ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ เปิดพระราชนิพนธ์แรก ในหลวง ร.๙

ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ เปิดพระราชนิพนธ์แรก ในหลวง ร.๙

เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ต้องเดินทางกลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ โดยทรงบันทึกแสดงความรู้สึกตลอด ๖ วัน จากแผ่นดินสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์  ก่อนพระราชทานบันทึกนั้นให้หนังสือ "วงวรรณคดี" ตีพิมพ์“ ในชื่อ พระราชนิพนธ์ "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรก เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ 

ในโอกาสนี้ ขอนำส่วนหนึ่งจากพระราชนิพนธ์มาเผยแพร่ ดังนี้
 

 

 

“วงวรรณคดี” ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ถนัดมาลงในหนังสือนี้นานมาแล้ว อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักประพันธ์ เมื่ออยู่โรงเรียน เรียงความและแต่งเรื่องก็ทำไม่ได้ดีนัก อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าก็ปรารถนาที่จะสนองความต้องการของ “วงวรรณคดี” อยู่บ้าง และเนื่องด้วยไม่สามารถที่จะเขียนเรื่องที่ข้าพเจ้ารู้บ้าง เช่น ดนตรี ศิลป วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือ กฎหมาย ฯลฯ ได้ เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ดีพอ ฉะนั้นจึงตกลงใจส่งบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างวันเดินทางจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์มาให้ ...


วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

อีกสามวันเท่านั้น เราก็จะต้องจากไปแล้ว ฉะนั้นจึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย.

เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์วิหารตอนบ่ายวันนี้ มีประชาชนผู้รู้ว่าข้าพเจ้าจะมา มายืนรออยู่บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เข้าไปในพระอุโบสถ จุดเทียนนมัสการ ฯลฯ แล้วได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราช ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงให้มารู้จัก โดยปรกติได้เคยเห็นหน้าท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป บนนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ชื่อ พระไพรีพินาศ พระองค์นี้เคยทรงเล่าประวัติให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน หลังจากนั้นก็นมัสการลา.

ตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่า รถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้าบ้าง ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ ที่ไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย ในหมู่ประชาชนที่มารอรับกันอยู่วันนี้ จำได้ว่า มีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวัน อังคาร พฤหัสบดี และวันอาทิตย์ พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน

วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ 

วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว…พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้น แล้วก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฎว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง

รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว.

เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่ ได้รับของที่ระลึกเป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย ๑๑.๔๕ นาฬิกาแล้ว มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้นก็ไปขึ้นเครื่องบิน เดินฝ่าฝูงคนซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย.
 

ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ เปิดพระราชนิพนธ์แรก ในหลวง ร.๙

 

ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ เปิดพระราชนิพนธ์แรก ในหลวง ร.๙

 

เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นเหล่าราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยชัยให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องทีละเครื่องๆ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหวกลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชาชนที่ดังอยู่หมด พอถึง ๑๒ นาฬิกา เราก็ออกเดินทาง มาบินวนอยู่เหนือพระนครสามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่วถนนทุกสายในพระนคร.

...แปลกดีเหมือนกัน ที่ใจหวนไปคิดว่า เพียงชั่วโมงเดียวที่ผ่านมาเมื่อตะกี้นี้เอง เรายังห้อมล้อมไปด้วยประชาชนชาวไทย แต่เดี๋ยวนี้เล่า เรากำลังเหาะอยู่เหนือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล แม้จะมีเสียงเครื่องยนต์ ก็ดูเป็นเหมือนเงียบและนิ่งอยู่กับที่ เพราะเสียงทุกๆ เสียงจากสิ่งมีชีวิตได้จางหายไปหมดแล้ว...

 

 

ข้อมูลและภาพจาก : พระราชนิพนธ์ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์ , กรมศิลปากร , www.praew.com