รัฐบาลสั่งควบคุมสินค้าและบริการ 47 รายการ  ไก่อูแจงเหตุผลกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม ย้ำเป็นเพียงมาตรการป้องกันปัญหาด้านราคาในอนาคต

รัฐบาลสั่งควบคุมสินค้าและบริการ 47 รายการ ไก่อูแจงเหตุผลกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม ย้ำเป็นเพียงมาตรการป้องกันปัญหาด้านราคาในอนาคต ชี้ปัจจุบันการ

วานนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2560 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ จำนวน 47 รายการ จำแนกเป็น 42 สินค้า และ 5 บริการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยแบ่งเป็น 10  หมวดดังนี้

รัฐบาลสั่งควบคุมสินค้าและบริการ 47 รายการ  ไก่อูแจงเหตุผลกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม ย้ำเป็นเพียงมาตรการป้องกันปัญหาด้านราคาในอนาคต

1. หมวดอาหาร จำนวน 18 รายการ คือ (1) กระเทียม (2) ข้าวเปลือก ข้าวสาร (3) ข้าวโพด (4) มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ (5) ไข่ไก่ (6) สุกร เนื้อสุกร (7) น้ำตาลทราย (8) น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ (9) ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน (10) นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว (11) แป้งสาลี (12) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (13) อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก (14) ผลปาล์มน้ำมัน (15) ข้าวสาลี (16) ลำไย (17) ทุเรียน (18) มังคุด
2. หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน จำนวน 3 รายการ คือ (19) ผงซักฟอก (20) ผ้าอนามัย (21) กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า
3. หมวดปัจจัยทางการเกษตร จำนวน 6 รายการ คือ (22) ปุ๋ย (23) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช (24) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ (25) เครื่องสูบน้ำ (26) รถไถนา (27) รถเกี่ยวข้าว
4. หมวดวัสดุก่อสร้าง จำนวน 4 รายการ คือ (28) ปูนซีเมนต์ (29) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น (30) สายไฟฟ้า (31) ท่อพีวีซี
5. หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ จำนวน 3 รายการ คือ (32) กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว (33) กระดาษพิมพ์และเขียน (34) เยื่อกระดาษ
6. หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง จำนวน 3 รายการ คือ (35) แบตเตอรี่รถยนต์ (36) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ (37) รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก
7. หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม จำนวน 3 รายการ คือ (38) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (39) น้ำมันเชื้อเพลิง (40) เม็ดพลาสติก
8. หมวดยารักษาโรค จำนวน 1 รายการ คือ (41) ยารักษาโรค
9. หมวดอื่นๆ จำนวน 1 รายการ คือ (42) เครื่องแบบนักเรียน
และ 10. หมวดบริการ จำนวน 5 รายการ คือ (43) การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า (44) บริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า (45) บริการทางการเกษตร (46) บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ และ (47) บริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์
 

ล่าสุด พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายดังกล่าว ว่า

"โดยปกติแล้วหากสินค้าใดเป็นสินค้าควบคุม จะทำให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือติดตามดูข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้านั้นได้ เช่น ตรวจสอบราคาทุน ราคาซื้อ ราคาขาย ฯลฯ พร้อมทั้งกำหนดให้มีมาตรการที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย

ดังนั้น การกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมการไว้สำหรับแก้ไขปัญหาราคายางพาราในอนาคต หากเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับผู้ผลิต เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้บริโภค หรือผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายยางพาราเท่านั้น"

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมทั้งย้ำว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยางพาราในส่วนราชการต่าง ๆ มากขึ้น และสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ได้แปรรูปยางพาราไปใช้ในกิจการอื่น ๆ รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการไว้ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่าย

"ปัจจุบันการซื้อขายยางพารายังคงเป็นไปตามปกติ โดยกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราแต่อย่างใด นอกจากนี้ คณะกรรมการกลางฯ มีหน้าที่ต้องพิจารณาทบทวนรายการสินค้าควบคุมทุก ๆ 1 ปี เพื่อดูว่าสินค้าแต่ละรายการยังสมควรเป็นสินค้าควบคุมอีกต่อไปหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็น ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาถอดสินค้านั้นออกจากรายการสินค้าควบคุมได้"