รัฐบาล  เดินหน้าแก้ปัญหายางพารา พร้อมสนับสนุนชาวสวนยาง- ผู้ประกอบการ ดำเนินการมาตรฐาน FSC

รัฐบาล เดินหน้าแก้ปัญหายางพารา พร้อมสนับสนุนชาวสวนยาง- ผู้ประกอบการ ดำเนินการมาตรฐาน FSC

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานผลการหารือระหว่าง 4 สมาคมยางพารา คือ สมาคมยางพาราไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งประเทศไทย และสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ทั้ง 4 สมาคมต้องการให้รัฐสนับสนุนให้สวนยางพาราของเกษตรกรได้รับมาตรฐานของสภาพิทักษ์ป่า (FSC) โดยมาตรฐาน FSC เป็นมาตรฐานที่กำหนดให้พื้นที่สวนยางพาราต้องปลูกในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามบุกรุกป่า เพื่อความยั่งยืนของป่า 

โดยนายกฯ อยากให้เกษตรกรชาวสวนยางรับทราบข้อมูลนี้อย่างทั่วถึง และพยายามปรับตัวตามสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยย้ำว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลส่งเสริมมาตลอด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย จัดโซนนิ่งการเพาะปลูก ช่วยควบคุมปริมาณยางพาราให้เหมาะสม ทำให้ราคายางในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือผู้ประกอบกิจการยางพาราต้องการส่งออกยางไปขายยังตลาดสหภาพยุโรป (อียู) หรือสหรัฐอเมริกา ก็ต้องปฏิบัติตามแนวทางนี้

รัฐบาล  เดินหน้าแก้ปัญหายางพารา พร้อมสนับสนุนชาวสวนยาง- ผู้ประกอบการ ดำเนินการมาตรฐาน FSC

 ปัจจุบันประเทศไทยมีสวนยางพารามากกว่า 10 ล้านไร่ แต่ได้มาตรฐาน FSC ประมาณ 50,000 ไร่ และปัจจุบันอียูก็ได้ออกประกาศว่า อีก 3 ปีข้างหน้าจะไม่รับซื้อผลิตภัณฑ์จากยางพารา เช่น เฟอร์นิเจอร์ น้ำยาง ยางแผ่น ไม้ยาง ฯลฯ ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจึงเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และขอให้ภาครัฐสนับสนุนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ยางไทยมีมาตรฐานเดียวกับคู่ค้าในอียูและสหรัฐฯ 

ซึ่ง รัฐบาลยินดีรับฟังและสนับสนุนชาวสวนยางและผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ และขอเชิญชวนให้ชาวสวนยางทั่วไปหันมาใช้แนวทางนี้ โดยหากสวนยางพาราของไทยผ่านมาตรฐานดังกล่าว ก็จะทำให้มีโอกาสขยายตลาดไปยังประเทศอื่นที่มีศักยภาพ เพิ่มเติมจากตลาดหลักอย่างจีน และจะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ยางที่มีมาตรฐานระดับสากลให้สูงขึ้นด้วย

ขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งแก้ปัญหายางพารา  ล่าสุดนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์  ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังปลัดกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหาร เพื่อแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก และมีปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำนั้น ขอให้คณะอนุกรรมการฯ จังหวัด (อ.พ.ก.) ได้มอบให้คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation) เป็นหน่วยดำเนินการต่อไป 

ดังนี้ 1.ขอให้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ เพื่อทดแทนการปลูกยาง ซึ่งมีหลักการรองรับการพัฒนาอาชีพปลูกยางพาราที่จะมีให้เลือกคือ การเปลี่ยนอาชีพจากการทำสวนยางมาทำเกษตรกรรมใหม่ที่มีตลาดรองรับ หรือมีโอกาสที่เกษตรกรจะมีรายได้มากกว่าการทำสวนยาง

2.เกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มและมีสวนยางหรือแปลงยางติดกัน หรือใกล้เคียงกันในตำบลหรือหมู่บ้านเดียวกัน โดยมีขนาดเนื้อที่รวมกันตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป คล้ายหลักการในโครงการเกษตรแปลงใหญ่ 

3.ส่วนผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรมใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพทำสวนยางมาทำเกษตรกรรมใหม่ ตามคำแนะนำของทางราชการนั้น ทางราชการจะรับผิดชอบดูแลสนับสนุนปัจจัยการผลิตและการตลาดรวมทั้งหาอาชีพเสริมในช่วงรอผลผลิตทางการเกษตรกรรมใหม่ที่จะขายได้ด้วย จากนั้นให้รวบรวมรายชื่อเกษตรกรและจำนวนพื้นที่แปลงสวนยางที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ว่า แต่ละจังหวัดมีจำนวนพื้นที่แปลงใหญ่กี่แปลง แต่ละแปลงมีขนาดพื้นที่กี่ไร่ และกลุ่มเกษตรกรเจ้าสวนยางเหล่านั้นมีการจดทะเบียนกลุ่ม/วิสาหกิจหรือเป็นสมาชิกสหกรณ์หรือไม่

ด้านระดับนโยบายทางคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเอกชนในส่วนกลาง เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการตลาดของผลผลิตเกษตรกรรมตามโครงการเกษตรแปลงใหญ่และโครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมใหม่ทดแทนการทำสวนยางและจะแจ้งผลให้จังหวัดทราบต่อไป