ระวังจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ!!!"ประสาร"ห่วง "ไทยนิยมยั่งยืนหรือย่ำแย่"  แนะปรับแนวคิดไม่ใช่ยัดเยียดไม่ใช่สั่งการ

ระวังจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ!!!"ประสาร"ห่วง "ไทยนิยมยั่งยืนหรือย่ำแย่" แนะปรับแนวคิดไม่ใช่ยัดเยียดไม่ใช่สั่งการ

31 ม.ค.61 นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวถึงกรณีรัฐบาลมีแนวทางและปฏิบัติการลงพื้นที่ปูพรมทั่วทุกตำบลหมู่บ้าน 7,463 ทีม ตามโครงการ "ไทยนิยมยั่งยืน" ที่จะเริ่มเดือน ก.พ.นี้ โดยใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท และให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นแกนในการดำเนินการนั้น ว่า ขอแสดงความเห็นว่าหากรัฐบาลเดินตามรอยเท้าเดิมอย่างที่เคยทำมา จะกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

 

ตนไม่ทราบว่ารัฐบาลจะใช้โครงการนี้สร้างคะแนนนิยมสำหรับการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ตนเป็นห่วงว่ากลไกมหาดไทยที่ใช้ผู้ว่าราชการจังหวัด , นายอำเภอ , กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน จะกลายเป็นการอบรมชาวบ้านแบบ "ทางการเขาสั่งมาว่า....." แบบยุคผู้ใหญ่ลีเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน เพราะเท่าที่ดูเอกสารตามแนวทางและภารกิจนั้น เสมือนว่ารัฐบาลต้องการจะปรับแนวคิด (Mindset) ของประชาชน ว่าประชาชนต้องรู้สิทธิหน้าที่ รู้การผูกใจไทย รู้เทคโนโลยี รู้จักประชาธิปไตย รู้การแก้ปัญหายาเสพติด ฯลฯ จึงเป็นการยัดเยียดที่น่าเบื่อมากกว่าจะน่าสนใจที่จะก่อเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

"ถ้าเดินตามแนวนี้ แปลว่าทางการตั้งสมมุติฐานไว้ว่าชาวบ้านยังไม่รู้ ยังคิดไม่เป็น ดังนั้น จึงต้องเชื่อฟังทางการ" นายประสาร ระบุ

ทั้งนี้ จึงขอเสนอว่าก่อนอื่นต้องปรับแนวคิด หรือ Mindset ของคนมหาดไทย ว่า

1.แทนการวางตัวเหนือชาวบ้าน ควรต้องเคารพชาวบ้านว่าเขาอยู่กับปัญหา เขาอยู่กับความเดือดร้อนมาตลอด เขาเป็นเจ้าของปัญหา เขาย่อมรู้ดีกว่าทางการ

2.แทนการสั่งการหรือยัดเยียดให้รู้ ทางการกลับต้องไปเรียนรู้จากชาวบ้านด้วยการรับฟัง ให้ชาวบ้านเป็นครู คนของทางการเป็นผู้ไปเรียนรู้

3.แทนที่จะบอกว่าทางการเอาโครงการอะไรมาลงพื้นที่ ควรจะกลับข้างใหม่ ด้วยการตั้งคำถามให้ชาวบ้านร่วมกันคิดและตอบโจทย์ด้วยตัวชาวบ้านเองว่า

"อะไรเป็นปัญหาสำคัญที่สุด 3 ลำดับแรกของตำบลนี้ สาเหตุมาจากอะไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ใครแก้ จะทำเมื่อไร เสร็จเมื่อไร"

ด้วยวิธีเช่นนี้ เราจะได้ปัญหาและทางออกที่แท้จริงของทุกพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานการปฏิรูปที่มีค่าที่สุด

ขอสรุปว่า ไทยนิยมนี้จะยั่งยืนหรือย่ำแย่ อยู่ที่การรับฟังไม่ใช่การยัดเยียด อยู่ที่การเรียนรู้ไม่ใช่การสั่งการ อยู่ที่การกระทำจากล่างขึ้นบน (Bottom Up) ไม่ใช่จากบนลงล่าง (Top Down)

ด้วยวิธีเช่นนี้จึงจะเกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีพลัง ทางการจะได้ปัญหาและทางออกที่สอดคล้องกับความเป็นจริงทำให้ทุกคน เป็นเจ้าของการปฏิรูปร่วมกัน และมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง