"ดร.สามารถ" ชี้ชัดๆ สร้างเทอร์มินัล 2 ผิดแผนแม่บทสร้างความเดือดร้อน กว่าจะขึ้นเครื่องได้ทั้ง"ลอยฟ้า-มุดดิน"

"ดร.สามารถ" ชี้ชัดๆ สร้างเทอร์มินัล 2 ผิดแผนแม่บทสร้างความเดือดร้อน กว่าจะขึ้นเครื่องได้ ทั้ง"ลอยฟ้า-มุดดิน"

      29 ต.ค.  "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์"  อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์  โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2  หรือ เทอร์มินัล 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งผิดแผนแม่บท แต่ทาง ทอท. ยังคงมีความพยายามที่จะเดินหน้าก่อสร้าง ล่าสุด "ดร.สามารถ" ชี้ให้เห็นถึงความยุ่งยาก ซับซ้อน และไม่สะดวกในการใช้เทอร์มินัล 2 โดยระบุว่า  “1 เดียวในโลก”  ใช้เทอร์มินัล 2 ต้อง “ลอยฟ้า-มุดดิน”

“1 เดียวในโลก”
ใช้เทอร์มินัล 2 ต้อง “ลอยฟ้า-มุดดิน”

กระแสคัดค้านโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทในสนามบินสุวรรณภูมิจากหลายองค์กรรวมทั้งผู้รู้มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ในฐานะเจ้าของโครงการและผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องยังคงมีความพยายามที่จะเดินหน้าก่อสร้างให้ได้

ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 บนฝั่งมอเตอร์เวย์มาแล้ว 6 บทความ โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 หลากหลายประการ และได้เสนอแนะให้ ทอท.ขยายเทอร์มินัล 1 ออกไปทางด้านตะวันออกและด้านตะวันตกแทน เนื่องจากใช้เงินน้อยกว่า ทำได้เร็วกว่า และจะช่วยให้สนามบินสุวรรณภูมิมีความจุมากกว่า หลังจากนั้นให้สร้างเทอร์มินัล 2 ทางทิศใต้บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ตามแผนแม่บทก็จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100-120 ล้านคนต่อปี

บทความนี้ซึ่งเป็นบทความที่ 7 จะชี้ให้เห็นถึงความยุ่งยาก ซับซ้อน และไม่สะดวกสบายในการใช้เทอร์มินัล 2 กล่าวคือหลังจากผู้โดยสารเช็กอินแล้ว ผู้โดยสารบางส่วนจะไม่สามารถเดินไปขึ้นเครื่องบินซึ่งจอดรออยู่ที่หลุมจอดประชิดอาคารได้ เพราะเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทมีหลุมจอดประชิดอาคารเพียง 14 หลุมเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้โดยสารที่เช็กอินที่เทอร์มินัล 2 ได้ทั้งหมด จำเป็นจะต้องไปขึ้นเครื่องบินที่จอดรออยู่ที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเทอร์มินัล 2 ประมาณ 2.2 กิโลเมตร เหตุที่มีระยะทางห่างไกลเช่นนี้เป็นเพราะอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับรองรับผู้โดยสารจากการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 แต่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับรองรับผู้โดยสารจากการขยายเทอร์มินัล 1 เพราะอยู่ใกล้กัน

ด้วยเหตุนี้ ทอท.จึงพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยแนวคิดที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover) หรือเอพีเอ็มให้ผู้โดยสารใช้บริการ ดังเช่นที่มีอยู่ในหลายสนามบินทั่วโลก แต่เอพีเอ็มในสนามบินสุวรรณภูมินั้นแปลกประหลาดไม่เหมือนกับเอพีเอ็มทั่วโลก กล่าวคือ ทอท.จะก่อสร้างเอพีเอ็มถึง 3 สาย ประกอบด้วยสายลอยฟ้า 2 สาย (อ้างอิงจาก “กรอบแนวคิดสำหรับการออกแบบ” หน้า 111 โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของ ทอท.) และสายใต้ดิน 1 สาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ทำให้ผู้โดยสารต้องพาตัวเองพร้อมด้วยสัมภาระไปใช้เอพีเอ็มถึง 3 สาย แถมด้วยการเดินในบางช่วงด้วย ทอท.คงคิดว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้โดยสารออกกำลังกายก่อนขึ้นเครื่องบิน แต่ผู้โดยสารคงเหนื่อยเหงื่อไหลไคลย้อยแน่ ถ้าเป็นเช่นนี้ ถามว่าใครอยากจะมาใช้เทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บทบ้าง? คนที่เคยใช้แล้วก็คงไม่อยากมากลับมาใช้อีก เพราะไม่มีสนามบินที่ไหนในโลกทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อนก่อนขึ้นเครื่องบินเช่นนี้

 

 

 

 

รายละเอียดการใช้เอพีเอ็ม 3 สาย มีดังนี้ (ดูรูปประกอบซึ่งผมและทีมงานได้จัดทำขึ้นมา)

1. หลังจากผู้โดยสารเช็กอินที่เทอร์มินัล 2 แล้ว จะต้องเดินไปที่สถานีที่ 1 เพื่อขึ้นเอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 1 ซึ่งอยู่ภายนอกเทอร์มินัล 2

 

"ดร.สามารถ" ชี้ชัดๆ สร้างเทอร์มินัล 2 ผิดแผนแม่บทสร้างความเดือดร้อน กว่าจะขึ้นเครื่องได้ทั้ง"ลอยฟ้า-มุดดิน"

 

2. เอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 1 จะนำผู้โดยสารจากเทอร์มินัล 2 ไปยังสถานีที่ 2 ซึ่งเป็นจุดตัดของอาคารเทียบเครื่องบิน A, และ B (Concourses A, B) ที่อยู่ด้านตะวันออกของเทอร์มินัล 1 ระยะทางจากสถานีที่ 1 ถึงสถานีที่ 2 ประมาณ 800 เมตร ต่อจากนั้นผู้โดยสารจะต้องลงจากเอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 1 แล้วเดินเข้าอาคารเพื่อเปลี่ยนไปใช้เอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 2 ที่สถานีที่ 3 ทั้งนี้ เอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 2 จะวิ่งไปถึงจุดตัดของอาคารเทียบเครื่องบิน D และ E (Concourses D, E) ที่อยู่ด้านตะวันตกของเทอร์มินัล 1 โดยวิ่งขนานไปกับอาคารเทียบเครื่องบิน D ที่อยู่ตรงกลางของเทอร์มินัล 1 แต่ผู้โดยสารจะต้องลงจากเอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 2 ที่สถานีที่ 4 ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางของอาคารเทียบเครื่องบิน D คิดเป็นระยะทางประมาณ 405 เมตร แล้วเดินไปที่สถานีเอพีเอ็มสายใต้ดิน

อนึ่ง ทอท.ระบุไว้ในเอกสาร “กรอบแนวคิดสำหรับการออกแบบ” ว่า เอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 2 นั้นไม่มีงบประมาณรวมอยู่ในการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 งบประมาณมีเฉพาะเอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 1 เท่านั้น แต่ผู้ชนะการประกวดแบบเทอร์มินัล 2 จะต้องออกแบบให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางจากเอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 1 ไปสู่เอพีเอ็มลอยฟ้าสายที่ 2 ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นได้ว่า ทอท.ไม่มีความพร้อมในการก่อสร้างเอพีเอ็มลอยฟ้า เนื่องจากเอพีเอ็มลอยฟ้าไม่มีอยู่ในแผนแม่บทหรือไม่ได้เตรียมพื้นที่ไว้รองรับนั่นเอง เพราะทอท.เพิ่งคิดที่จะก่อสร้างเอพีเอ็มลอยฟ้าขึ้นมาใหม่

 

"ดร.สามารถ" ชี้ชัดๆ สร้างเทอร์มินัล 2 ผิดแผนแม่บทสร้างความเดือดร้อน กว่าจะขึ้นเครื่องได้ทั้ง"ลอยฟ้า-มุดดิน"

3. ยิ่งกว่านั้นผู้โดยสารยังจะต้องพาตัวเองพร้อมด้วยสัมภาระลงไปยังสถานีใต้ดินแล้วขึ้นเอพีเอ็มใต้ดินไปสู่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT1) ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เพื่อรอขึ้นเครื่องบินต่อไป

 

 

"ดร.สามารถ" ชี้ชัดๆ สร้างเทอร์มินัล 2 ผิดแผนแม่บทสร้างความเดือดร้อน กว่าจะขึ้นเครื่องได้ทั้ง"ลอยฟ้า-มุดดิน"

จะเห็นได้ว่าการใช้เอพีเอ็มถึง 3 สาย ทั้งลอยฟ้าและใต้ดินจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก แต่จะเหน็ดเหนื่อยและสับสนวุ่นวายมากกว่าจะได้ขึ้นเครื่องบิน ตามที่ผมได้เคยเขียนไว้แล้วว่าการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท เปรียบเหมือนการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในซอยเล็กๆ ซึ่งจะทำให้รถติดอย่างหนัก อีกทั้ง จะต้องขนลูกค้าจากท้ายซอยไปสู่ปากซอยด้วยเอพีเอ็มถึง 3 สาย ทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน ซึ่งในที่สุดจะทำให้ไม่มีใครอยากมาช้อปปิ้งที่ห้างนี้แน่

 

การกระทำเช่นนี้ จะส่งผลถึงคุณภาพการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิ ในปีนี้ Skytrax ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในการจัดอันดับสนามบินและสายการบินทั่วโลกของประเทศอังกฤษได้จัดอันดับให้สนามบินสุวรรณภูมิอยู่อันดับที่ 36 ของโลก แต่หาก ทอท.ยังดื้อดึงที่จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 บนตำแหน่งที่ผิดแผนแม่บทต่อไป อันดับของสนามบินสุวรรณภูมิก็จะหล่นลงไปแบบกู่ไม่กลับแน่ ในขณะที่สนามบินชางงีของสิงคโปร์ได้อันดับ 1 ของโลกมาหลายปี ทั้งๆ ที่สนามบินชางงีมีพื้นที่น้อยกว่าสนามบินสุวรรณภูมิมากคือมีประมาณ 8,000 ไร่ แต่สนามบินสุวรรณภูมิมีพื้นที่มากถึง 20,000 ไร่ (กว้าง 4 กิโลเมตร ยาว 8 กิโลเมตร) แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของสนามบินชางงีมีความสามารถในการบริหารจัดการสูง ที่สำคัญ เขาพัฒนาสนามบินชางงีไปตามแผนแม่บทที่วางไว้

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือในขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิของเรามีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง 20,000 ไร่ แต่ทำไมผู้บริหารของ ทอท.จึงเลือกที่จะสร้างเทอร์มินัล 2 ลงบนพื้นที่แคบๆ และมีอุปสรรคต่างๆ นานา และเหตุใดจึงไม่เลือกที่จะสร้างบนพื้นที่กว้าง และไม่มีสิ่งกีดขวางทางด้านใต้บนฝั่งถนนบางนา-ตราด ตามแผนแม่บทที่วางไว้

ทั้งหมดนี้ด้วยความรักในสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นประตูสำคัญสู่ประเทศไทย ผมต้องการให้สนามบินสุวรรณภูมิได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง และได้รับการคัดเลือกให้เป็นสนามบินยอดเยี่ยมอันดับต้นๆ ของโลก

แม้ผมไม่ได้เป็นคน ทอท. แต่ก็มีความรักในสนามบินสุวรรณภูมิไม่ยิ่งหย่อนกว่าคน ทอท.ครับ