รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ชี้ประเด็นอาหารสนามบิน ตรวจสุวรรณภูมิ  16 ม.ค. !!!

รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ชี้ประเด็นอาหารสนามบิน ตรวจสุวรรณภูมิ 16 ม.ค. !!!

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 
และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงกรณีที่มีการระบุว่าการให้สัมปทานบริหารพื้นที่ในสนามบินทำให้ค่าอาหารแพงว่า แนวคิดการให้สัมปทานมีมานานแล้ว 
เดิมสนามบินดอนเมืองบริหารจัดการเอง แต่มีปัญหามากมายทั้งในเรื่องของความสะอาด ผู้เช่ามีหลากหลาย พอเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีสนามบินสุวรรณภูมิจึงเปิดให้มีผู้บริหารจัดการเจ้าเดียวมาดำเนินการ 
ก็เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเปิดให้บริหารจัดการ และก็มีการเช่าช่วงต่อ ซึ่งในวันที่ 16 มกราคม ตนจะลงพื้นที่ไปดูที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย โดยเห็นว่าร้านอาหารที่ดีควรมีความหลากหลาย 
ทั้งคุณภาพ ปริมาณ จึงเป็นที่มาของการจัดการ ส่วนประเด็นถูกหรือแพงควรให้ผู้บริโภคเป็นคนเลือก บางคนอยากจะนั่งสบายมีคนเสิร์ฟ บางคนอยากได้อาหารที่เป็นกันเอง ยินดีบริหารตัวเอง ก็เป็นทางเลือก 
สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองจึงใช้รูปแบบนี้

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ทั้งนี้คงต้องไปดูว่าได้มีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบหรือไม่ว่ามีทางเลือกขนาดนั้น โดยปัจจุบันมีทางเลือกแม้กระทั่งว่าผู้โดยสารชาวจีนจะมีกระบอกชาเพื่อเติมน้ำร้อน โดยที่ดอนเมืองมี 40 จุด 
ส่วนสุวรรณภูมิมีเป็น 100 จุด แต่จะชอบรูปแบบที่ดำเนินการอยู่หรือไม่นั้น ก็คงต้องรอให้สัญญาสัมปทานหมดก่อน แล้วค่อยมาหารือเพื่อเปลี่ยนวิธีกันซึ่งเหลืออีกประมาณ 2-3 ปี แต่คาดว่าอีกประมาณ 1 ปีกว่าๆจะเริ่มประมูลใหม่แล้ว

“วันที่ 16 ม.ค.จะไปดูว่าประเด็นที่บอกว่าแพงนั้น แพงจริงหรือไม่ แพงแบบมีทางเลือกหรือไม่มีทางเลือก ก็คงต้องแยกเป็นประเด็น คือ เรื่องของการปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ต้องแยกจากนั้น 
แล้วแนวทางที่ให้รายเดียวบริหารจัดการในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองดีหรือไม่ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง”นายไพรินทร์ กล่าว

นายไพรินทร์ กล่าวว่า การสร้างสนามบินแห่งหนึ่งใช้เงินมหาศาล และต้องเข้าใจด้วยว่าพื้นที่ให้บริการในสนามบินเป็นพื้นที่ยากลำบาก โดยที่ดอนเมืองเปิดบริการตั้งแต่ 04.00 น. ส่วนสุวรรณภูมิเปิดตลอดเวลา 
ร้านอาหารเหล่านี้เปิดประมาณ 16-18 ชั่วโมง ก็ต้องมีค่าแรงงานด้วย ส่วนที่ต้องจ่ายให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท.ก็อีกเรื่องหนึ่ง การให้บริการในระยะเวลายาวนานมาก เรื่องของความสะอาด 
ความปลอดภัยต่างๆก็คงเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงด้วย

“ถูกหรือแพง มาตรฐานคนไทยก็อย่างหนึ่ง แต่หากเป็นคนเดินทางต่างประเทศเรื่อยๆ เช่น ไปอเมริกา ผมกินอาหารร้อนปรุงตอนนั้น ไม่ใช่ใส่ไมโครเวฟ ก็จะอยู่ที่ 7 เหรียญ หรือไปยุโรป ก็จะ 8-9 ยูโร ซึ่งหากคิดของบ้านเราอาหารร้อนปรุงสด 60 บาท 
ก็ประมาณ 2 เหรียญ ส่วนนักท่องเที่ยวแบกเป้เข้ามาก็ใช้บริการร้านสะดวกซื้อ ซึ่งก็มีบะหมี่กระป๋องราคา 15 บาท น้ำร้อนฟรี อิ่มด้วย ดังนั้นบ้านเรามีทางเลือกมากมาย”

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ราคาที่จำหน่ายในปัจจุบันเป็นแบบนี้มีมา 8-9 ปีแล้ว ก็ยังสงสัยอยู่ว่าทำไมถึงออกมาพูดในตอนนี้ ซึ่งจริงๆก็เริ่มเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2549 แล้ว แต่หากมองระบบนี้ไม่ดีก็เปลี่ยนได้ในอนาคต

“ถูกแพงเป็นความรู้สึก หากไปหยิบของแพงมาพูดก็บอกว่าแพง แต่หากหยิบของถูกมาพูดก็เป็นของถูก จึงอยากให้แยกเรื่องถูกแพงออกจากเรื่องที่ว่าปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งได้สั่งการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)
หรือ ทอท. จัดตั้งคณะกรรมการและพิสูจน์เรื่องนี้ จากนั้นก็รายงานให้ทราบ ซึ่งสัญญาก็กำหนดว่าราคาจะต้องไม่เกิน 25% ของราคาในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ดังนั้นประเด็นก็เป็นเรื่องของการคุมราคาให้เป็นสัญญาหรือไม่”

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กรณีเรื่องราคาอาหารในสนามบินที่มีหลายคนออกมาระบุว่าแพงนั้น พื้นที่ร้านอาหารอยู่ในพื้นที่ของกระทรวงคมนาคม 
สิ่งที่กระทรวงการท่องเที่ยวจะช่วยได้ คือ เรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้รู้ เช่น อาหารราคาที่ย่อมเยาถูกจัดไว้อย่างไร มีโครงสร้างราคาแบบไหน อาหารในนั้นมีอะไรบ้าง 
โดยกระทรวงจะเป็นเพียงผู้รับโจทย์จากผู้ใช้บริการมาเอามาบอก ส่วนการแก้ไขปัญหาก็เอามาหารือกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง บางเรื่องติดขัดสัญญาสัมปทานกระทรวงการท่องเที่ยวก็คงทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ 
แต่ก็สามารถนำไปอธิบายบอกลูกค้าต่อไปได้ว่ามีการจัดการอะไรกันอยู่

รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ชี้ประเด็นอาหารสนามบิน ตรวจสุวรรณภูมิ  16 ม.ค. !!!

ขอบคุณภาพ ข้อมูล จาก : สำนักข่าวตรงประเด่น @tongprader