"ช็อปช่วยชาติ" ไม่ช่วยเหลือปากท้องปชช. - "มาร์ค" แนะต้องรัดกุมตัวเลข หากจะลงทุนใหญ่ !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"อภิสิทธิ์" วอนรัฐบาลต้องให้ความสำคัญให้กับคนที่ไม่มีกำลังซื้อ ชี้ "ช็อปช่วยชาติ" ไม่ได้ช่วยเหลือปากท้องประชาชน - แนะ "พล.อ.ประยุทธ์" หากจะลงทุนใหญ่ต้องรัดกุมตัวเลขทางเศรษฐกิจ และควรให้นายกฯเจรจาเรื่องรถไฟไทย-จีนเอง หวั่นทำให้มีปัจจัยแทรกซ้อนไม่มีข้อยุติ ...


วันนี้ (3 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ว่า อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับคนที่ไม่มีกำลังซื้อ เช่น เกษตรกร เพราะรายได้ตกต่ำ และอย่ามองว่าการช่วยเหลือเป็นประชานิยมแต่เป็นสวัสดิการพื้นฐานระดับหนึ่ง และเป็นการบริหารเศรษฐกิจมหภาคด้วย แต่รัฐบาลไม่มีความชัดเจน เช่น ขอความร่วมมือเรื่องน้ำแต่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการชดเชยว่าจะดำเนินการอย่างไร
         


"นโยบายที่จะนำรายจ่ายมาหักภาษีได้เป็นการช่วยคนมีกำลังซื้ออยู่แล้ว คนไม่มีกำลังซื้อไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งอาจช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจปลายปีกระเตื้องขึ้นนิดหน่อยแต่ก็จะไม่ได้ช่วยเหลือปากท้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง ทั้งนี้อยากให้มีการบริหารจัดการอย่างพอดีช่วยประชาชนโดยไม่กระทบสถานะการคลัง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
         


นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการลงทุนโครงการใหญ่ในปี 2559 ว่า การลงทุนรัฐบาลต้องมีแผนทางการคลังให้ชัดเจน โครงการขนาดใหญ่ต้องดูรายละเอียดให้รัดกุมว่าตัวเลขการลงทุนคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคม สมเหตุผสมผลหรือไม่ ทั้งนี้ต้องดูรูปแบบการลงทุนว่าจะได้ข้อยุติอย่างไรถ้านำเอกชนเข้ามาหรือร่วมทุนไม่ใช่การกู้เงินอย่างเดียว เช่น กรณีรถไฟไทย-จีน อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคุยในระดับผู้นำจะทำให้หาข้อยุติได้ไม่ยากเพราะที่ผ่านมามีการเจรจาหลายคนมากเกินไปหรือไม่ทำให้มีปัจจัยแทรกซ้อนจนยังหาข้อยุติไม่ได้
         


"ถ้าภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างนี้แรงกดดันต่างประเทศ เช่น ประมง การบินที่ยังสะสางไม่ได้ การฟื้นตัวเต็มที่ยังไม่ได้ รัฐบาลคงทำได้แค่ประคองจึงต้องดูแลใกล้ชิด แนะนำให้ประชาชนนำปรัชญาพอเพียงแบบไม่สุดโต่งใช้จ่ายสมเหตุสมผล เพราะจะคาดหวังเศรษฐกิจดีทันทีไม่ได้ เนื่องจากมีความผันผวนหลายเรื่องอยู่บริหารจัดการดีก็ไม่ถึงขึ้นเป็นการเผาจริงอย่างที่มีการวิเคราะห์" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
         


นายอภิสิทธิ์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายพลังงานให้เป็นระบบต้องเอาหลักคิดและแสดงออกให้ชัดว่าใช้หลักคิดอะไร แก๊สที่ประชาชนใช้หุงต้มเป็นของประชาชนควรใช้ราคาต้นทุน แต่ถ้าไม่มีหลักคิดนี้ก็จะมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจอีกทั้งอยากให้คำนึงด้วยว่านโยบายในแต่ละด้านมีความสัมพันธ์กันหากนโยบายด้านใดด้านหนึ่งผิดก็จะกระทบกับภาพรวมในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย