บทเรียนหวย30ล้าน!!"เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ"ร่อนแถลงการณ์จี้นายกฯแยกงานสอบสวนตร.

บทเรียนหวย30ล้าน!!"เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ"ร่อนแถลงการณ์จี้นายกฯแยกงานสอบสวนตร.

25 ก.พ.61 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) หรือ Police Watch ยกบทเรียนคดีหวย30ล้านเรียกร้องนายกฯปฏิรูปงานสอบสวนแยกเป็นอิสระจากสายงานตำรวจให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบคดีตั้งแต่เกิดเหตุ การสอบปากคำบุคคลต้องมีระบบบันทึกภาพและเสียงจี้ดำเนินคดีอาญาและพักราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องในการแต่งเติมพยานหลักฐานและโจรกรรมวัตถุพยานในคดีดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 8 /2561 เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหาตำรวจและปฏิรูปงานสอบสวนจากบทเรียนคดีหวย 30 ล้าน โดยระบุว่า
 

ตามที่ได้เกิดปัญหาตำรวจปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในกรณีต่างๆ อยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับส่วยสินบนรู้เห็นเป็นใจให้มีแหล่งอบายมุขในพื้นที่อันเป็นสาเหตุสำคัญของอาชญากรรมและยาเสพติด จนกรมการปกครองและทหารต้องตรวจจับกุมแทนอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งปัญหาการไม่รับแจ้งความบันทึกเลขคดีในกรณีที่ประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือการแจ้งข้อหาต่อบุคคลโดยปราศจากพยานหลักฐานการกระทำผิดหรือเกินจริง รวมไปถึงการสั่งงานสอบสวนของผู้บังคับบัญชาโดยมิชอบให้แต่งเติมพยานหลักฐานการดำเนินคดีตามที่ต้องการ และการโจรกรรมวัตถุพยานสำคัญที่เกิดขึ้นในสถานีตำรวจ เช่น คดีหวย 30 ล้าน ปรากฎหลักฐานการกระทำผิดชัดเจนตามหนังสือกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ 0026(ก1)/16 วันที่ 20 ก.พ.61 เป็นข่าวอื้อฉาวอยู่ในขณะนี้

พฤติการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศถึง 71 เปอร์เซ็นต์หรือ จำนวน 47 ล้านคน ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามผลสำรวจของสำนักวิจัยกรุงเทพโพล ส่งกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรงยิ่ง

จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้มีการดำเนินคดีอาญาและสั่งพักราชการตำรวจผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้รับผิดชอบทุกระดับ ที่ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายตามอำนาจหน้าที่ ในกรณีพบการกระทำโดยมิชอบเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อข้าราชการตำรวจอื่น รวมทั้งเร่งปฏิรูประบบงานสอบสวนด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการกระทำผิดในการสอบสวนลักษณะต่างๆ ดังนี้

1.ให้มีบทบัญญัติคุ้มครองความเป็นอิสระการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทุกหน่วยเช่นเดียวกับพนักงานอัยการ

2.แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจเป็นสายงานเฉพาะ ให้พนักงานสอบสวนมีความเจริญก้าวหน้าด้วยระบบประเมินที่มีมาตรฐานและยึดหลักอาวุโส โดยหัวหน้าสถานี ผู้บังคับการตำรวจ และผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องไม่มีอำนาจสั่งงานสอบสวน ให้เป็นหน้าที่หัวหน้างานสอบสวนประจำสถานีและหน่วยสอบสวนทุกหน่วยเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมและสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร  รวมทั้งการส่งสำนวนพนักงานอัยการ

3.การออกหมายเรียกบุคคลเป็นผู้ต้องหาและเสนอศาลออกหมายจับต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ

4.ให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญที่มีโทษจำคุกเกินห้าปีขึ้นไป โดยพนักงานสอบสวนต้องรายงานให้ทราบทันทีที่เกิดเหตุ รวมทั้งคดีที่มีการร้องเรียนว่าการสอบสวนไม่ได้กระทำโดยชอบตามกฎหมาย หรือไม่ได้รับความยุติธรรม

5.การสอบปากคำบุคคล ต้องกระทำในห้องสอบสวนที่จัดเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ เชื่อว่า หากได้ดำเนินการปฏิรูประบบงานสอบใน 5 เรื่องดังกล่าว จะทำให้การสอบสวนคดีอาญาของประเทศมีความความสุจริตตรงกับข้อเท็จจริงเกิดความยุติธรรมต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสมตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 ง.(2) อย่างแท้จริง แต่หากไม่เร่งดำเนินการ ก็จะทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลังซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนเกิดปัญหาความขัดแย้งทางสังคมต่อไปไม่จบสิ้น

 

บทเรียนหวย30ล้าน!!"เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ"ร่อนแถลงการณ์จี้นายกฯแยกงานสอบสวนตร.