เพื่อไทย แถลงต้าน ม.44 แก้ พรป.พรรค ชี้ ใช้อำนาจตามใจ หวังอยู่ยาว จ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อไทย แถลงต้าน ม.44 แก้ พรป.พรรค ชี้ ใช้อำนาจตามใจ หวังอยู่ยาว จ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ที่ทำการพรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรค นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.จังหวัดเชียงราย แถลงข่าวคัดค้านการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560


โดยแกนนำ พรรคเพื่อนไทย อ่านแถลงการณ์ ดังนี้ : ตามที่หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ดังนี้

 

 

1. การกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมือง ถ้าประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป ต้องยื่นหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรคและแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม พร้อมชำระค่าบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว หากไม่มีการดำเนินการถือว่าพ้นสมาชิก ซึ่งย่อมมีผลว่า นับแต่ออกคำสั่งนี้ สมาชิกพรรคไม่สามารถจะใช้สิทธิหน้าที่ในฐานะสมาชิกพรรคได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการ ลบล้างสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด การให้สมาชิกยืนยันพร้อมแสดงหลักฐานไม่ต่างกับการสมัครสมาชิกพรรคใหม่ คำสั่งนี้จึงมีผลทำให้สมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมไม่มีสถานะตามกฎหมายเป็นสมาชิกพรรค จนกว่าจะมีการทำหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรค ซึ่งถือว่าเป็นการรีเซ็ตสมาชิกพรรค 

2. การกำหนดให้การจัดประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อแก้ไขข้อบังคับ การเลือกกรรมการบริหาร การจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ต้องทำภายใน 180 วัน นับแต่มีการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 นั้น เป็นความไม่แน่นอนอย่างยิ่งว่า คสช. จะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด หากไปยกเลิกใกล้ๆ วันเลือกตั้ง พรรคก็ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ทัน และอาจ ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ 

3. กำหนดให้ดำเนินการต่างๆ จะต้องขออนุญาต คสช. ก่อน และถ้าจะขอขยายเวลา ก็ทำได้เพียงหนึ่งเท่าของเวลาเดิม ทั้งที่ตามกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้ขยายได้ถึง 3 ปี และหากดำเนินการไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและห้ามมิให้จัดสรรเงินอุดหนุนให้พรรคการเมือง เท่ากับเป็นการล็อคพรรคการเมืองไว้สองชั้น และเกิดความ ไม่แน่นอนแก่พรรคการเมือง 

4. กำหนดให้พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่สามารถดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมือง จัดประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหาร จัดทำข้อบังคับได้ เพียงแต่การจัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อนเท่านั้น ยิ่งถือเป็นความไม่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย มิใช่ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม 

พรรคเพื่อไทย เห็นว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว ขัดต่อบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญ ขาดความชอบธรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้จัดตั้งพรรค เพื่อปูทางให้ คสช. ได้สืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งล้วน เป็นการทำลายพรรคการเมืองเดิม มิได้เป็นการช่วยเหลือตามที่อ้างแต่อย่างใด

พรรคเพื่อไทยจึงขอแถลงคัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ดังนี้ 

ข้อ 1. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนด้วยการออกเสียงประชามติ ประชาชนจึงเป็นผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขไว้อย่างชัดเจน ขณะนี้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ตามมาตรา 263 การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจึงต้องกระทำโดย สนช. แต่ คสช. เป็นเพียงองค์ ที่ได้อำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากรัฐธรรมนูญอีกทอดหนึ่ง การที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเข้าใช้อำนาจแทน สนช. นั้น จึงไม่อาจทำได้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18 – 22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 

ข้อ 2. การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ประกอบมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 นั้น ต้องไม่ใช่เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การที่หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 53/2560 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา หรือ สนช. ในปัจจุบันนั้น นอกจากไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 44 เพราะมิได้เป็นไปเพื่อปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่ใช่เพื่อสร้างเสริมความสามัคคีปรองดอง หรือเพื่อป้องกัน ระงับปราบปรามการกระทำ ที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง เศรษฐกิจของประเทศหรือราชการแผ่นดินแล้ว การกระทำดังกล่าวยังถือเป็นการลบล้าง (Overrule) กระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญด้วย และเหตุที่ คสช. ออกคำสั่งดังกล่าวก็เพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองก่อขึ้นจากการออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคดำเนินกิจการทางการเมืองและคงข้อห้ามตามคำสั่งดังกล่าวไว้โดยไม่มีเหตุผล การออกคำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่มีความชอบธรรม 

ข้อ 3. การกระทำของหัวหน้า คสช. เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การคงข้อห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จะประกาศใช้แล้ว ก็ยังไม่ยอมยกเลิก ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพของบุคคลในการรวมตัวกันจัดตั้ง พรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองประกาศใช้ ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการในเรื่องต่างๆ คสช. ก็ยังไม่ยกเลิกประกาศดังกล่าว มาวันนี้ หัวหน้า คสช. กลับมาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายพรรคการเมือง โดยกำหนดให้รีเซ็ตสมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิม กำหนดเงื่อนไขที่การดำเนินการต่างๆ ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. อีก การจะจัดประชุมใหญ่ตามที่กฎหมายกำหนดหรือการจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ก็ต้องรอให้ คสช. ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ก่อน อันเป็นการกระทำที่ คสช. และหัวหน้า คสช. ไม่เคย ให้ความสำคัญและเคารพต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพ ของผู้อื่นเลย ทั้งที่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ มิได้มาจากพรรคการเมือง แต่เกิดจาก คสช. ทั้งสิ้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองของประชาชน 

ข้อ 4. พรรคเห็นว่า การดำเนินการของ คสช. จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง ที่ต้องการสนับสนุนให้ คสช. และหัวหน้า คสช. สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไป โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ สามารถจัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรค การเลือกกรรมการบริหารพรรค การจัดทำข้อบังคับพรรคได้โดยเพียงขออนุญาตจัดประชุมต่อ คสช. ก่อนเท่านั้น แต่พรรคการเมืองเดิม กลับไม่สามารถทำได้ ประกอบกับมีข้อเท็จจริงว่า ก่อนออกคำสั่ง เพียงไม่กี่วัน มีการเรียกร้องจากบางกลุ่มการเมืองให้มีการรีเซ็ตสมาชิกพรรคใหม่ โดยอ้างเรื่องความเท่าเทียมของพรรคการเมืองเดิมและพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งคำสั่ง ของหัวหน้า คสช. ก็ออกมาสอดคล้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าว การดำเนินการของหัวหน้า คสช. จึงมิใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง บนความเสมอภาคเท่าเทียมตามที่กล่าวอ้าง แต่กลับเป็นไปเพื่อทำลายพรรคการเมืองเดิม และสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่มากกว่า 

ข้อ 5. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 (5) กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่และอำนาจดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 23 กำหนดให้คณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้ตอบข้อหารือของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง และตามกฎหมายดังกล่าวก็บัญญัติให้ประธานกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนั้นๆ แต่ในคำสั่งข้อ 7 กลับกำหนดเพิ่มอำนาจให้ คสช. มีอำนาจตอบข้อหารือดังกล่าวได้ จึงถือว่า คสช. ใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มอำนาจให้ตนเองเข้าไปแทรกแซงในกระบวนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย คสช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว นอกจากนี้ตามคำสั่ง ข้อ 8. ที่กำหนดให้องค์กรซึ่งเป็นองคาพยพของ คสช. หารือกับคณะกรรมการเลือกตั้งเพื่อร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอน การดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งนั้น มีผลเท่ากับว่า คสช. เข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการเลือกตั้งในการทำกิจกรรมทางการเมืองและการเลือกตั้ง ทั้งที่การดำเนินการต่างๆ มีกฎหมายบัญญัติอำนาจหน้าที่และขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวไว้แล้ว 

ข้อ 6. การกำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินการต่างๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบระยะเวลาในเดือนตุลาคม 2561 หรือจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้มีการยกเลิกประกาศของ คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า มีเจตนาซ่อนเร้นว่าจะมีการเลื่อนกำหนดวันเลือกตั้งเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ออกไป เพราะเมื่อถึงเวลาดังกล่าว พรรคการเมืองไม่อาจดำเนินการหรือส่งผู้สมัคร รับเลือกตั้งได้ทัน ก็จะเป็นเหตุผลและข้ออ้างของ คสช. ให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งได้ 
 

เพื่อไทย แถลงต้าน ม.44 แก้ พรป.พรรค ชี้ ใช้อำนาจตามใจ หวังอยู่ยาว จ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อไทย แถลงต้าน ม.44 แก้ พรป.พรรค ชี้ ใช้อำนาจตามใจ หวังอยู่ยาว จ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อไทย แถลงต้าน ม.44 แก้ พรป.พรรค ชี้ ใช้อำนาจตามใจ หวังอยู่ยาว จ่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

 

พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้างต้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยมิได้เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ทำลายระบบพรรคการเมืองและสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เพิ่มภาระให้แก่สมาชิกพรรคเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น เปิดช่องให้มีการตั้งพรรคการเมือง เพื่อสนับสนุนให้ คสช. และหัวหน้า คสช. ได้อยู่ในอำนาจต่อไป และเมื่อหัวหน้า คสช. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย การออกคำสั่งดังกล่าวถือเป็นการใช้อำนาจเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง อันขัดต่อหลักธรรมาภิบาล จึงขอให้ คสช. ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว รวมถึงประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 อันเป็นต้นเหตุแห่งข้ออ้างของ คสช.ในการออกคำสั่งฉบับนี้ด้วย ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้ยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป