เริ่มเเล้ว !! "มีชัย" ถก "กรธ." นอกสถานที่  ยก เนื้อหา "ม.7" ใส่ไว้ในส่วนของ "ศาล รธน."

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธ์ " เริ่มประชุม กรธ. นอกสถานที่วันเเรก  ร่ายเนื้อหาตั้งเเต่มาตรา 1 พร้อมยกมาตรา 7 ของเดิมจาก "ร่าง รธน.50" มาบัญญติใส่ไว้ในส่วนของอำนาจ "ศาลรัฐธรรมนูญ"


วันนี้ (11 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล เลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ เป็นวันแรก โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานในที่ประชุมฯ โดยเริ่มการประชุมเวลา 09.00 น. ทั้งนี้ นายมีชัย ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนสามารถเข้าร่วมรับฟังการประชุมฯ ได้ แต่ขอความร่วมมือจากสื่อโดยห้ามบันทึกภาพและเสียงระหว่างการประชุมในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยได้เริ่มต้นตั้งแต่มาตรา 1 ว่าด้วยบททั่วไป โดยที่ประชุมกำหนดให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ประโยชน์ส่วนร่วมและความผาสุก

 

ต่อมา ทาง กรธ. ได้เข้าสู่การพิจารณาในหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่ เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้ และพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งพระพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาถึงหลักการในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก่อนเข้ารับหน้าที่ จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อผู้แทนพระองค์หรือรัชทายาทที่บรรลุนิติภาวะได้ และให้มีการเพิ่มเติมให้สามารถทำหน้าที่ระหว่างการรอถวายสัตย์ฯได้เลย โดยในที่ประชุมได้ยกตัวอย่างที่เคยมีกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะอยู่ระหว่างรอการถวายสัตย์ฯ ส่วนการพิจารณาเกี่ยวหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในมาตรา 25 ก็บัญญัติสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่ระบุหลักการการ การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ไม่กระทบกระเทือนต่อผู้อื่น

 

จากนั้น นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. ได้แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการประชุมฯ ว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมพิจารณาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่หมวดทั่วไป หมวดพระมหากษัตริย์ โดยในมาตรา 4 ที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ใช้การคุ้มครองปวงชนชาวไทย แทนคำว่าบุคคล เพื่อให้ความชัดเจนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ใช้คุ้มครองปวงชนชาวไทย ส่วนเรื่องสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งรวมถึงกรณีถึงบุคคลที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย จะบัญญัติรายละเอียดไว้ในมาตราอื่นต่อไป

 

นายอมร แถลงอีกว่า ที่ประชุม ฯ มีการหารือกันเกี่ยวกับการร่างเนื้อหาในลักษณะเดียวกับมาตรา 7 เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ควรนำบทบัญญัติลักษณะนี้ไปไว้ในบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นผู้วินิจฉัย และมีแนวทางจะปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ ไม่ใช้คำว่าประเพณีการปกครอง เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีปัญหาในอดีต แต่อย่างไรก็ตามทาง กรธ. จะพยายามบัญญัติช่องทางแก้ปัญหาต่างๆไว้รอบด้าน เพื่อให้การตีความทุกเรื่องมีช่องทางที่ชัดเจน อีกทั้ง ที่ประชุมฯ มีมติไม่บัญญัติว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ให้บัญญัติหลักการเกี่ยวกับหลักคุ้มครองพระพุทธศาสนา ซึ่งเห็นว่าจะมีประโยชน์ในทางปฏิบัติมากกว่าด้วย