ผู้นำปฏิวัติสอนประชาธิปไตย  ประยุทธ์ยกนักเขียนฝรั่งระบุ  หมดยุคประชาธิปไตยแบบสภาผู้แทน ชี้นักการเมืองต้องซื่อสัตย์รับผิดชอบ

ผู้นำปฏิวัติสอนประชาธิปไตย ประยุทธ์ยกนักเขียนฝรั่งระบุ หมดยุคประชาธิปไตยแบบสภาผู้แทนชี้นักการเมืองต้องซื่อสัตย์รับผิดชอบปีใหม่ขอทุกฝ่ายพูดสร้างสรรค์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2560 เวลา 20.15 น. ถึงเรื่องของประชาธิปไตย  ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่งเช่นกัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันในเรื่องเหล่านี้ ที่ผมพูดต่อไปนี้เป็นข้อมูล ผมได้มาจากการอ่านหนังสือ "เศรษฐกิจดิจิทัล"  เขียนโดยดอน แท็ปสก็อต ซึ่งเป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยม เจ้าของหนังสือ "วิกิโนมิกส์" และ "โกรวน์ อัพ ดิจิทัล" หนังสือเล่มนี้ แปลและเรียบเรียง โดย พรศักดิ์ อุรัจฉัทชัยรัตน์ ซึ่งก็กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ จะผิดจะถูกไปคิดกัน ไปอ่านกัน ว่าหากเรามองไปรอบ ๆ ตัวแล้ว หลายประเทศในโลกก็ประสบปัญหาทางการเมืองคล้าย ๆ กัน อาจสังเกตได้ว่าปัญหาทางการเมืองใหญ่โตมากขึ้น ตามจำนวนประชากร แล้วก็เท่าที่เขาติดตามวิเคราะห์มาก็แนวโน้มในการที่ประชาชนจะเลือก จะงดออกเสียง ยังไม่นับกลุ่มคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อนักการเมือง พรรคการเมืองอะไรก็แล้วแต่ที่ผ่านมา

“ อันนี้ผมพูดถึงนอกประเทศ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยลง อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาเอง ผมยกตัวอย่างต่างประเทศให้ฟัง ที่เคยมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ เกือบร้อยละ 90 ในปี 1992 ลดลงมาเหลือ ประมาณ 66% ในปี 2012 ก็อาจกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยในรูปแบบของสภาผู้แทน นั้น อาจหมดสมัยไปแล้ว กลายเป็นยุค ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม" นายกฯกล่าว


พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า หลักการที่เขาว่ามามี 5 ประการที่ต้องคำนึงถึง ดังต่อไปนี้
1. ความซื่อสัตย์ เขาวงเล็บไว้ว่าของนักการเมือง นับเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญสุด ในการสร้างศรัทธาจากประชาชน โดยการเลือกตั้งนั้นจะต้องโปร่งใส นักการเมืองต้องเปิดเผย และยุติธรรม รวมทั้งต้องสื่อสารกับผู้คนด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ชัดเจน และเชื่อถือได้ รวมถึงให้ความสำคัญกับความคิดเห็น ใส่ใจกับความรู้สึกของประชาชน และต้องไม่บ่อนทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และจะต้องไม่โจมตีให้ร้ายผู้อื่น ผมก็พยายามทำตรงนี้อยู่ ผมไม่เคยไปริเริ่มไปให้ร้ายใครก่อนทั้งสิ้นเลย และผมก็จะไม่ไปตอบโต้อะไรกับท่านอีกต่อไป  ไม่ว่าจะใครก็ตาม
2. ความรับผิดชอบ (ของประชาชน) คือ เราจะต้องไม่สนับสนุนนักการเมืองที่เห็นแก่เงิน หรือ ใช้เงินในการลงทุนเพื่อเข้าสู่การเมือง และแสวงหาผลประโยชน์ให้ได้ในอนาคต 
3. การพึ่งพาอาศัยกัน โดยรัฐบาลที่ดี และมั่นคง ก็จะเกิดจากการที่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และสังคม ช่วยกันสร้างชุมชนที่แข็งแรง มีกฎเกณฑ์ และกฎหมาย ที่มีคุณภาพ แล้วก็ให้สอดคล้องกับบทบาทขององค์กรภาคเอกชนที่มีมากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายจำเป็นต้องหาแนวทางในการพึ่งพาอาศัย และเกื้อกูลกันในการก้าวไปข้างหน้า อันนี้เราก็มีประชารัฐไง ก็ค่อนข้างจะตรงกับเขาอยู่เหมือนกัน ตรงนี้
4. การเข้าถึงจิตใจประชาชน 
5. ความโปร่งใสซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทั้งยังเป็นแกนกลางที่สร้างความไว้วางใจ
 
“ วันนี้ผมอยากฟังปีหน้าขออย่างเดียวของขวัญปีใหม่ให้ผม ขออย่างเดียวพูดในเชิงสร้างสรรค์แค่นั้น ถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าใครจะเป็นรัฐบาลก็ยังไม่รู้ ถ้าท่านได้เป็นก็ต้องเจอปัญหานี้อยู่ดี แล้วท่านจะทำแบบเดิมเหรอ ผมคิดว่าประชาชนไม่ยอมกับการที่จะใช้งบประมาณแบบเดิมมันทำไม่ได้แล้ว” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ ผมฝากให้ช่วยกันใช้ความคิดว่า มีสิ่งใดบ้างที่จะมาช่วยแก้ปัญหาที่เป็น "ดินพอกหางหมู" เหล่านี้ ได้รวดเร็วขึ้น มีหลายประเด็นที่ต้องคิดถึงการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ มีปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นตามมา มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน โลกทุกวันนี้เป็นโลกาภิวัฒน์ เป็นพลวัตรนะครับ ทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการ จะทำอย่างไรให้เหมาะสม เรื่องกองทุนการออมอะไรเหล่านี้ ต้องมาดูทั้งหมด ต้องสร้างระบบขึ้นมาเพื่อจะทดแทนระบบเดิม ๆ อาจจะไม่สมบูรณ์เราต้องช่วยกัน 

“ ทุกอย่างต้องมีคนได้คนเสีย แต่ถ้าเราไม่ปรับมันก็จะเสียทั้งหมดในอนาคต ถ้าปรับวันนี้มันมีส่วนเสียน้อย คนได้มาก ก็ต้องจำเป็น แต่วันหน้าถ้าไม่เปลี่ยนเลย ไม่แก้ไขเลย มันก็จะเสียไปทั้งหมด แล้วเราก็จะล้มเหลวไปทั้งประเทศ เราต้องช่วยกันประคับประคอง ช่วยกันสร้างประชาธิปไตยของเราให้มั่นคงยั่งยืน อย่างมีส่วนร่วมที่ช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันแกะ อย่าได้ช่วยกันเกาอย่างเดียว ก็ไม่หาย แผลก็เป็นสะเก็ดไปเรื่อย อย่าได้ผูกเงื่อนรัดคอกัน อีกต่อไปเลย” นายกฯระบุ

////__/_//_