"นายกฯ" สั่งด่วน 8 กระทรวงซื้อยางไม่ต่ำ 34 บ./โล พบกดราคาฟันหนัก

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

"ไก่อู" เผยนายกฯ สั่งด่วน 8 กระทรวงช่วยซื้อยาง ชี้จันทร์นี้รู้ตัวเลขแต่ละกระทรวง ขู่พบผู้รับซื้อกดราคาต่ำกว่าโลละ 34 บาท ฟันหนักแน่ ยันไม่ใช้ ม.44 บังคับรับซื้อ 60 บาทต่อกก. ระบุทำได้ยากเพราะราคาโลกตก พร้อมวิงวอนอย่าชุมนุมปิดถนน


วันนี้ (10 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยปัญหาราคายาง และติดตามเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประชุมกับตัวแทนทุกฝ่ายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า เป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน แม้อาจไม่ทำให้เป็นที่ถูกใจทั้งหมดได้ แต่ถือว่าช่วยทำให้ปัญหาทั้งหลายผ่อนจากหนักเป็นเบา


 

โดยข้อยุติที่ได้ คือ ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อยาง ตกลงกันจะซื้อยางไม่ให้ราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบันราคายางแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 34 บาท โดยจะยังไม่พูดถึงข้อกฎหมาย และจะยกระดับราคาให้สูงขึ้นเท่าที่ทำได้ในเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน จากวันนี้ถึงวันที่ปิดกรีดยางคือ อีก 3 เดือน ประมาณการณ์กันว่า จะมียางออกสู่ตลาดประมาณ 8 แสนตัน ซึ่งกลุ่มที่ซื้อยางทุกส่วนยอมรับในกฎกติกาว่าจะแบ่งสันปันส่วนกันซื้อยางให้หมด ไม่ให้มียางตกค้าง นอกจากนี้ ในส่วนของ 16 มาตรการของรัฐบาลชุดนี้จะยังดำเนินต่อไป แล้วเรามั่นใจว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำเรื่องนี้ไปชี้แจงให้เกษตรกรที่เกี่ยวข้องรับทราบ

 

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า การยกราคาให้สูงตามที่มีการเรียกร้องกันนั้นยาก เพราะทุกคนทราบดีว่าราคายางโลกตก ปริมาณล้นตลาด จึงอยากให้คุยด้วยเหตุผล ไม่อยากเห็นการกดดันรัฐบาลแล้วทำผิดกฎหมาย เพราะปัจจุบันการชุมนุมกระทำไม่ได้ แต่รัฐบาลไม่อยากพูดเรื่องกฎหมายเพราะมันเป็นยาแรง เกษตรกรกำลังเดือดร้อนอยู่ จะบั่นทอนความรู้สึกเขา แต่เรียนไว้ว่าไม่อยากให้ทำเลย หากจะรวมกันประชุมเพื่อสรุปข้อมูลทั้งหลายแล้วรายงานมาให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เรายินดีรับฟัง แต่หากจะปิดถนน เดินขบวนมา กทม. ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง

 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าที่ นายกฯ ได้ติดตามและฝากคือ เรื่องบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จ นายกฯ สั่งการเร่งรัดให้ส่วนที่เกี่ยวข้องให้เอาเข้าที่ประชุม ครม.ให้ได้ หากวันที่ 12 ม.ค. ไม่ทัน ก็นำเข้าสัปดาห์หน้า ซึ่งถ้าบอร์ดเรียบร้อย กลไกทั้งหลายจะเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้หลังจากตกลงกันแล้วเมื่อวันที่ 7 ม.ค. จะมีส่วนต่างๆ ไปไล่ตรวจสอบว่ามีผู้รับซื้อคนใดไม่ปฏิบัติตามกติกาหรือไม่ ถ้ามีจะติดต่อเป็นรายบุคคลเป็นการเตือน ถ้ายังประพฤติอยู่ต้องว่ากันด้วยกฎหมาย แต่จะยังไม่พูดถึงมาตรา 44 เพราะยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมอยู่ คือ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 กับกฎหมายควบคุมสินค้า ทั้งนี้ เชื่อว่าอย่างน้อยมาตรการดังกล่าวจะไม่ทำให้ราคายางตกไปกว่านี้

 

โดย พล.ต.สรรเสริญ ยังระบุอีกว่า นายกฯ มีคำสั่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นจะต้องรวบรวมความต้องการว่าจะช่วยรับซื้อยางในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงอย่างไร เพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แล้วส่งสำเนามาให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวบรวมภายในเวลา 12.00 น. วันที่ 11 ม.ค.นี้ โดย นายกฯ ให้แต่ละกระทรวงใช้งบประมาณตัวเองในการรับซื้อ และมีความเป็นไปได้ว่าจะรายงานเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 12 ม.ค.นี้เลย ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และวิงวอนว่าอย่าทำในลักษณะที่กดดันรัฐบาล เพราะการกดดันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากคุยด้วยเหตุผล ยอมรับว่าราคาไปแค่ไหนอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ราคาทรุดไปกว่านี้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีอะไรเป็นหลักประกันว่าราคาจะไม่ตกกว่านี้ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ความจริงใจ รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาทุกเรื่อง เกษตรกรทุกกลุ่มรัฐบาลรับมาหมด อะไรที่เป็นปัญหาของเกษตรกร เราพยายามลงไปให้ถึงต้นตอจริงๆ รับฟังว่ามันทำได้แค่ไหน หากอุดหนุนแค่พึงพอใจประเดี๋ยวประด๋าวถือว่าไม่ถูกต้อง