เปิดแผน!!..จัดการน้ำกทม. ของกรมชลประทาน

เปิดแผน!!..จัดการน้ำกทม. ของกรมชลประทาน

กรมชลประทาน เผย แผนบริหารจัดการน้ำ กทม.  เร่งตัดยอดน้ำด้านบน 2 ลุ่มน้ำ คือ เจ้าพระยา และ ป่าสักชลสิทธิ์ ก่อนถึงกรุงเทพฯ ยันปัจจัยน้ำเหนือ และน้ำหนุน จะไม่มีผลทำให้เกิดน้ำท่วมในกทม. 


นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึง แผนจัดการน้ำในส่วนของกทม. ว่า จุดสำคัญจะดำเนินการใน 2 ส่วน คือ

1.ควบคุมน้ำที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เกิน 3 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่เมื่อน้ำเข้าสู่กรุงเทพฯ จะไม่ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น 

 

 

2.เร่งตัดยอดน้ำ ฝั่งแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ ที่ไหลเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ โดยใช้วิธีสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองรังสิต-ประยูรศักดิ์ และ สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ ที่ตำบลรังสิต อำเภอธัญญบุรี  วันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร  เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้ากทม.


ขณะที่ในช่วงท้ายน้ำของกทม.  จะเร่งพร่องน้ำออกที่ประตูระบายน้ำชลหารพิจิตร อำเภอคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ วันละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และ อีกส่วนหนึ่งจะระบายลงสู่คลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. ที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ ลงสู่อ่าวไทย ซึ่งสามารถระบายน้ำออกจากเขตเมืองได้วันละ 26 ล้านลูกบาศก์เมตร 

ทั้งนี้ ยืนยันน้ำที่ท่วมกทม.ในวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ไม่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำเหนือ แต่เกิดขึ้นจากฝนที่ตกสะสม เฉลี่ยมากถึง 200 มิลลิเมตร ซึ่งเกินศักยภาพท่อระบายน้ำกทม.ที่รองรับได้ 60 มิลลิเมตร 

เปิดแผน!!..จัดการน้ำกทม. ของกรมชลประทาน

 

 

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในภาพรวม  โดยเฉพาะการเดินเครื่องสูลน้ำเต็มกำลังบริเวณท้ายน้ำ เพื่อลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย  พร้อมให้ความมั่นใจว่า ทั้งปัจจัย น้ำเหนือ และหนุน จะไม่มีผลทำให้เกิดน้ำท่วมในกทม.อย่างแน่นอน