"วิษณุ" จ่อเรียก "องค์กรอิสระ" ถกออกแบบหลักสูตร - ยึดหลัก 3 ข้อประเมินขรก.เกียร์ว่าง !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"วิษณุ เครืองาม" เตรียมเชิญองค์กรอิสระต่างๆมาร่วมหารือเรื่องการออกแบบหลักสูตรของแต่ละองค์กร รวมถึงคุณสมบัติของผู้ที่เข้าเรียน พร้อมกันนี้ยังประเมินข้าราชการเกียร์ว่างแบบ 360 องศา โดยให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อร่วมงาน ประชาชน เป็นผู้ประเมิน โดยยึดหลักที่กำหนดอีก 3 ข้อในการประเมิน ...

 


วันนี้ (13 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดระเบียบหลักสูตรต่างๆ ขององค์กรอิสระ ว่า ตนเตรียมเชิญองค์กรต่างๆ มาหารือขอความร่วมมือ เรื่องการออกแบบหลักสูตรขององค์กรนั้นๆ เพราะระบบราชการเหมือนตลาดที่จะใช้ประโยชน์จากคนที่ผ่านการอบรมมา รวมถึงเรื่องของคุณสมบัตรของผู้ที่เข้าเรียน วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอมาว่า ใครเข้าหลักสูตรนี้แล้วจะเข้าหลักสูตรอื่นอีก ต้องเว้นกี่ปี เรื่องการดูงานว่าแบบไหนจะได้ประโยชน์กว่ากัน และการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบางครั้งมีการลงขันกันขายบัตร และไปรบกวนคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในหลักสูตร เขาร้องเรียนมายังรัฐบาลเพราะขัดไม่ได้เนื่องจากผู้อยู่ในหลักสูตรต่างเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ จะให้รัฐบาลปรามได้หรือไม่ ก็จะได้มีการพูดกันให้เรียบร้อย ทั้งนี้ จะไม่มีการออกกฎระเบียบอะไรไปบังคับ เพราะรัฐบาลไม่ได้เป็นเจ้าของหลักสูตร แต่รัฐบาลคุมเงินที่ส่งคนไปเรียน เราต้องคุมตรงนี้ ใครจะควักกระเป๋าไปเรียนเองแล้วไม่กระทบเวลาราชการก็ทำได้ แต่จะให้เวลาราชการและใช้เงินรัฐบาลไปเรียน รัฐบาลมีสิทธิคุม แม้จะมีการเปิดหลักสูตรเฟ้อ ไม่เป็นไร แต่อย่าเรียนเฟ้อ ทำกิจกรรมเฟ้อ ทำกันเองในรุ่นตัวเองไม่เป็นไป แต่ปัญหาลามไปถึงคนที่ไม่เกี่ยวด้วย

 

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นข้าราชการเกียร์ว่างที่จะใช้เกณฑ์การประเมินแบบใหม่ที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย. ว่า เป็นการประเมินโดยเราเป็นเหมือนครูออกข้อสอบไม่ใช่หน่วยงานที่ถูกประเมินเป็นผู้ออกข้อสอบเอง การประเมินยึดหลัก 3 ข้อ คือ 1. ประเมินจากภาระหน้าที่ปกติ 2.ประเมินตามยุทธศาสตร์หรือภารกิจพิเศษ เพราะผู้บริหารแต่ละคนมีภารกิจพิเศษแตกต่างกัน เช่น การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เรื่องของการแก้ไขปัญหาการบินระหว่างประเทศ ประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ 3. ประเมินจากพื้นที่ เพราะในบางพื้นที่นั้นมีภารกิจพิเศษ ขณะที่บางพื้นที่นั้นไม่มี เช่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับประชาชนเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทง ทั้งนี้ การประเมินจะทำแบบ 360 องศา คือ ให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ประชาชน เป็นผู้ประเมิน โดยเริ่มใช้หลักนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 59 เป็นต้นไป และจะรู้ผลว่าการเมินนั้นเป็นคุณหรือโทษในวันที่ 1 ต.ค. 59 ซึ่งเป็นคุณหมายถึงการเลื่อนขั้น การเพิ่มงบประมาณ การให้โบนัส เป็นโทษหมายถึงการลดงบประมาณ งดโบนัส มีการแต่งตั้งโยกย้าย สับเปลี่ยนตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ยังต้องมีการออกแบบแบบฟอร์มเกี่ยวกับการประเมินอีก
         

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการทำงานไม่เข้าเป้าอย่างรุนแรงและมีความผิดรุนแรง จำเป็นต้องรอถึงเดือนต.ค.หรือไม่ ?

 


นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ารุนแรงก็ต้องจัดการเพราะจะเกิดความเสียหาย แต่เชื่อว่าโดยทั่วไปคงจะมีการให้โอกาสหากสามารถอธิบายเหตุผลได้ การทำงานของข้าราชการที่ผ่านมาถูกเรียกว่าทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เรามีวิธีการจัดการคือ ทำให้ต้องมีการปรับตัว ซึ่งการประเมินนี้จะเป็นตัวช่วยและการควบคุมกับผู้บังคับบัญชา ก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น ที่ง่ายๆ คือ เครื่องเอ็กซ์เรย์มีหลายเครื่อง พลาดจากเครื่องนี้ยังมีเครื่องอื่นคอยดูแล อย่าลืมว่าประชาชนก็มีส่วนในการประเมินด้วย หากคะแนนจากนายให้มาดี แต่ประชาชนบอกว่าไม่ได้เรื่อง คะแนนประชาชนก็จะมีน้ำหนัก
         

 

นายวิษณุ กล่าวว่า เราต้องการคือ 1.ให้ข้าราชการกระฉับกระเฉง ว่องไว ไม่เข้าเกียร์ว่าง 2.เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล 3.เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูประบบราชการเพื่อที่จะบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ คงไม่ถึงกับที่จะแข่งกับเอกชน แต่ต้องการให้เขาแข่งกันเองในหมู่ข้าราชการก่อน และเมื่อไปถึงจุดหนึ่งก็จะสามารถแข่งกับเอกชน ขณะนี้เหมือนกับกระต่ายแข่งกับเต่า เราคงไม่เอาเต่าไปแข่งกับกระต่ายให้เต่ากับเต่าแข่งกันเองก่อน ก็พอไปได้แล้ว จากนั้นค่อยคัดเต่าที่ดีที่สุดไปแข่งกับกระต่าย เราจึงได้เอาเอกชนเข้ามาช่วยด้วย การประเมินครั้งนี้เน้นเฉพาะฝ่ายบริหาร ส่วนระดับล่างก็ให้ผู้บังคับบัญชาใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ในการประเมินผู้ใต้บังคับบัญชา หากผู้บังคับบัญชาคุมลูกน้องไม่ได้นั้นถือว่าบกพร่อง
         

 

"ข้าราชการเกียร์ว่างเป็นปัญหาของระบบราชการไทยมาทุกยุค ทุกสมัย ผมอยู่กับระบบนี้มานาน เห็นมานาน เมื่อมีเกณฑ์ประเมินแบบใหม่จึงต้องประเมินกันหลายปีถึงจะแก้ได้หมด ลองคิดจากการที่ไม่มีการประเมิน คนไม่กลัวอะไรเลย พอประเมินมันก็ต้องกลัว มันก็ต้องดีขึ้นจากเดิมแน่ อย่างไรก็ตาม บรรดาข้าราชการที่ใกล้เกษียณยิ่งไม่ต้องกลัวใครจะทำอะไรเขา หรือพวกที่ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ คงนึกว่าไม่มีใครกล้าไปย้ายเขา แต่เราจะอาศัยถ้าเล่นงานคุณไม่ได้ เล่นงานหน่วยงานคุณได้ เช่น ตัดงบประมาณ" นายวิษณุ กล่าว