จาตุรนต์ ติง บัตรคนจน ไม่เตรียมพร้อม  ซ้ำยังเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

จาตุรนต์ ติง บัตรคนจน ไม่เตรียมพร้อม ซ้ำยังเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงโครงการบัตรคนจนว่า "บัตรคนจน' อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่เป็นอยู่"
 
“บัตรคนจน” เป็นโครงการที่ภาครัฐให้การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ด้วยการให้วงเงินเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน คนละ 200 บาทหรือ 300 บาทต่อเดือน แล้วแต่รายได้ บวกกับให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มอีก 45 บาทต่อคน ต่อ 3 เดือน และยังให้วงเงินช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อคนต่อเดือน เป็นค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาท, ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท โครงการนี้เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา และกำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย 
 
เริ่มจากข่าวความไม่รัดกุม มีช่องโหว่ โดยผู้มีรายได้น้อยเอาบัตรสวัสดิการไปแลกเป็นเงินกับร้านธงฟ้าประชารัฐในพื้นที่ โดยไม่เอาสินค้า ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไข หากมีการตรวจสอบว่าทำผิดจริง จะต้องถูกลงโทษ คือ ร้านธงฟ้าจะถูกถอดออกจากทะเบียนร้านธงฟ้ากับกระทรวงพาณิชย์ และยึดเครื่องรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) คืน ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการจะถูกระงับวงเงินในบัตรทันที
 

 

 

ขณะเดียวกัน มีร้านธงฟ้าบางแห่งที่ยังไม่ได้มีการติดตั้งเครื่องอีดีซี แต่มีการติดป้ายหน้าร้านว่าพร้อมรับบัตรสวัสดิการ และสามารถมารับสินค้าออกไปก่อนได้ในวงเงิน 200 บาท โดยทางร้านจะทำการยึดบัตรสวัสดิการของผู้มีรายได้น้อยไว้ก่อน
 
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่แสดงว่ายังมีความไม่พร้อม ไม่ทั่วถึงอยู่มาก โดยหน่วยงานภาครัฐก็ออกมาบอกว่าจะพยายามเร่งติดตั้งเครื่องอีดีซี อย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกตำบล ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งไปแล้วกว่า 5,061 เครื่อง
 
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่โครงการใหม่ๆของรัฐ ที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีการเตรียมพร้อมเพียงพอ เมื่อเริ่มดำเนินการก็จะมีปัญหา มีข้อติดขัด มีความสับสน ต้องปรับปรุงและแก้ไขกันต่อไป แต่โครงการนี้มีประเด็นที่ต้องฉุกคิดและตั้งคำถามหลายเรื่อง   เช่น
 
- ความครอบคลุมของการให้บริการ  บัตรคนจนสามารถใช้ได้เฉพาะกับร้านธงฟ้าที่ติดตั้งเครื่องอีดีซีเท่านั้น  แต่ร้านธงฟ้ามีอยู่กี่แห่ง? แถมบางร้านยังไม่มีเครื่องอีดีซี  จากข้อมูลทางการล่าสุด มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ จำนวน 19,500 แห่ง ติดตั้งเครื่องอีดีซีไปแล้ว 5,061 เครื่อง นั่นคือมีร้านค้าอีกจำนวน 14,000 กว่าแห่ง ที่ยังไม่มีเครื่องนี้ และยังต้องถามต่อว่า แล้วร้านค้ารายเล็กรายน้อยในประเทศไทยมีกี่ร้าน  ร้านธงฟ้า 19,500 ร้าน คิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของร้านค้าทั้งหมดที่มีอยู่ และกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศหรือไม่ แล้วคนที่ถือบัตรจะเข้าถึงร้านธงฟ้าได้อย่างสะดวกจริงหรือ
 
- ความพร้อมของระบบเทคโนโลยีการสื่อสารในการรองรับเครื่องอีดีซี ภาครัฐมีเป้าหมายจะติดตั้งเครื่องอีดีซีให้ครอบคลุมทุกตำบล ณ ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมี 7,255 ตำบล 75,032 หมู่บ้าน เท่ากับว่าที่ติดตั้งไปแล้วก็ยังไม่ครบทุกตำบล และจะมีกี่ตำบล กี่หมู่บ้านที่มีความพร้อมในการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องรับบัตรในลักษณะแบบบัตรเครดิตที่ต้องมีระบบสื่อสารออนไลน์เชื่อมกับระบบโทรศัพท์และฐานข้อมูล  
 
- ความไม่เท่าเทียมของประโยชน์ที่ได้รับ   คนรายได้น้อยใน 7 จังหวัด คือ กทม., นนทบุรี, ปทุมธานี, อยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม จะได้วงเงินช่วยค่าเดินทางโดยรถเมล์และรถไฟฟ้า ส่วนในจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 7 จังหวัดนี้ จะได้เฉพาะเงินช่วยเหลือค่ารถ บขส. และค่ารถไฟ  เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ทั้ง 7 จังหวัดดังกล่าวโดยเฉพาะ กทม. มีความเจริญก้าวหน้ากว่าหลายๆจังหวัดที่เหลืออยู่มาก ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน  การให้สวัสดิการกับคนใน 7 จังหวัดนี้มากกว่าที่อื่น ยิ่งไปทำให้ความเหลื่อมล้ำห่างออกจากกันมากขึ้นอีก
 
“บัตรคนจน” ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโครงการแรกของรัฐบาลนี้ ก่อนหน้านั้นในปี 2559 ก็มีโครงการคล้ายกันแบบนี้ โดยให้คนรายได้น้อยมาลงทะเบียน เพื่อรับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาท และ 3,000 บาท แล้วแต่รายได้ว่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนั้นมีคนมาลงทะเบียนทั้งหมด 8.3 ล้านคน พอมาปีนี้ก็เปิดลงทะเบียนเหมือนกันอีก โดยมีคนมาลงทะเบียน 14.2 ล้านคน ต่อมาเป็นข่าวว่ากรองเหลือ 11 ล้านคน จะสังเกตได้ว่าตัวเลขคนจนเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 ล้านคน
 

 

 

จาตุรนต์ ติง บัตรคนจน ไม่เตรียมพร้อม  ซ้ำยังเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

ส่วนในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้ในโครงการปี 2559 เป็นการแจกเงินให้แต่ละคนเป็นก้อนและให้ครั้งเดียว ใช้งบประมาณรวมไปทั้งหมด 19,290 ล้านบาท ส่วนของปีนี้การให้สิทธิประโยชน์ซับซ้อนขึ้น มีทั้งเงินช่วยเหลือค่าของกินของใช้ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่ารถเมล์/รถไฟ โดยจ่ายให้เป็นวงเงินผ่านบัตรในทุกเดือน และทุก 3 เดือน  ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐจะจ่ายเงินให้นานแค่ไหน ต่างจากโครงการที่แล้ว ที่ให้ครั้งเดียวจบ จึงทำให้ไม่ทราบว่า โครงการบัตรคนจนนี้ จะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งหมดเท่าไหร่ และใช้ไปอีกกี่ปี

ล่าสุด มีการเปิดเผยว่ารัฐบาลจะเพิ่มวงเงินบัตรคนจนขึ้นไปอีก 500 บาทเป็น 700-800 บาท
 
โครงการที่ให้เปล่าอย่างนี้ เมื่อทำแล้วจะลดลงไม่ใช่เรื่องง่าย หากมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมสูงวัยเต็มขั้นในเร็วๆนี้ด้วย คนที่เข้าหลักเกณฑ์เป็น"คนจน"อาจจะยิ่งมากขึ้น ซึ่งก็ได้เห็นตัวเลขเบื้องต้นแล้วว่า คนจนที่ลงทะเบียนจาก 8.3 ล้านคนในปี 2559 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11 ล้านคนในปีนี้ ถามว่าจะเอาเงินมาจากไหน จะขึ้นภาษีหรือไม่ ภาษีอะไร
 
มีการวางแผนป้องกันไม่ให้ "บัตรคนจน"กลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ถือบัตรไม่อยากพ้นจากการเป็นคนจนหรือไม่ มีการวิเคราะห์หรือไม่ว่าโครงการนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอย่างไร

ที่ตั้งคำถามเช่นนี้ ไม่ใช่มีอคติต่อโครงการนี้ แต่เนื่องจากเห็นว่าในหลายประเทศที่มีระบบดูแลคนยากจนนั้น เขาต้องคอยคิดปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นประจำ
 
"บัตรคนจน" นี้เริ่มต้นจากโครงการที่ไม่ใหญ่นัก ต่อมาก็เพิ่มโน่นเติมนี่จนใหญ่พอสมควร แล้วเราก็มาได้ยินชื่อเป็นทางการว่า"บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ซึ่งสะท้อนแนวคิดของผู้ที่ผลักดันโครงการนี้ว่าอาจกำลังต้องการสร้าง"ระบบรัฐสวัสดิการ"ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก

ขนาดเรื่องเทคนิควิธีการก็เป็นปัญหาสับสนอลหม่านพอดู สะท้อนว่าไม่ได้เตรียมการมาสักเท่าไร แล้วจู่ๆจะสร้างระบบรัฐสวัสดิการขึ้นอย่างปุบปับ จะไม่ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่หรือ
 
ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการนั้น มักจะเก็บภาษีสูงมาก คือ รายได้ของรัฐในรูปของภาษีอยู่ที่มากกว่า 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือสูงกว่านั้นมาก เช่น เดนมาร์ก 46.6%, ฟินแลนด์ 44.0%, สวีเดน 43.3%, เยอรมนี 36.9% และอังกฤษ 32.5% ขณะที่ประเทศไทยเรา รัฐมีรายได้จากภาษีอยู่ที่ประมาณ 15-17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเท่านั้น

นั่นหมายความว่า ถ้าจะใช้ระบบรัฐสวัสดิการกันจริงๆ จะต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีกันครั้งใหญ่  สังคมไทยพร้อมแล้วหรือไม่ ยิ่งในช่วง 3-4 ปีมานี้รัฐบาลขาดดุลการคลังปีละมากๆ ทั้งยังใช้จ่ายในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์อยู่เนืองๆด้วย การตั้งคำถามอย่างนี้ก็ดูจะน่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอยู่ไม่น้อย
 
โครงการ"บัตรคนจน"หรือ"บัตรสวัสดิการของรัฐ"นี้ เริ่มต้นด้วยความสับสน มีข้อห่วงใยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่ถ้ามองปัญหาให้กว้างและไกลออกไปดังที่วิเคราะห์มา ก็จะเห็นว่าปัญหาที่พูดถึงกันอยู่นั้น แม้จะเป็นเรื่องใหญ่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นปัญหาเพียงบางส่วนเท่านั้น

การกำหนดนโยบายที่เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนี้  ไม่ควรทำกันแบบเพิ่มนั่นเติมนี่ไปตามใจชอบ โดยไม่รู้ว่ากำลังจะเดินไปสู่อะไร แต่ควรจะมีกระบวนการวิเคราะห์  สังเคราะห์นโยบายอย่างเป็นระบบ  ที่ต้องเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่อย่างที่ทำกันอยู่