เคาะแล้ว !! ศาลรธน.มีอำนาจชี้ขาดปมล้มล้างการปกครอง - ลุยถกหน้าที่ปวงชนชาวไทยต่อ

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"อุดม รัฐอมฤต" เผยกรธ.ได้เคาะมาตรา 48/1 แล้ว บุคคลมีสิทธิ์ร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายใน 30 วันเพื่อลดภาระหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการคัดกรองเรื่อง แต่หากไม่มีการดำเนินการตามที่ร้อง ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ร้องยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ - พร้อมลุยถกพิจารณาหมวดที่ 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทยต่อ ...

 


วันนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล เลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นอกสถานที่ เป็นวันที่สอง ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานในที่ประชุมฯ โดยเริ่มการประชุมเวลา 9.00 น. ซึ่งเริ่มมีการพิจารณาในมาตรา 48 หมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่ระบุว่า บุคคลที่จะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ โดยบัญญัติให้ผู้ที่ทราบว่าการมีกระทำดังกล่าว มีสิทธิ์ร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ซึ่งเป็นเนื้อหาเช่นเดียวกับมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งในเวลานี้ ที่ประชุมฯ กำลังพิจารณาหมวดที่ 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย
         


หลังจากนั้น นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. แถลงข่าวว่า ที่ประชุมยังมีการรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ เช่น เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ เป็นต้น ซึ่งทาง กรธ. ได้ยึดหลักที่ว่า ตราบที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติหรือห้ามไว้ ก็สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ส่วน ในมาตรา 48/1 ที่ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ซึ่งเป็นเนื้อหาเช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่มีการเขียนเพิ่มเติมไว้ให้ ผู้ที่ทราบว่ามีการกระทำดังกล่าว มีสิทธิ์ร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายใน 30 วัน เพื่อลดภาระหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการคัดกรองเรื่อง แต่หากอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการตามที่ร้อง ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ร้องยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเป็นการบัญญัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาถกเถียงกันเช่นในอดีต การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ชี้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้หรือไม่ และให้หยุดการกระทำดังกล่าว แต่การรับโทษอื่นๆ ทั้งทางอาญา หรือการยุบพรรคการเมือง ขึ้นอยู่กับการกำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือประมวลกฎหมายอาญาต่อไป
         


นายอุดม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ การพิจารณาบทบัญญัติช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ มีเนื้อหาอื่นๆ สำคัญเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เช่น มาตรา 47 เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบปราศอาวุธ โดยระบุหลักการไว้เช่นเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และยังย้ำหลักหลักการที่มีการพิจารณาเมื่อวานนี้ เรื่องเนื้อหาตามมาตรา 7 เดิมในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้เป็นเรื่องวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ทาง กรธ.มองว่า การอุดช่องโหว่ที่ไม่มีบทบัญญัติรับรองไว้ ศาลสามารถใช้หลักการหาตัวบทกฎหมายอื่นๆมาตีความได้ จึงให้ขึ้นอยู่ที่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ