จับตา“จาตุรนต์”ออกปฏิบัติการลดเครดิต คสช. ชิงความได้เปรียบก่อนเลือกตั้ง ลุย การเมืองระอุ ปี 61

จับตา“จาตุรนต์”ออกปฏิบัติการลดเครดิต คสช. ชิงความได้เปรียบก่อนเลือกตั้ง ลุย การเมืองระอุ ปี 61

หากสังเกตจะเห็นว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย ขยันออกหมัดวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยเฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ค่อนข้างถี่ ซึ่งนั่นเป็นเพราะเจ้าตัวประกาศตั้งแต่ปีใหม่แล้วว่า จะออกมาพูดเรื่องต่างๆให้มาก เนื่องจากปี 2560 ที่ผ่านมานั้น ยังพูดไม่มากเท่าที่ควร 

วันที่ 3 มกราคม นายจาตุรนต์ เริ่มปฏิบัติการตามที่ได้ประกาศไว้ โดยเริ่มจากการวิจารณ์ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในกรณีการครอบครองแหวนเพชรและนาฬิกาหรู ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงที่มา เนื่องจาก “บิ๊กป้อม” ไม่ได้แจ้งเครื่องประดับเหล่านั้นไว้ในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จึงเกิดคำถามถึงความชอบด้วยกฎหมาย 
 

 

 

นายจาตุรนต์ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องคาใจแห่งปี ที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามให้กระจ่างแจ้งถึงข้อเท็จจริง ทั้งที่ไม่ใช่ซับซ้อนใดๆเลย

โดยตั้งคำถามและข้อสังเกตว่า

1. นาฬิกาที่ปรากฏในภาพอยู่บนข้อมือของ พล.อ.ประวิตรนั้นเป็นนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร จริงหรือไม่ ?

2.พล.อ.ประวิตร ได้นาฬิกาเหล่านี้มาตั้งแต่เมื่อใด ก่อนหรือหลังการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ครั้งล่าสุด ซึ่งจะนำไปสู่คำถามอีกหลายคำถาม (บางคนอาจจะถามคำถามง่ายๆก่อนเลยว่า ตกลงเจอนาฬิกากี่เรือนแล้ว)

3. ถ้านาฬิกาเหล่านั้นอยู่ในความครอบครองของ พล.อ.ประวิตร จริงและ พล.อ.ประวิตรได้นาฬิกาเหล่านี้ มาก่อนการยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุด ย่อมมีคำถามว่า เหตุใดจึงไม่รายงานไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อป.ป.ช. จะอ้างว่าลืมหรือเผอเรอคงไม่ได้ เพราะมีหลายเรือนเหลือเกิน หากพลเอกประวิตรชี้แจงไม่ได้ ก็อาจจะถูกตั้งข้อหาจงใจปกปิดทรัพย์สินและร่ำรวยผิดปรกติ  

ต่อมาวันที่ 4 มกราคม ถึงคราวที่ต้องวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ โดยนายจาตุรนต์ ได้หยิบยกประเด็นที่ “บิ๊กตู่” ออกตัวยอมรับว่าเป็นนักการเมือง ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดมาโดยตลอด นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศว่าไม่ใช่นักการเมือง และมีการวิจารณ์นักการเมืองเรื่อยมาจนถึงวันนี้ โดยนายจาตุรนต์วิพากษ์เรื่องดังกล่าวว่า พอมีคนเสนอให้หาทางป้องกันไม่ให้รัฐบาลทหารครองอำนาจต่อไปอีกนานๆ พล.อ.ประยุทธ์ก็รู้สึกเดือดร้อน ต้องออกมาปฏิเสธว่า ตนไม่ใช่รัฐบาลทหาร แต่เป็นนักการเมือง ที่พูดอย่างนี้ ความจริงก็ไม่มีอะไรมาก เพียงต้องการที่จะไม่ให้ตนเองต้องตกเป็นเป้าและลดแรงต่อต้านที่มีต่อรัฐบาลทหาร เพื่อให้ตนเองอยู่นานๆและสามารถกลับเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้งหลังการเลือกตั้ง

และกล่าวว่า “การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาบอกว่า ตนเองเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหารจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ายินดีอะไร หากแต่เป็นเพียงเล่ห์เหลี่ยมที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการใช้เพื่อลดกระแสคัดค้านรัฐบาลทหารและเพื่อให้ตนเองอยู่ในอำนาจต่อไปอีกนานๆเท่านั้นเอง”

วันต่อมา 5 มกราคม นายจาตุรนต์ ได้ย้ำเรื่องเดิม ผ่านทวิตเตอร์ว่า “ที่พล.อ.ประยุทธ์พูดว่า ไม่ตัดทางตัวเองที่จะเป็นนายกฯคนนอก และเมื่อมีนายกฯคนนอกตามระบบ ก็จะไม่มีการปฏิวัติอีกแล้ว ก็คือ คำขู่ดีๆนี่เอง ปัญหาของพล.อ.ประยุทธ์ในการจะเป็นนายกฯคนนอก ก็คือ ประชาชนจะว่าอย่างไรและจะหาส.ส. 250 คนมาจากไหน ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯคนนอก ผมมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้านอย่างแน่นอน”
 

 

 

ความเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ของนายจาตุรนต์ จะมีไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มดีกรีดุเด็ดเผ็ดมันขึ้นทุกขณะ ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุขึ้นทุกที นั่นเพราะไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ ต่ามองไปในทิศทางเดียวกันว่า  คสช.เตรียมต่อท้ออำนาจโดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง 

ขณะที่นายจาตุรนต์ เห็นว่า ในสถานการณ์ที่ คสช.ชิงความได้เปรียบทางการเมืองอยู่นี้ มีความจำเป็นที่จะต้องออกตัวตอบโต้ผ่านสื่อ เพื่อการรับทราบทั่วกันของสาธารณชน ยิ่งในปี 2561 ซึ่งเป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะเป็นปีแห่งประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ยิ่งต้องออกมาพูดอย่างไม่เว้นแต่ละวัน

 

จับตา“จาตุรนต์”ออกปฏิบัติการลดเครดิต คสช. ชิงความได้เปรียบก่อนเลือกตั้ง ลุย การเมืองระอุ ปี 61

 

จับตา“จาตุรนต์”ออกปฏิบัติการลดเครดิต คสช. ชิงความได้เปรียบก่อนเลือกตั้ง ลุย การเมืองระอุ ปี 61