รัฐบาล เตรียมออกกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนที่ทุนเกิน 5,000 ล้าน คาดเสนอครม.มี.ค.นี้

รัฐบาล เตรียมออกกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนที่ทุนเกิน 5,000 ล้าน คาดเสนอครม.มี.ค.นี้

นับเป็นอีกเรื่องที่  เกิดผลกระทบกับประชาชนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์  มีการสูญเสียเงินมูลค่ามหาศาล จากการถูกฉ้อโกง ครั้งแล้ว ครั้งเล่า  ขณะที่รัฐบาลพยายามเร่งหาทางแก้ไข 

ล่าสุดนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมหารือแนวทางการเสนอกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ร่วมกับผู้แทนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
 

 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พ.ศ. ... เพื่อรองรับการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ภายใต้ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ โดยมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล

โดยมีสาระสำคัญ คือ ในเบื้องต้นจะกำกับดูแลสหกรณ์ที่มีสินทรัพย์เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ปัจจุบันมี 134 แห่ง ส่วนโครงสร้างการกำกับดูแล จะมีคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ด้านการกำกับการส่งเสริมและพัฒนา พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขและแนวปฏิบัติในการกำกับสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ และกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองเงินฝากสหกรณ์ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ด้วย เพื่อเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสหกรณ์และระบบการเงินของประเทศให้มั่นคงมากขึ้น 

“ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหาวิธีการกำกับดูแลที่เหมาะสม ซึ่งจากการหารือกับตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ มีความเห็นตรงกันในเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมากำกับ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ระบบสหกรณ์เดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงต้องการให้มีการประกันเงินฝากของสหกรณ์ และต้องการอยู่กับกระทรวงเกษตรฯ เหมือนเดิม ซึ่งหากสหกรณ์ขนาดใหญ่เข้มแข็ง ก็จะเป็นพี่เลี้ยงกับสหกรณ์ขนาดเล็ก และทำหน้าที่เป็นหัวขบวนที่เข้มแข็งในการสร้างสิ่งใหม่ๆ สร้างแนวคิดใหม่ๆ” นายกอบศักดิ์ กล่าว

 

 

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า คาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากขบวนการสหกรณ์ ประมาณเดือน ก.พ. 2561และคาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ ก่อนจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามขั้นตอน และจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อบังคับใช้ต่อไป