"บิ๊กตู่" ห่วง !! สถานการณ์ "บ้านเมือง" ปี 59 เเนะ "ปชช." รับฟังข้อมูลเเบบเปิดใจ

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม www.tnews.co.th

"รองโฆษกนายกฯ" เผย "พล.อ.ประยุทธ์ " เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง ชี้ เป็นปีที่มีความสาหัสอยู่พอสมควร เเนะ "ประชาชน" ควรเปิดใจรับฟังข้อมูล ลองชั่งใจคิดวิเคราะห์ ว่าเกิดปัญหาอะไร


 

วันนี้(6ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า นายกฯเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมือง หลายภาคส่วนมีการวิเคราะห์กันว่าปีนี้สถานการณ์บ้านเมืองค่อนข้างจะสาหัสอยู่พอสมควร แต่ครม.คิดว่าเรื่องที่สังคมว่าหนักหนาสาหัสนั้น มันจะสามารถผ่านไปได้ ถ้าประชาชนได้ใช้วิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลทุกภาคส่วนแบบเปิดใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่พยายามจะให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ขอให้ประชาชนรองรับฟังข้อมูล ลองวิเคราะห์ ลองชั่งใจ ดูด้วยเหตุและผล ลองฟังทุกๆด้าน รวมถึงข้อมูลที่ทางภาครัฐบาลให้ว่าปัญหาเกิดอะไรขึ้น เราทำอะไรไว้บ้าง สำเร็จถึงขั้นไหน ทั้งหมดนี้จะทำให้เราผ่านพ้นความคาดหมายที่สังคมส่วนหนึ่งมองว่าปีนี้จะหนักหนาสาหัสไปได้

 

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯบอกว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามที่จะมีการสื่อสารสองทาง คือสิ่งที่เราชี้แจงต่อสังคมว่าเราได้แก้ไขปัญหาอะไร จากสาเหตุของปัญหาอะไร แล้วเราทำอะไรไปบ้างแล้วผลสัมฤทธิ์จะเกิดอะไร ในขณะเดียวกัน เราก็รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตุจากภาคประชาชนเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกๆอย่างเป็นเรื่องที่ออกจากรัฐบาลแล้วต้องกำหนดให้ประเทศชาติต้องเดินไปตามนี้ นายกฯได้เน้นย้ำว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราจึงใช้การสื่อสารสองทาง

 

"ขอทำความเข้าใจกับประชาชนไว้เลยว่าวันนี้เราไม่ได้พยายามที่จะกำหนดหรือขีดเส้นว่าบ้านเมืองจะต้องไปอย่างไร แต่เราจะต้องช่วยกันทั้งส่วนของรัฐบาลและความคิดเห็นของประชาชนบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง" โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าวและว่า ถ้าหากมีการติดตามก็จะพบว่าหลายกลุ่ม หลายฝ่าย หลายส่วน ออกมาให้ความคิดเห็นกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองการเข้าสู่อำนาจ การเลือกตั้ง การถ่วงดุล การตรวจสอบ นายกฯไม่ได้ปฏิเสธว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องการประชาธิปไตยเหมือนประเทศอื่น

 

สิ่งที่นายกฯได้พูดในตอนต้นถึงเรื่องของการเมือง การเข้าสู่อำนาจ การตรวจสอบ การถ่วงดุลนั้น เป็นเรื่องสำคัญ แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองเราผ่านพ้นกฤติเหล่านี้ไปได้ มันจะต้องประกอบด้วยเรื่องอื่นด้วย เช่น ปัญหาสำคัญของชาติที่หมักหมมมานาน มันเกิดจากการที่เราเอาเงินในอนาคตมาใช้จากนโยบายประชานิยมของกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองหรือไม่ ถ้ามันเป็นอย่างนั้น เราอยากให้ปัญหาแบบนั้นมันกลับมาหรือไม่ ถ้าไม่อยากเราก็ต้องแก้ไขแบบใหม่ให้เกิดความยั่งยืน

 

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นายกฯได้ยกตัวอย่างไปถึงเรื่องยาง ที่ราคายางตกต่ำ มันคือสิ่งที่รัฐบาลพยายามเน้นย้ำตลอดว่า เมื่อปัญหายางในตลาดโลกมันมีจำนวนมาก ประเทศต่างๆที่ผลิตมีมากขึ้น น้ำมันมีราคาต่ำ ทำให้การผลิตยางเทียมหรือยางสังเคราะห์นั้นมีราคาที่ต่ำลง และเป็นสินค้าที่มาแข่งกับยางดิบ ดังนั้นเราจึงพยายามให้แหล่งเงินลงไปในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้กู้เงิน สร้างอาชีพเสริม สร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเองและชุมชน ทั้งการปลูกพืชชนิดอื่นเสริมกับการปลูกยาง การเลี้ยงสัตว์ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริม ไม่ต้องฝากชีวิตทั้งหมดไว้กับการปลูกยางแต่เพียงอย่างเดียว

 

แต่ถ้าเกษตรกรคิดว่าวิธีนี้ไม่ถูกต้อง ต้องการให้รัฐบาลหาเงินมาสนับสนุนให้ราคายางสูงขึ้น มันเหมือนกับการแก้ปัญหาแค่เพียงระยะสั้น ปัญหาก็จะหมักหมมตามขึ้นไปอีก เราก็ต้องไปเอาเงินในอนาคตมาใช้ และเป็นเงินที่จ่ายลงไปแล้วถึงแม้จะมีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจเนื่องจากประชาชนมีรายได้รายจ่ายมากขึ้น แต่มันไม่ได้เป็นการสร้างอาชีพให้เกิดความยั่งยืน เพราะฐานภาษีเราก็มีอยู่เท่าเดิม ประเด็นการใช้จ่ายเงินในการลงทุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเรื่องอื่นก็มีเยอะ

 

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค นายกฯยืนยันว่าจะต้องมีการดำเนินการต่อไป ซึ่งโครงการทั้งหลายเหล่านี้คือค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แต่ถ้าเราเอาเงินค่าใช้จ่ายมาลงทุนกับเรื่องของการชดเชยราคาสินค้าเกษตร อันนี้ราคาต่ำใส่เงินลงไป ข้าวราคาต่ำใส่เงินลงไป เราคงไปไหนไม่รอด ก็คงวนเวียนกลับมาอยู่ในปัญหาวังวนเหมือนเดิม

 

"นายกฯจึงบอกว่า อย่าให้การเมืองมากำหนดอนาคตของประเทศไทยเสียทั้งหมด จะต้องประกอบด้วยการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติแบบยั่งยืนควบคู่ไปด้วย หากมีการสำรวจจะพบว่าประชาชนในประเทศส่วนใหญ่มีความเข้าใจในรัฐบาล อาจจะต้องเสริมด้วยการชี้แจงอธิบายความกันมากขึ้นก็ต้องทำ แต่กลุ่มการเมืองอีกบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจ จะด้วยไม่เข้าใจจริงๆเพราะไม่เคยทำหรืออาจจะด้วยตั้งใจที่จะไม่เข้าใจก็แล้วแต่ สังคมก็ต้องร่วมกันกดดันเพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤติเหล่านี้ไปได้ ถ้าเราไม่ทำ ก็หมายความว่าประเทศเราจะต้องขึ้นอยู่กับวังวนของการให้การเมืองมากำหนดอนาคตของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว