ตีปี๊บปฎิรูป “บริหารราชการแผ่นดิน -กระบวนการยุติธรรม” รวดเร็วตอบโจทย์ชีวิตประชาชน

ตีปี๊บปฎิรูป “บริหารราชการแผ่นดิน -กระบวนการยุติธรรม” รวดเร็วตอบโจทย์ชีวิตประชาชน

22 ก.พ.61 นางเบญจวรรณ สร่างนิทร รองประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดิน และนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ กรรมการและเลขานุในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ร่วมกันแถลงความคืบหน้าปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “สร้างมิติใหม่ภาครัฐ ยืนหยัดยุติธรรม” โดย นางเบญจวรรณ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศด้านบริหารราชการแผ่นดินว่า ได้มีการกำหนดกลไก เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 6 เรื่อง ได้แก่ 

 1) บริการภาครัฐ สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน ประกอบด้วย 3  กลยุทธ์ ได้แก่ (1) เพิ่มสมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐในการตอบสนองต่อประชาชนในสถานการณ์หรือภาวะฉุกเฉิน (2) ยกระดับการให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาจากหน่วยงานของรัฐ และ (3) ยกระดับการให้บริการประชาชนสู่การบริการที่เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลง

 2) ระบบข้อมูลภาครัฐมีมาตรฐาน ทันสมัย และเชื่อมโยงกัน ก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) บูรณาการและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลดิจิทัล (2) นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงาน และการบริหารราชการ และ (3) บูรณาการข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐเพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน

 3) โครงสร้างภาครัฐกะทัดรัด ปรับตัวได้เร็วและระบบงานมีผลสัมฤทธิ์สูง  ประกอบด้วย 6 กลยุทธ์ ได้แก่  (1) ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบบริหารงานของรัฐ (2) เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเข้มแข็งของการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (3) พัฒนาขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) พัฒนาระบบงบประมาณและการคลังภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ (5) สร้างระบบธรรมาภิบาลที่ยั่งยืนในหน่วยงานภาครัฐ และ (6) พัฒนากฎหมายเกี่ยวกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 4) กำลังคนภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสมและมีสมรรถนะสูง พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่  (1) จัดกำลังคนให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการบริการสาธารณะที่สำคัญ และขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (2) ลดขนาดกำลังคนและค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐที่มีผลผูกพันภาระงบประมาณในระยะยาว (3) พัฒนาทักษะและสมรรถนะใหม่เพื่อสร้างความพร้อมเชิงกลยุทธ์ให้กับกำลังคนภาครัฐ และ (4) ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการใช้กำลังคนในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ

5) ระบบบริหารงานบุคคลที่สามารถดึงดูด สร้าง และรักษาคนดี คนเก่งไว้ในภาครัฐ ประกอบด้วย 6  กลยุทธ์ ได้แก่  (1) ดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถและมีจิตสาธารณะเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ  (2) ส่งเสริม จูงใจ และรักษาผู้มีความรู้ความสามารถและมีจิตสาธารณะไว้ในภาครัฐ (3) พัฒนาทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้มีขีดความสามารถและความผูกพันต่อองค์กร (4) พัฒนาผู้นำที่เป็นตัวอย่าง (Leadership by Example) (5) ส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารทรัพยากรบุคคล และ (6) พัฒนาทางก้าวหน้าในสายอาชีพและสร้างความต่อเนื่องในการดำรงตำแหน่ง และ 

6) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คล่องตัว โปร่งใส และมีกลไกป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน ประกอบด้วย 2  กลยุทธ์ ได้แก่ (1) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวและตรวจสอบได้ และ (3) ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ด้าน นายชาญณรงค์ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ว่า มี 5 เรื่องใหญ่ ได้แก่

1.การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านจะต้องทำให้รวดเร็ว โดยเร็วๆนี้จะมีการเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐบาล เรื่องการกำหนดระยะเวลาในขั้นตอนต่างๆของกระบวนการยุติธรรม ที่จะมีเนื้อหา วิธีการ และประชาชนจะตรวจสอบความคืบหน้าได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี

2. การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม จะให้สถานีตำรวจบริการแบบเบ็ดเสร็จ ประชาชนสามารถร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจไหนก็ได้ ไม่เฉพาะในเขตพื้นที่เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีการพูดคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แล้ว มีสัญญาณว่าจะทำได้

3.การสร้างสังคมที่มีศักยภาพในการจัดการกับข้อพิพาทและมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมอย่างยั่งยืน

 4.การสอบสวนที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีมาเสริมในเรื่องความโปร่งใส โดยกำหนดให้ใช้กล้องบันทึกภาพในการจับ ตรวจค้น สอบปากคำผู้ต้องหา และ

5.ปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราวผู้มีรายได้น้อย โดยพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงและกำกับดูแลคุมประพฤติมาใช้ การมีมาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก เช่นการทำงานเพื่อสังคม และการลงโทษปรับตามฐานะและรายได้ เพื่อลดความเหลื่อล้ำทางสังคม

 

ตีปี๊บปฎิรูป “บริหารราชการแผ่นดิน -กระบวนการยุติธรรม” รวดเร็วตอบโจทย์ชีวิตประชาชน