"มีชัย" เร่งจัดทำร่างรธน.เสร็จก่อนสิ้นเดือนนี้ - สุดมั่น !! ผ่านประชามติแน่นอน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธุ์" เตรียมจัดทำร่างรธน.ให้เสร็จภายในวันที่ 29 ม.ค.นี้ โดยมีจำนวน 260 มาตรา เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการเมืองอย่างแท้จริง - เล็งนำปฏิรูปการศึกษา-บังคับใช้กฎหมายใส่ไว้ด้วย - ไม่มีการตั้งคณะบุคคล (คปป.) สร้างความปรองดอง เชื่อร่างผ่านประชามติแน่นอน !!

 

วันนี้ (2 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการดำเนินการประชุมนอกสถานที่เพื่อร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญในรายมาตรา ระหว่างวันที่ 11 - 17 ม.ค. 2559 ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล เลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่า การประชุมดังกล่าวเพื่อจัดทำร่างให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 ม.ค.โดยข้อมูลเบื้องต้นขณะนี้มีจำนวนมาตราประมาณ 260 กว่ามาตรา แม้จะดูว่ามีจำนวนมาตรามาก แต่จะเขียนแต่ละมาตราให้สั้นกระชับ ซึ่งรูปแบบการพิจารณานั้นจะพิจารณาตั้งแต่มาตราที่ 1 เป็นต้นไปจนถึงมาตราสุดท้าย และก็จะแถลงเป็นรายมาตรา พร้อมทั้งอธิบายในสาระสำคัญของตัวร่างรัฐธรรมนูญด้วย โดยในช่วงเวลานี้ หากพิจารณาบทบัญญัติเสร็จสิ้นเร็ว ก็จะพิจารณาเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลต่อ ที่จะเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของกรรมการในองค์กรอิสระ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติว่าองค์กรใดต้องอยู่ต่อ สรรหากรรมการชุดใหม่ หรือยุติการทำหน้าที่
         


นายมีชัย กล่าวต่อว่า ตนขอย้ำถึงจุดเด่นของร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ตั้งแต่การรับรู้และแสดงความเห็น การมีส่วนร่วมเลือกผู้บริหารประเทศ จนไปถึงสิทธิ์ในการสมัครเพื่อเลือกกันเองเป็นสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะใช้กระบวนการคัดเลือกทางอ้อม ไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมือง และกลไกกำจัดการทุจริตตั้งในหน้าที่และการเลือกตั้ง ที่มีการกำหนดโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิต รวมถึงมีมาตรฐานทางจริยธรรมไม่ให้ฝ่าฝืนการทุจริต ซึ่งกลไกจะกระจายอยู่ตามองค์กรอิสระต่างๆ อีกทั้งเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่มีการวิจารณ์ว่าจะทำให้เกิดการซื้อเสียงรุนแรงจากการกาบัตรใบเดียวนั้น ส่วนตนยังมองไม่เห็นว่าจะทำให้ซื้อเสียงรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมาตรงไหน เพราะมาตรการลงโทษผู้ทุจริตการซื้อเสียงที่รุนแรงนี้เอง
         


นายมีชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทาง กรธ.กำลังพิจารณาว่า ควรมีการปฏิรูปเรื่องใดบ้างจะอยู่ในรัฐธรรมนูญ โดยตอนนี้คิดได้ 2 เรื่องแล้วก็คือ เรื่องของการปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องอื่นๆ กำลังทำหนังสือไปสอบถามความเห็นของทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะต้องมีองค์กรใดมากำกับหรือไม่ ซึ่งรวมถึงเรื่องยุทธศาสตร์ชาติด้วยว่าจะต้องบัญญัติไว้หรือไม่ รวมถึงต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่จะบัญญัติเรื่องใดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากการมีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องเขียนอะไรไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ขอให้ประชาชนส่งความเห็นเข้ามาถึงเรื่องที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูป เช่นเดียวกับเรื่องการปรองดองในร่างรัฐธรรมนูญว่าตอนนี้ยังต้องรอความเห็นของคณะอนุกรรมการใน กรธ.ที่พิจารณาเรื่องนี้
         


ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดจัดตั้งคณะบุคคล ในลักษณะเดียวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความปรองดอง ที่อาจต้องมีกระบวนการ แต่มองว่าเรื่องของการปรองดองว่าไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องไปเขียนลงในร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าหากเขียนแล้วทำให้เกิดการปรองดองขึ้นจริงคงเขียนไปแล้วในมาตราต้นๆ ส่วนแนวทางการปฏิรูปตำรวจ ที่มีข้อเสนอแยกหน่วยงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นั้น ตนมองว่า ปัญหาที่แท้จริงต้องขจัดเรื่องการวิ่งเต้น เพื่อให้ตำรวจมีกำลังใจ เติบโตความรู้ความสามารถ ส่วนการปรับเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ยาก แต่เบื้องต้นแล้ว ยังไม่มีความคิดว่าจะเขียนเรื่องนี้ในรัฐธรรมนูญอย่างไรบ้าง
         


นายมีชัย กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้ทุกฝ่ายนึกถึงประเทศชาติ ซึ่งยืนยันว่า กรธ.แต่ละคนนั้นพยายามทำอย่างเต็มที่ ทำดีที่สุดแล้ว ถ้าประชาชนเข้าใจอย่างที่ กรธ.อธิบาย ร่างรัฐธรรมนูญก็น่าจะผ่านประชามติ ซึ่งพรรคการเมืองบางพรรคที่ออกมาบอกว่าไม่อยากให้ผ่านประชามติ ตนคิดว่าเขาอาจจะพูดด้วยอารมณ์ แต่เอาเข้าจริงเขาคงต้องเห็นแก่ประเทศชาติเป็นสำคัญ แต่ถ้าประชามติไม่ผ่านก็คงต้องไปร่างกันใหม่ ซึ่งใครจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายการทำประชามติ ตนคิดว่าก็คงต้องเป็นผู้ที่บิดเบือนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในร่างรัฐธรรมนูญจนเป็นเหตุให้ไม่ผ่านประชามติ
         

 


เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นมีกลไกอะไรที่จะไม่ให้ประชาชนลงมาเรียกร้องบนท้องถนนอีก ?

 

นายมีชัย กล่าวว่า จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยจนทำให้เรื่องที่เป็นปัญหาสิ้นสุด ซึ่งประชาชนจะไม่ต้องลงมาสู้บนท้องถนนแบบที่ผ่านมา ส่วนการชุมนุมบนท้องถนนที่ผ่านมา จะมองว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญนั้น ตนคิดว่าคงไม่ใช่ทั้งหมด ในบางเรื่องผู้ที่มาชุมนุมบนท้องถนนนั้นอาจจะต้องการแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เป็นได้ ซึ่งต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อออกมาแล้วจะบัญญัติชัดเจนเลยว่าสิทธิของตัวเองที่รับรองไว้จะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น
         


นายมีชัย ยังกล่าวถึงหลักการตีความร่างรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า การตีความเจตนาจะเป็นไปตามลายลักษณ์อักษร ไม่มีการตีความควบคู่บันทึกเจตนารมณ์ เหมือนที่เคยกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ โดยมองเจตนาว่าการร่างคราวที่แล้ว ต้องการให้การตีความในอนาคตเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง แต่การร่างโดย กรธ.มองว่า หากกำหนดไว้อาจเป็นอุปสรรคต่อการตีความเมื่อเวลาผ่านไปยาวนานแล้ว