ฟังอีกมุม! "ทนายดัง" แจงสัญญา "อาม ชุติมา" แม่เซ็นเป็นพยาน ไม่เป็น "โมฆียะ" น้องอามไม่น่ารอด?

ฟังอีกมุม! "ทนายดัง" แจงสัญญา "อาม ชุติมา" แม่เซ็นเป็นพยาน ไม่เป็น "โมฆียะ" น้องอามไม่น่ารอด?

จากกรณีดราม่า ความขัดแย้งระหว่างนักร้องสาวลูกทุ่งชื่อดัง อาม ชุติมา กับ ประจักษ์ชัย ไหทองคำ ผู้บริหารค่ายไหทองคำ เกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ และ สัญญาการทำงาน จนนำมาสู่ การแจ้งความจับกุม อาม ชุติมา หลังเล่นคอนเสิร์ต แม้ภายทั้งสองฝ่ายพยายามไกล่เกลี่ยกัน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และเกิดกระแสโจมตีกันไปมาระหว่างอาม และ ค่ายไหทองคำ โดยผู้คนบนโซเชียลส่วนมากโจมตี ว่า นายประจักษ์ชัย นั้นรังแกเด็ก กระทั่ง 2 ทนายดัง ทั้งทนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม และทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ยื่นมือช่วยเหลือ

สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวนั้น เรื่องข้อกฏหมายก็ยังมีความขัดแย้งว่าสรุปแล้วนั้น ฝ่ายใดคือฝ่ายที่ถูกต้องกันแน่ โดยล่าสุดเพจกฏหมายชื่อดังอย่าง สายตรงกฎหมาย ของทนายทนายรัชพล ศิริสาคร ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงเรื่องดังกล่าวโดยระบุว่า เรื่องของน้องอามกับประจักชัย ที่จะต่อสู้กันเรื่องสัญญาเป็นโมฆียะ เฉพาะประเด็นที่จะบอกว่า น้องอามเซ็นสัญญาแต่คุณแม่เซ็นพยานแล้วสัญญาเป็นโมฆียะ ผมว่าน้องอามไม่น่ารอด เพราะนี่ไม่ใช่คดีแรก แต่เคยมีคนฟ้องกันมาอย่างน้อย 2 คดี แล้วคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ซึ่งทั้ง 2 คดี ศาลตัดสินในทำนองที่ว่า การที่เด็กทำสัญญาโดยที่คุณแม่เซ็นเป็นพยาน ถือว่าคุณแม่ได้ให้ความยินยอมแล้ว
.
1319/2512 “ผู้เยาว์ลงนามทำสัญญาโดยมีผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานในเอกสารสัญญานั้นถือได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้ว”
.
3496/2537 “สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ผู้เยาว์ทำขึ้น มี บ.ผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในเอกสารนั้น ย่อมถือได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้ว”

2 ฎีกานี้ ผมพูดไว้ในรายการทุบประเด็นตั้งแต่ 24 ตค 61 ถ้าจะช่วยน้องอาม ลองไปดูประเด็นอื่นน่าจะมีโอกาสมากกว่า


1319/2512 ผู้เยาว์อายุ 18 ปีมีภริยา แต่มิได้จดทะเบียนสมรสย่อมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้เยาว์ลงนามทำสัญญาโดยมีผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือเป็นพยานในเอกสารสัญญานั้นถือได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้วทายาททุกคนทำสัญญาแบ่งปันมรดกซึ่งไม่มีพินัยกรรม เป็นการระงับข้อพิพาทแห่งกองมรดกที่จะมีขึ้น จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(4)ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวแก่ทรัพย์สินของผู้เยาว์มิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ดังนั้น เมื่อยังมิได้รับอนุญาตจากศาล ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดก

สัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดกซึ่งผู้เยาว์ทำและผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมตกเป็นโมฆะ แม้สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นทำขึ้นระหว่างผู้เยาว์กับทายาทอื่นอีกหลายคน แต่จำนวนทายาทหรือจำนวนทรัพย์มรดกที่จะได้รับส่วนแบ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวพัน ไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ ย่อมตกเป็นโมฆะด้วยกันทั้งสิ้น

การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ทายาทผู้ใดครอบครองมรดกส่วนไหนก็ย่อมมีสิทธิเฉพาะส่วนนั้น ส่วนอื่นที่ตนมิได้เกี่ยวข้อง ย่อมขาดอายุความมรดก

 

3496/2537 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ได้บัญญัติไว้เฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้เยาว์ทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ผู้เยาว์เป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเอง บิดาโจทก์เพียงแต่ลงลายมือชื่อในฐานะพยานเท่านั้นดังนี้ จึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ผู้เยาว์ทำขึ้น มี บ.ผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อเป็นพยานในเอกสารนั้น ย่อมถือได้ว่าผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมแล้ว ดังนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงสมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ได้บรรลุนิติภาวะแล้ว ทั้งได้แสดงความยินยอมเป็นสามีภริยาโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและพยานซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายปกครองอีกด้วยเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการจดทะเบียนสมรสได้กระทำไปโดยเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายประการใดแล้ว ย่อมไม่เป็นเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สายตรงกฎหมาย