มติกกต.เห็นแย้ง ร่าง พรป. สส. 2 ฉบับ คาดส่งสนช.ภายในวันที่ 9 ก.พ. นี้

มติกกต.เห็นแย้ง ร่าง พรป. สส. 2 ฉบับ คาดส่งสนช.ภายในวันที่ 9 ก.พ. นี้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร  กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ  กกต.ว่า ที่ประชุมมีมติส่งความเห็นแย้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 มาตรา ประกอบด้วย ม.48 การให้ผู้สมัครจับฉลากเบอร์รายเขต ม.73 ให้ผู้สมัครจัดจัดมหรสพในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งได้ ม.62 กำหนดค่าใช้จ่ายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงเท่ากันทุกพรรค ม.133 ให้อำนาจศาลในการให้ใบเหลืองผู้สมัครหลังประกาศผลการเลือกตั้ง และ ม.138 ศาลมีอำนาจให้ใบดำแก้ผู้สมัครหลังประกาศผลการเลือกตั้ง แต่ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลมีอำนาจให้ได้ทั้งดำและใบแดง แต่ไม่มีอำนาจให้ใบเหลือง 

ทั้งนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ โดยจะส่งความเห็นไปยังสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งจะมีขั้นตอนในการตั้งกรรมาธิการสามฝ่ายเพื่อพิจารณา 15 วันก่อนส่ง สนช.ใช้เวลาอีก 5 วัน ทำให้เสียเวลาเพิ่มอีก 20 วัน

ส่วนของร่างกฎหมายเลือกตั้ง สส. มีความเห็นแย้ง 5 ประเด็น คือ 
1. เรื่องที่ให้ผู้สมัครพรรคการเมืองมีหมายเลขแตกต่างกันตามเขตเลือกตั้ง 
2. ประเด็นให้จัดมหรสพได้ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม
3.กรณีที่กำหนดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองเท่ากัน ซึ่งจะเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง สิ่งที่ กกต.กังวลในทางปฏิบัติคือการประชุมร่วมระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ซึ่งจะมีพรรคเล็กมากกว่าพรรคใหญ่ และพรรคเล็กโหวตชนะพรรคใหญ่ กำหนดให้ค่าใช้จ่ายกลางไม่เกินล้านบาท แต่พรรคเล็กส่งผู้สมัคร สส.เขตเพียงคนเดียวก็สามารถใช้เงิน 1 ล้านบาทบวก 1.5 ล้านบาททุ่มหาเสียงในเขตนั้น แต่ถ้าเป็นพรรคใหญ่ส่งผู้สมัคร 350 เขต ก็จะมีงบกลางที่ใช้หาเสียงเขตละ 2,857 บาท การเขียนกฎหมายแบบนี้ให้เท่ากันแต่ไม่เที่ยงธรรมเมื่อถูกนำไปปฏิบัติ 
4. เรื่องขอบเขตอำนาจศาลให้ใบเหลืองหลังประกาศผลเลือกตั้งได้ เป็นการเขียนเกินขอบเขตของกฎหมาย เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใบแดงกับใบดำเท่านั้น ขัดกับสาระของรัฐธรรมนูญเท่ากับขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 
5 มาตรา 138 ภายหลังประกาศเลือกตั้งให้มีการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งด้วย หรือที่เรียกว่าใบดำ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ได้ทั้งใบดำและใบแดง แต่ในกฎหมายเขียนให้ใบดำเพียงอย่างเดียว จึงถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ


ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ในส่วนของประเด็นเรื่องการแยกประเภท แบ่งกลุ่ม การเปลี่ยนจากการเลือกไขว้มาเป็นเลือกแบบกลุ่มนั้น กกต.ไม่เห็นแย้ง แต่เห็นแย้งในเรื่องที่ให้อำนาจศาลให้ใบดำเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการเขียนให้สอดรับกับร่าง พ.ร.ป.สส. ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญศาลสามารถให้ได้ทั้งใบดำและใบแดง            โดยกกต.จะทำความเห็นแย้งกลับไปที่สนช.ภายในวันศุกร์นี้

 

 

มติกกต.เห็นแย้ง ร่าง พรป. สส. 2 ฉบับ คาดส่งสนช.ภายในวันที่ 9 ก.พ. นี้