รฟท.-ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ? รัฐมนตรีที่กำกับดูแลช่วยรักษาผลประโยชน์ชาติ หน่อยได้ไหม???

วันที่ 18 ม.ค. ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีโครงการความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ทางรถไฟจาก อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ไปยังคลังก๊าซในจังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ และลำปาง โดย รฟท.มอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้ลงทุนจัดหาหัวรถจักรจำนวน 5 คัน และรถโบกี้บรรทุกก๊าซแอลพีจีจำนวน 125 คัน พร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเป็นเวลา 25 ปี และรฟท.จะรับจ้างขนส่งก๊าซแอลพีจีให้ ปตท. โดยใช้หัวรถจักรและรถโบกี้บรรทุกก๊าซแอลพีจีที่ ปตท.จัดหามา

รฟท.-ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ? รัฐมนตรีที่กำกับดูแลช่วยรักษาผลประโยชน์ชาติ หน่อยได้ไหม???

อย่างไรก็ตาม ปตท.ไม่ต้องการจัดหาหัวรถจักรและรถโบกี้บรรทุกก๊าซเอง ด้วยเหตุนี้ ปตท.โดยฝ่ายวิศวกรรมและซ่อมบำรุงจึงได้เปิดประมูลให้เอกชนผู้สนใจมาเป็นผู้จัดหาและซ่อมบำรุงรักษาแทนตนภายใต้โครงการชื่อ “โครงการจ้างผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรถไฟ” ตามประกาศของ ปตท. เลขที่ จคจพ.60164 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนที่เข้าร่วมประมูล แต่การดำเนินการประมูลของ ปตท.มีสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตดังนี้

1. ไม่มีการเผยแพร่ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference หรือทีโออาร์)

โดยทั่วไปการประมูลทุกโครงการจะต้องมีการประกาศทีโออาร์ให้เอกชนผู้สนใจได้รับทราบทางเว็บไซต์ของเจ้าของโครงการ พร้อมทั้งให้ผู้สนใจแสดงความคิดเห็นต่อทีโออาร์ หรือที่เข้าใจกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นการทำประชาพิจารณ์ แต่โครงการนี้ไม่มีการประกาศทีโออาร์ เอกชนผู้สนใจจะรู้เนื้อหาสาระในทีโออาร์ก็ต่อเมื่อซื้อซองเอกสารประกวดราคาแล้ว จะเห็นด้วยกับทีโออาร์หรือไม่ก็ต้องทำตามรายละเอียดจำนวนมากในทีโออาร์ ซึ่งหากเอกชนรายใดไม่ได้รับรู้ข้อมูลล่วงหน้ามาก่อนก็ยากที่จะจัดเตรียมเอกสารได้ทันเวลาและได้ครบตามที่ทีโออาร์ระบุไว้ ทั้งนี้ ปตท.ได้ประกาศขายซองเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2560 และนัดฟังคำชี้แจงเอกสารในวันที่ 13 กันยายน 2560 หลังจากนั้นให้ยื่นซองเอกสารประกวดราคาในวันที่ 24 ตุลาคม 2560 จึงทำให้มีเวลาเตรียมเอกสารเพียง 28 วันทำการเท่านั้น ซึ่งถือว่าสั้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับเอกสารจำนวนมากทั้งเอกสารภายในและภายนอกประเทศ

2. ราคากลางอาจสูงเกินความเป็นจริง

เป็นเรื่องน่าแปลกมากที่โครงการนี้ไม่มีการประกาศราคากลางให้เอกชนผู้สนใจรับทราบ ต่างกับโครงการอื่นทุกโครงการที่จะต้องกำหนดราคากลางไว้และประกาศให้ผู้สนใจรับทราบ แต่แม้ว่า ปตท.ไม่ได้ประกาศราคากลางให้ทราบก็ตาม เอกชนผู้สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลพอจะคำนวณราคากลางได้ โดยคิดจากหลักประกันซองที่ ปตท.กำหนดไว้จำนวน 230 ล้านบาท ซึ่งโดยทั่วไปหลักประกันซองจะมีมูลค่า 5% ของราคากลาง ดังนั้น ราคากลางของโครงการนี้จะเท่ากับ 4,600 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการนี้มีราคากลาง 4,600 ล้านบาทจริง ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงเกินความเป็นจริงมาก กล่าวคือ โครงการนี้หาก รฟท.เป็นผู้จัดหารถและซ่อมบำรุงรักษาเอง ปตท.จะต้องจ่ายค่าจ้างให้ รฟท.ในการให้บริการขนส่งก๊าซแอลพีจีเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 6,400 ล้านบาท ซึ่งคำนวณจากอัตราค่าจ้างในปัจจุบัน โดยไม่มีส่วนลดจาก รฟท. แต่ในกรณีที่ ปตท.ลงทุนซื้อหัวรถจักร และรถโบกี้บรรทุกก๊าซเอง พร้อมทั้งเป็นผู้บำรุงรักษา รฟท.จะลดค่าจ้างให้ 42% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2,700 ล้านบาท พูดได้ว่าเงินจำนวน 2,700 ล้านบาทที่ รฟท.ลดให้ ปตท.นั้น เป็นการแลกกับการให้ ปตท.ไปจัดหารถและซ่อมบำรุงรักษา

รฟท.-ปตท.ทำอะไรกันอยู่ ? รัฐมนตรีที่กำกับดูแลช่วยรักษาผลประโยชน์ชาติ หน่อยได้ไหม???

ดังนั้น ปตท.ควรนำเงินจำนวน 2,700 ล้านบาท ไปจัดหาหัวรถจักรจำนวน 5 คัน และรถโบกี้บรรทุกก๊าซแอลพีจีจำนวน 125 คัน พร้อมทั้งซ่อมบำรุงรักษาเป็นเวลา 25 ปี นั่นหมายความว่า ปตท.ควรกำหนดราคากลางในการประมูลหาเอกชนผู้สนใจมาจัดหารถและซ่อมบำรุงรักษาแทนตนเป็นเงินจำนวน 2,700 ล้านบาท ไม่ใช่ 4,600 ล้านบาท มิฉะนั้น จะทำให้ ปตท.ต้องเสียผลประโยชน์จำนวนมาก เพราะหากกำหนดราคากลางเป็นเงินจำนวน 4,600 ล้านบาท และผู้ชนะการประมูลเสนอราคาใกล้เคียงกับราคากลางหรือประมาณ 4,600 ล้านบาท จะทำให้ ปตท.ต้องจ่ายแพงกว่าความเป็นจริงถึง 1,900 ล้านบาท (4,600-2,700)

โครงการนี้มีเอกชนผู้สนใจซื้อซองเอกสารประกวดราคาจำนวน 10 ราย แต่สามารถยื่นซองเข้าแข่งขันได้เพียง 2 ราย เท่านั้น คาดว่า ปตท.จะคัดเลือกและทำสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ในเร็วๆ นี้

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแล รฟท.และ ปตท.เร่งพิจารณาทบทวนโครงการความร่วมมือระหว่าง รฟท.กับ ปตท.ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ให้มีราคากลางที่เหมาะสม และเปิดโอกาสให้เอกชนผู้สนใจจำนวนหลายรายได้เข้าแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพกันอย่างจริงจัง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้น ปตท.อยู่ถึง 51.11% หากปตท.สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม

เรื่องแค่นี้อย่าให้ต้องถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลยครับ