พ่อแม่รังแกฉัน !?!? ไล่เรียงเห็นชัดๆขยายปม  "โอ๊ค" ฟอกเงิน ใครต้องรับผิดชอบบ้าง ???

พ่อแม่รังแกฉัน !?!? ไล่เรียงเห็นชัดๆขยายปม "โอ๊ค" ฟอกเงิน ใครต้องรับผิดชอบบ้าง ???

พ่อแม่รังแกฉัน !?!? ไล่เรียงเห็นชัดๆขยายปม  "โอ๊ค" ฟอกเงิน ใครต้องรับผิดชอบบ้าง ???

หนึ่งคดีที่จะต้องติดตามกันต่อไปก็คือคดีฟอกเงินที่นายพานทองแท้ ชินวัตร และพวกรวม 4 คนถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส.ส่งเรื่องให้ดีเอสไอทำการตรวจสอบอันเป็นผลสืบเนื่องจากคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัท กฤษดามหานคร 

จนนำมาซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ออกหมายเรียก นายพานทองแท้ ชินวัตร และพวกรวม 4 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน โดยให้มารับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 24 ตุลาคม 2560 

โดย หมายเรียกทั้ง 4 คนนั้น   ประกอบด้วย  นายพานทองแท้ ชินวัตร  , นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร , นายวันชัย หงษ์เหิน สามีของนางกาญจนาภา และนางเกศินี จิปิภพ มารดาของนางกาญจนาภา

ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของฝ่ายนายพานทองแท้ เห็นจะเป็นเพียง เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ  นายชุมสาย ศรียาภัย ทนายความของนายพานทองแท้ ชินวัตร  เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอความเป็นธรรมและให้ดีเอสไอยุติการออกหมายเรียกนายพานทองแท้ ในคดีฟอกเงินจากการทุจริตอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยอ้างมติจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ชี้มูลแค่รับของโจรและไม่พบความผิดฟอกเงิน 

หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม2558 ในคดีหมายเลขดำ อม.3/2555 ซึ่งอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 27 ราย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535

สำหรับคดีดังกล่าว แต่เดิมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ได้สรุปสำนวนคดีนี้เอาไว้ พบว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดมากถึง 31 คน โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มการเมือง 
2.กลุ่มคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย 
3.กลุ่มคณะกรรมการสินเชื่อธนาคารกรุงไทย
4.กลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย
5.กลุ่มนิติบุคคลและผู้บริหาร

แต่เมื่อ ป.ป.ช.เข้ามารับเรื่องต่อ กระทั่งอัยการมีคำสั่งฟ้อง กลับเหลือผู้กระทำผิดเพียง 27 คน โดยเข้าข่ายผู้กระทำความผิดที่หายไป 4 ราย ล้วนแต่เป็นรายชื่อที่อยู่ในกลุ่มการเมือง ได้แก่ 

1.นายพานทองแท้ ชินวัตร 
2.นางกาญจนาภา หงษ์เหิน 
3.นายวันชัย หงษ์เหิน(สามีนางกาญจนาภา)
และ 4.นายมานพ ทิวารี (บิดา น.ต.ศิธา ทิวารี)  

เพราะฉะนั้นคดีรับฟอกเงินของนายพานทองแท้กับพวก เราจะย้อนกลับไปตรวจสอบสำนวนคดีของ คตส.ที่ระบุถึงพฤติกรรมของนายพานทองแท้กับพวกเอาไว้อย่างไรบ้าง

สำหรับหลักฐานที่ทำให้ คตส. มีความเห็นให้ดำเนินคดีนายพานทองแท้และพวกว่ารับของโจร เพราะมีเส้นทางเงินตีเช็คสั่งจ่ายเข้าบัญชีนายพานทองแท้ และพวก    

ในชั้นไต่สวนของ คตส. นั้น นายพานทองแท้ แก้ต่างว่า เงินที่โอนมาจากนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ลูกชายนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหาร บมจ.กฤษดามหานคร ในรูปของเช็คสั่งจ่าย จำนวน 26 ล้านบาทนั้น เป็นเงินที่โอนมาเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจกัน แต่ต่อมาธุรกิจที่นายพานทองแท้ จะลงทุนยังไม่ได้ดำเนินการอะไร จึงส่งเงินกลับคืนไปให้เจ้าของเดิม ส่วนจะมีเงินโอนส่วนใดเข้ามาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายพานทองแท้ บอกว่าไม่ทราบ จำรายละเอียดไม่ได้ เนื่องจากนายรัชฎา มีธุรกิจที่มาร่วมลงทุนกันหลายอย่าง

ในการชี้แจงต่อ คตส. ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ก็ยืนยันว่านายพานทองแท้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด เงินที่ถูกระบุว่าได้รับการโอนมาเข้าบัญชีก็เป็นเงินโอนมาเพื่อร่วมลงทุนด้วยกันเท่านั้น 

ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ยังต้องรอติดตามกันต่อไปเมื่อคดีของนายพานทองแท้ ถูกส่งฟ้อง แต่สำหรับนายรัชฎานั้น คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ออกมาชัดเจนแล้วว่า นายรัชฎา จำเลยที่ 26 ในคดีนี้มีความผิด ต้องติดคุกนานถึง 12 ปี และต้องร่วมกันชดใช้ค่าความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทยหมื่นกว่าล้านบาท

นายรัชฎา มีความผิดชัดเจนแล้ว สำหรับนายพานทองแท้ ที่มีเช็คจากนายรัชฎาโอนเข้าบัญชีจะรอดไหม?         

คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีของคตส. ได้ส่งผลการตรวจสอบเส้นทางการเงินของบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเฉพาะกรณีที่มีบุคคลต่างๆ นำเงินกู้ที่บริษัทโกลเด้นฯ ได้รับจากธนาคารกรุงไทย ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทกฤษดามหานคร และหุ้นอุปการคุณ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รวมถึงหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2551 เรียบร้อยแล้ว

หากไล่เรียงวันเวลาการดำเนินคดีดังกล่าวนั้นจะเริ่มที่อัยการสูงสุด (อสส.) รับคดีนี้เมื่อปี 2551 ซึ่งขณะนั้นมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง(ยศขณะนั้น) เป็นอธิบดีดีเอสไอ (11 เม.ย. 2551-29 ก.ย. 2552) และผ่านมากว่า 7 ปี (2551-2558) มีการเปลี่ยนเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอมาแล้วถึง 5 ครั้ง ได้แก่ 

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ 29 ก.ย. 2552-24 พ.ค. 2557 

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รักษาการ 24 พ.ค. 2557-27 มิ.ย. 2557 ดำรงตำแหน่งเต็ม 27 มิ.ย. 2557-30 ก.ย. 2557

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ รักษาการ 15 ต.ค. 2557- 17 พ.ย. 2557 ดำรงตำแหน่งเต็ม 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์  1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง รักษาการ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ดำรงตำแหน่งเต็ม 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน

ปัญหาที่น่าสนใจที่เราต้องติดตามกันตอนนี้ก็คือ คือ ตกลงแล้ว “บิ๊กบอส” ที่สั่งให้คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อแก่เครือกฤษดามหานคร คือ ใคร  แล้วคดีนี้นายพานทองแท้จะมารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ เราคงต้องหาคำตอบกันต่อไป

พ่อแม่รังแกฉัน !?!? ไล่เรียงเห็นชัดๆขยายปม  "โอ๊ค" ฟอกเงิน ใครต้องรับผิดชอบบ้าง ???