คนบ้านป่าไผ่กลางใช้ 2 มือสร้างสุข  แค่เริ่ม “ปลูกผัก” ชุมชนก็เปลี่ยน

คนบ้านป่าไผ่กลางใช้ 2 มือสร้างสุข แค่เริ่ม “ปลูกผัก” ชุมชนก็เปลี่ยน

 ระยะทางที่ห่างจากใจกลางอำเภอเพียง 1 กิโลเมตร ทำให้สังคมของชาวบ้านป่าไผ่กลาง หมู่ 7 ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เหมือนกับสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจเพื่อนบ้าน แม้จะรั้วชิดติดกัน เห็นหน้าแทบทุกวัน หากน้อยครั้งที่จะเอ่ยทักทายปราศรัย ช่องว่างระหว่างคนในชุมชนถูกถ่างให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเทศบาลตำบลสันกำแพง ดึงหมู่บ้านป่าไผ่กลางเข้าร่วมโครงการชุมชนปลอดขยะ และได้รับรางวัล ขนาดไซด์แอล (L) ระดับประเทศ ทำให้แกนนำเกิดความมั่นใจ ในการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทางและต่อเนื่อง
         บ้านป่าไผ่กลางมี 350 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 1,120 คน แต่มีประชากรแฝงอีกราว 300 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาคือค้าขาย อุตสาหกรรมในครัวเรือน มีเกษตรกรรมบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ทำให้วิถีการดำรงชีวิตเป็นไปอย่างรีบเร่งเพื่อความอยู่รอด แม้ที่ผ่านมาชาวบ้านจะให้ความร่วมมือรักษาความสะอาดในบ้านและชุมชนด้วยดี หากยังมองไม่เห็นรอยยิ้ม ที่จะทำให้หมู่บ้านเข้มแข็งไปพร้อมๆ กับชาวบ้านมีความสุข

 การุณย์ กันจา ผู้ใหญ่บ้านป่าไผ่กลาง เล่าว่า เมื่อสำรวจชุมชนอย่างจริงจังก็พบหลายปัญหา เช่น น้ำประปาไม่ค่อยเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้รายรับกับรายจ่ายยังไม่ค่อยสมดุลกัน ชาวบ้านไม่ปลูกพืชผักสวนครัว อาศัยซื้อกินเป็นหลัก ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการบริโภค มีปัญหาด้านสุขภาพ ทั้งโรคความดัน เบาหวาน ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็เห็นว่าชาวบ้านกำจัดขยะ โดยใช้ใบไม้ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์อยู่แล้ว จึงสนใจโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อนำต้นทุนที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นมาดำเนินการให้ต่อเนื่อง และต่อยอดไปสู่การพัฒนาในจุดอื่นๆ ได้   
           มูล ชมภูจันทร์ คุณตาวัย 80 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มปลูกพืชผักและผลไม้ปลอดสารเคมี ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในโครงการ บอกว่าเพิ่งเริ่มปลูกผักสวนครัวมาปีเศษ ก่อนหน้านี้ช่วยลูกดูแลปั๊มน้ำมัน แต่ไม่มีหน้าที่ชัดเจน ซ้ำยังเจอมลพิษจากการสันดาปของเครื่องยนต์เกือบตลอดเวลา จึงค่อนข้างเครียด เมื่อมีโอกาสย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านป่าไผ่กลาง และได้รับการชักชวนให้ปลูกพืชผักสวนครัว จึงใช้พื้นที่ว่างในบริเวณบ้านปลูกผักกาดอย่างเดียว จำนวน 2 แปลง ภายหลังได้เรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพ นำมาใช้แทนปุ๋ยและยาได้ จึงปลูกหลายอย่างมากขึ้น ทั้งผักกาด ผักเชียงดา มะเขือ ถั่วฝักยาว ฟักทอง ฟักเขียว ผักบุ้ง มะนาว มะละกอ ดีปลี ตะไคร้ มะกรูด โหระพา พริกขี้หนู ฯลฯ
        “พื้นที่บ้าน 100 แค่ตารางวาเศษ เหลือปลูกผักไม่ถึงครึ่ง ตอนแรกแอบซื้อปุ๋ยเคมีมาใส่เหมือนกับเพื่อนสมาชิกอีกหลายคน ที่กลัวผลผลิตไม่งอกงาม ปรากฏว่าเมื่อเก็บผักแล้ว ปล่อยทิ้งไว้นานจะช้ำและเน่าง่าย แตกต่างจากผักที่ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ มีความสดนานกว่า ทุกคนจึงเลิกใช้ปุ๋ยเคมีโดยอัตโนมัติ แต่ผักก็ยังให้ผลผลิตดี เก็บกินเท่าไหร่ก็ไม่หมด จนต้องแบ่งให้เพื่อนสมาชิก บางครั้งโรงเรียนอนุบาลไผ่แก้ว ที่อยู่ในชุมชนก็ซื้อเข้าโรงเรียนทำอาหารกลางวันให้กับเด็ก และบางส่วนก็มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้าน ช่วงแรกนำไปขายต่อที่ตลาดนัดสีเขียวทุกวันพฤหัสบดี ปรากฏว่าพ่อค้าแม่ค้าในกาดแลงบ้านป่าไผ่ (ตลาดที่เปิดขายเฉพาะช่วงเย็น) ได้รับความเดือดร้อนยอดขายลด ภายหลังจึงยกเลิกตลาดนัดสีเขียว นำไปขายในกาดแลงแทน มีรายได้รวมเดือนละหลายพันบาท” ตามูล อธิบายพร้อมกับหัวเราะ
       ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนหลังจากมีกิจกรรมปลูกผักนั้น คุณตามูล บอกว่า คึกคัก มีชีวิตชีวากว่าเดิม มีคนไปมาหาสู่เข้ามาศึกษาดูงาน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีทั้งคนในหมู่บ้าน และคนต่างถิ่นให้ความสนใจ เพื่อนสมาชิกกลุ่มปลูกพืชผักก็แวะเวียนมาคุยด้วย มีสังคมกว้างขวางขึ้น
       ขณะเดียวกัน กลุ่มคนหนุ่มสาวก็ใช้แอปพลิเคชั่นไลน์กลุ่มคุยกัน เวลามีพืชผักงอกใหม่ก็จะอวดกันว่าของใครสวยกว่า ผักบ้านใครงอกก่อน หรือถ้าพบปัญหาก็จะปรึกษากัน เช่น ในช่วงฤดูฝนมีหอยแพร่ระบาด และกัดกินใบผักจนเหลือแต่ก้าน บางคนก็ใช้ใบสะเดา หรือใบขี้เหล็ก แช่น้ำให้มีรสขมแล้วนำไปรดผัก บ้างก็โขลกพริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาผสมน้ำก่อนฉีดพ่น พบว่าได้ผลดีทั้งคู่ เมื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง คนอื่นๆ ก็จะเลือกใช้แนวทางที่สามารถทำตามได้ง่ายๆ
       ทัศนีย์ กงจักร์ ผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่บ้านป่าไผ่กลาง เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าชาวบ้านลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้มาก จากเดิมซื้อกินทุกอย่าง พอปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ช่วยประหยัดเดือนละหลายพันบาท บางคนยังเหลือขายสร้างรายได้ด้วย ที่สำคัญคือชาวบ้านหันมาใส่ใจสุขภาพ เลือกบริโภคผักปลอดสารพิษที่ปลูกไว้ในบ้าน ร่างกายก็แข็งแรงมากขึ้น อาการเจ็บป่วย หรือโรคเรื้อรัง อย่างความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดลดลง  
       เริ่มจากงบประมาณแค่ 5,000 บาท ซื้อเมล็ดพันธุ์ครั้งแรก แล้วเพาะในศูนย์เรียนรู้พืชผักสมุนไพร แจกจ่ายต้นกล้าแก่เพื่อนสมาชิก ซึ่งครั้งแรกเน้นในกลุ่มแกนนำประมาณ 35 ครัวเรือน เพื่อให้ชาวบ้านเห็นตัวอย่าง พอผักรุ่นแรกเริ่มให้ผลผลิตก็มีคนสนใจทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนี้พบว่าชาวบ้านปลูกผักปลอดสารเคมีถึงร้อยละ 80 บางบ้านไม่มีพื้นที่ก็ปลูกในกระถาง บางครอบครัวทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาทำกิจกรรม หรือเข้าร่วมโครงการ ก็ปลูกผักไว้กินเองในบ้าน

“วันนี้โครงการ สสส.ปิดไปแล้ว แต่กลุ่มยังอยู่ โดยเริ่มเปิดให้สมาชิกออมทรัพย์ร่วมกันอย่างต่ำเดือนละ 100 บาท หรือ 2 หุ้น (หุ้นละ 50 บาท) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา เพื่อเกี่ยวพันกันไว้ หากครบ 1 ปี จะมีการพิจารณาว่าควรนำเงินออมไปใช้ประโยชน์อย่างไร ด้านไหนบ้าง ซึ่งที่วางแผนไว้เบื้องต้นคือจะทำผักปลอดสารแบบออแกนิก เพื่อหนีปัญหาศัตรูพืช โดยเฉพาะหอยที่ระบาดหนัก” ทัศนีย์ กล่าว
          และระหว่างนี้ก็มีการประชุมทุกเดือนๆ ละ 1 ครั้ง ซึ่งกลุ่มสมาชิกจะกระตือรือร้นที่จะพบปะกัน แม้จะนัดช่วงกลางคืน และย้ายที่ประชุมไปเรื่อยๆ ตามฐานต่างๆ อาทิ ฐานศูนย์เรียนรู้ส่วนกลาง กลุ่มหูกวาง กลุ่มประชาสุขสันต์ กลุ่มรอบวัดรวมใจ กลุ่มเหนือวัดรวมใจสามัคคี กลุ่มซอยกาญจนาภิเษก หมุนเวียนกันไป แต่สมาชิกต่างรอเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมักจะคุยกันถึงเคล็ดลับการปลูกผักให้โตเร็ว ได้ผลผลิตเยอะ การแบ่งปุ๋ยอินทรีย์ให้กันใช้ ตลอดจนปัญหาที่กระทบต่อการปลูกผัก เช่น สภาพอากาศ ภัยแล้ง น้ำท่วม วิธีจัดการกับศัตรูพืช รวมไปถึงการซื้อขาย แบ่งปัน บ้านไหนเพาะต้นกล้าผักไว้ ก็จะบอกแจกจ่ายแก่สมาชิกที่ต้องการด้วย
   นั่นแสดงถึงความสุขของการได้ร่วมคิด ร่วมทำกิจกรรมโครงการ แตกต่างจากเดิมที่ใช้ชีวิตเหมือนสังคมเมือง ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจกัน แต่พอได้พูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกัน ก็เกิดความรักสามัคคี กลายเป็นสังคมที่เอื้อเฟื้อแบ่งปันแบบพี่น้องเข้ามาแทนที่

คนบ้านป่าไผ่กลางใช้ 2 มือสร้างสุข  แค่เริ่ม “ปลูกผัก” ชุมชนก็เปลี่ยน

คนบ้านป่าไผ่กลางใช้ 2 มือสร้างสุข  แค่เริ่ม “ปลูกผัก” ชุมชนก็เปลี่ยน

คนบ้านป่าไผ่กลางใช้ 2 มือสร้างสุข  แค่เริ่ม “ปลูกผัก” ชุมชนก็เปลี่ยน

คนบ้านป่าไผ่กลางใช้ 2 มือสร้างสุข  แค่เริ่ม “ปลูกผัก” ชุมชนก็เปลี่ยน

คนบ้านป่าไผ่กลางใช้ 2 มือสร้างสุข  แค่เริ่ม “ปลูกผัก” ชุมชนก็เปลี่ยน


 
Cr. konkao.net