ไม่รู้อย่ามั่ว ประยุทธ์อัดพวกบิดเบือน “ไทยนิยม”  ยันเป็นโมเดลปฏิรูปประเทศบนพื้นฐานความเป็นไทยโดยไม่ทิ้งหลักสากล  อัดของดีไม่เหมือนประชานิยม

ไม่รู้อย่ามั่ว ประยุทธ์อัดพวกบิดเบือน “ไทยนิยม” ยันเป็นโมเดลปฏิรูปประเทศบนพื้นฐานความเป็นไทยโดยไม่ทิ้งหลักสากล อัดของดีไม่เหมือนประชานิยม

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2561 เวลา 20.15 น. ถึงการเดินหน้าเรื่อง “ไทยนิยม” ว่า  วันนี้อยากให้พวกเราทุกคน และสังคมโดยรวมได้ใช้สติ ทบทวน สิ่งที่ผมพูดเมื่อสักครู่  ว่าเรารู้อย่างลึกซึ้งถึง “ความเป็นไทย” หรือไม่ พร้อมที่จะหลอมรวมกับ “ความเป็นสากล” โดยที่ไม่หลงประเด็น ประยุกต์ไม่เป็น จนเป็นเหตุให้มีแต่ความขัดแย้ง เพราะต่างก็อ้างว่าตน “รู้จริง” แล้วไม่ยอมฟังเหตุผลของคนอื่น บางครั้งรับแนวคิด วัฒนธรรมของคนอื่นมายึดถือปฏิบัติ แม้จะทำได้ในหลักการ แต่หากขัดกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา ก็คงไม่สามารถประสบความสำเร็จเหมือนเขาได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไทยนิยม” ของผม ที่มอบให้กับสังคมไทยในวันนี้

“ไทยนิยมนั้น ไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยม เหมือนที่บางคนไม่เข้าใจสังคมของตน ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วพยายามบิดเบือนความคิดของผม โดยไม่ศึกษาให้ดี เพราะชาตินิยมนั้นจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคาม ภัยจากภาย นอกประเทศ จากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิด ลัทธิของชาติอื่นชาตินิยมจึงมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างสำนึกความรักชาติ แต่สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้นั้น เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เราต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของ ความเป็นไทยโดยไม่ทิ้งหลักสากล ผมขอย้ำ เราไม่ต้องไปทิ้งหลักสากล” ”  นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า  นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ ไทยนิยมที่ผมกำลังพูดถึงและไทยนิยม ก็ไม่ใช่ประชานิยม เพราะประชานิยมเป็นการให้ในลักษณะที่เหมือนกับยัดเยียด ทุกคนได้ไป พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับประชาชน ด้วยการสร้างแนวคิด “บริโภคนิยม” ที่ผ่านมาประชาชนชอบ พอใจ กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกินได้ เหมือนกับนโยบายของที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง อาจจะทำเพียงเพื่อต้องการความนิยม หรือต้องการคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง หลาย ๆ อย่างทำไม่ได้ ออกไม่ได้ เพราะทุกคนก็ต้องการคะแนนเสียงกันทั้งหมด เลยทำให้ปัญหาต่าง ๆ พอกพูน มาถึงรัฐบาล มาถึงการใช้จ่ายของภาครัฐ งบประมาณต่าง ๆ ซึ่งนับวันจะมีปัญหามากขึ้น เราถึงต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนว่าใครเดือดร้อนอะไรอย่างไร มากน้อยเพียงใด เราก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้ทั่วถึง
 
นายกฯกล่าวต่อว่า  เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้ความสำคัญให้มากว่า เราจะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะฉะนั้นคำว่า “ประชานิยม” นั้นแตกต่างจาก “ไทยนิยม” เพราะว่า “ไทยนิยม” นั้น เป็นการต่อยอด ขยายผลจาก “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการ “ระเบิดจากข้างใน” การมีส่วนร่วม การรับผิดชอบร่วม แล้วรัฐบาลจึงจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ ทำให้เกิดเป็น “3 ประสาน ก็คือ ราษฎร์  รัฐ และ เอกชน” ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะทุกคนนั้นอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจทั้งสิ้น เพราะอยู่ในประเทศของเราเอง อาจจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ แก้โจทย์ปัญหาที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ด้วยกลไก “ประชารัฐ” ของตน ของแต่ละท้องถิ่น ตรงความต้องการ และเมื่อมองในภาพรวมทั้งประเทศแล้ว “ไทยนิยม”  จึงเป็นแนวคิดในการบริหารประเทศ ที่อยู่บนพื้นฐานของความต้องการ ตามความนิยม ของคนไทยทั้งประเทศ ต้องนิยมในสิ่งที่ถูกต้อง ที่ถูก ที่ควร นิยมในสิ่งดี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย ไม่ใช่ว่านิยมอะไรก็ทำได้หมด คงไม่ใช่ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เราคนไทยเรารัก และนิยมทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม อย่างไรก็ตามมีบางคนที่ไม่นิยมไปทำอย่างอื่น ก่อให้เกิดความขัดแย้ง บิดเบือน ทุกอย่างเหล่านี้

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า  เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างสรรค์ “ไทยนิยม” ในสิ่งดีๆ ให้มากยิ่งขึ้นนะครับ ถูกต้อง มีคุณธรรม จริยธรรม รักความสงบ เหมือนในเพลงชาติไทยของเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ชาติไทย ระยะต่อจากนี้ไป มีความสำคัญมาก เพราะต่อกันมาทั้งหมด จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เราต้องการอนาคตอย่างไร เราก็ต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เพื่ออนาคตที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ดี ในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นระยะต่อจากนี้ไปมีความสำคัญกับพวกเราทุกคน ในสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับลูกหลานของเราในอนาคตด้วย เราต้องการการบริหารประเทศอย่างมีวิสัยทัศน์ เพื่อจะสร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ให้กับบ้านเมือง   เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า “ประชารัฐ” และ “ไทยนิยม” นั้นก็จะมีความเชื่อมโยงกันอยู่เป็นเนื้อเดียวกัน “ไทยนิยม” จะเป็นกรอบใหญ่ของทั้งประเทศ คล้าย ๆ กับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่จะเป็นกรอบใหญ่ให้กับยุทธศาสตร์จังหวัด กลุ่มจังหวัด  ภาค ในการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไก “ประชารัฐ” ทั้งนี้ หากเราสามารถสร้างความเข้มแข็ง เน้นการพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับฐานรากแล้ว ก็จะนำมาสู่ความสำเร็จในภาพ รวมของประเทศได้ในที่สุด ผมอยากให้คนไทยเข้าใจคำว่า ไทยนิยม ประชารัฐ ยั่งยืน  3 คำมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด

///////////////