ประยุทธ์ระบุเร่งพัฒนาประเทศ “รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ อินเตอร์เน็ต”  สร้างบรรยากาศดึงดูดการลงทุน  หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสร้างรายได้ท้องถิ่น

ประยุทธ์ระบุเร่งพัฒนาประเทศ “รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ อินเตอร์เน็ต” สร้างบรรยากาศดึงดูดการลงทุน หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยสร้างรายได้ท้องถิ่น

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2561 เวลา 20.15 น. ถึงการพัฒนาประเทศของรัฐบาลในอนาคตว่า   เราจะต้องทำทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ให้มีความสอดคล้อง เกื้อกูลกัน ในระดับชาติ รัฐบาลต้องเร่งสร้างทั้งบรรยากาศที่ดึงดูดการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น และอำนวยความสะดวก ทั้งในเรื่องกฎระเบียบ สิ่งอำนวยความสะดวก การคมนาคมขนส่ง การติดต่อสื่อสารส่วนในระดับท้องถิ่น ก็ต้องมียุทธศาสตร์ของตนเอง ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยวิเคราะห์จุดแข็ง จุดขาย ขยายผลไปสู่การปฏิบัติ โดยอาศัยกลไกประชารัฐในพื้นที่ก่อน รัฐบาลก็จะเข้าไปเสริม เติมเต็มในส่วนที่ขาด ก็จะบริหารราชการทั้งแกน X และแกน Y ภาพรวมการพัฒนาของประเทศในปัจจุบันนั้น มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ ดังนี้ ด้านคมนาคมขนส่ง ได้แก่

(1) การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง “มอเตอร์เวย์” 3 สายทางคือ เส้นทางหมายเลข 7 พัทยา - มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ในปี 2562 เชื่อมกับชลบุรี - พัทยา ที่สอดคล้องกับแผนการปรับปรุงโครงข่ายทางถนน พื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่ EEC เส้นทางหมายเลข 6 บางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการได้ในปี 2563  เส้นทางหมายเลข 81 บางใหญ่ - กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการได้ในปี 2563 เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเส้นทางที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม - ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร สายหาดใหญ่ - ชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะทาง 71 กิโลเมตรสายรังสิต - บางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร สายธนบุรี - ปากท่อ ระยะทาง 75 กิโลเมตร ซึ่งภายในปีนี้ จะเป็นการศึกษาความเหมาะสม การสำรวจออกแบบ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA รวมทั้งรูปแบบการให้เอกชนร่วมทุน และเป็นขั้นตอนการก่อสร้างต่อไป  

(2) โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีกำหนดการเปิดให้บริการ ตามลำดับดังนี้ ปีนี้ สายสีเขียวใต้  ปี 2563 จะเปิดให้บริการอีก 4 สาย คือ สายสีน้ำเงิน - สีเขียวเหนือ -  สีชมพู - และสีเหลือง ปี 2565 จะเปิดให้บริการ “ส่วนต่อขยาย”  ของ 3 สาย คือ สายสีน้ำเงิน สายสีเขียวเหนือและใต้ และช่วงปี 2566 - 2567 จะเปิดให้บริการอีก 3 สาย คือ สายสีม่วงใต้ สายสีส้ม ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่เมืองหลวงของประเทศด้วย ช่วงนี้คงต้องลำบากไปสักระยะหนึ่ง ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้สร้างอีก ในเมื่อเราไม่ได้สร้างกันมานานแล้ว สร้างพร้อม ๆ กันย่อมเกิดปัญหา แต่เราก็ต้องทำให้ได้ เพื่อวันหน้าการจราจรจะดีขึ้น ในพื้นที่เมืองหลวงของประเทศเราต้องแก้ให้ได้ทุกมิติ ที่สำคัญที่สุดคือการเคารพกฏจราจรด้วย

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ได้แก่ โครงการเน็ตประชารัฐพร้อมจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (Wi-Fi) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้บริการ หมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมายห่างไกลที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง  ซึ่งติดตั้งแล้วเสร็จครบจำนวน 24,700 หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปีที่แล้ว หากนับรวมกับหมู่บ้านที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงอยู่แล้ว 30,613 หมู่บ้าน ก็ถือได้ว่าประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าถึงแล้วกว่า 70% การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน และประชาชนในพื้นที่นั้นได้ดำเนินกิจกรรมคู่ขนาน คือ การฝึกอบรมครู กศน. จำนวน 1,000 คนให้เป็นวิทยากรแกนนำสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ 5 ครั้ง ทั่วประเทศ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมปีที่แล้วเช่นกัน ระยะต่อไป คือ การนำความรู้ไปพัฒนาขยายเครือข่ายสู่ผู้นำชุมชนในท้องถิ่นจำนวน 100,000 คน ซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมโยงขยายความรู้ไปสู่ประชาชนในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐประมาณ 1,000,000 คน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการใช้ประโยชน์ อย่างคุ้มค่าในอนาคต
 
ประโยชน์ที่จะได้รับ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้  (1) การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้แก่ ส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ด้อยโอกาส เข้าถึงความรู้และบริการของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาลทางไกล การเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เสริมสร้างความรู้พัฒนาฝีมือ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารทางการเกษตรได้มากขึ้น และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร ยกระดับเป็น Smart Farmer และเพิ่มศักยภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อีกทั้ง ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการภาครัฐ สามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาในเมือง สามารถกรอกคำร้องเพื่อขอคัดลอกข้อมูล คัดสำเนา ผ่านโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ เป็นต้น
(2) ด้านเศรษฐกิจ โอกาสการทำธุรกิจ เช่น การซื้อขายในรูปแบบ e-Commerce การค้าขายออนไลน์ ของร้านค้าประชารัฐรักสามัคคี ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน สินค้า OTOP ทั่วประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ ทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถประกอบธุรกิจที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการให้บริการ ให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น สามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทาง ที่พัก แหล่งช้อปปิ้ง และร้านค้า - ร้านอาหารแนะนำ ที่สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในภาพรวมด้วย

“  รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ ในการสร้างความพร้อมของประเทศ และผมก็หวังว่าที่พูดมาทั้งหมด เพราะต้องการให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราต้องปรับตัว และพัฒนาตนเองให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และได้เปรียบ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลนี้ หวังดีกับพี่น้องประชาชนทุกคน” นายกฯทิ้งท้าย

/////////////////////