐบาลแสดงความชัดเจนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ 

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา รัฐบาล – คสช. ก็ถูกกดดันอย่างหนักจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศวันเลือกตั้งออกไป ย่อมจะส่งผลดีแก่รัฐบาลและ คสช.ในแง่ที่ว่า สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจ เพราะจะพ้นครหาที่ว่า ยึดอำนาจแล้ว ไม่ยอมเปิดให้มีการเลือกตั้ง

3.แรงกดดันจากประชาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือปัจจัยสำคัญ แม้จะมีคนเชียร์ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่ออย่างยืนยงคงกระพัน แต่เสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก็ดังสนั่นไปทั่วทั้งบาง โดยเสียงเรียกร้องนี้ เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เป็นปัญญาสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจองค์รวม ไม่ว่าจะเป็น ไม่มีการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ พืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ ประชาชนไม่มั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น ดังนั้น เมื่อประกาศเลือกตั้งก็จะสามารถสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
 

 

 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางจากนี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 นับว่ายังอีกยาวไกล และถือเป็นเส้นทางที่ต้องวัดใจ “ผู้นำ” เป็นอย่างมาก เพราะในอนาคตการเลือกตั้งอาจไม่เป็นไปอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศไปก็เป็นได้ ด้วยปัจจัยใหญ่ 2 ปัจจัยด้วยกัน 

1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีตกกฎหมายลูก 
2.มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความกฎหมายลูกว่าขัดรัฐธรรมนูญ 
ถ้าเข้า 2 ปัจจัยนี้ การเลือกตั้งก็สามารถเลื่อนได้อย่างไม่มีกำหนดแล้ว    

อย่างไรก็ตาม การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเลือกตั้งก็ถือเป็นการซื้อใจคนไทยได้ในระดับหนึ่ง แต่จะ “ทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” หรือไม่ เรื่องนี้ถือเป็นการวัดใจ “ท่านผู้นำ”