"ยรรยง" เชียร์อีกเสียง !!  หนุน "รัฐบาล"  อุ้มชาวสวนยาง เเนะ เลิกอคติหยุดบินเบือน "ช่วยเกษตร"

ติดจามข่าวสารเพิ่มเติม www.tnews.co.th

"อดีต รมช.พาณิชย์" สนับสนุนอีกเสียง !! เชียร์ให้ "รัฐบาล" รับซื้อยางพารา ก่อนที่ราคาจะดิ่งลงเหว  เเนะ ทุกฝ่ายให้เลิกอคติหยุดบิดเบือน หวังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร เผย รู้สึกตื้นตันมาก ที่รัฐบาลเข้าไปช่วยอุ้มชาวสวนยาง


วันนี้(15 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัว "Yanyong Puangraj" ระบุว่า ขอเชียร์ให้รัฐบาลรีบรับซื้อยางพาราเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ก่อนราคาดิ่งตกเหว


ทั้งนี้ มาตรการรับซื้อยางโดยตรงจากชาวสวนยางเป็นคำเฉลยคำตอบว่า การรับจำนำข้าวเพื่อช่วยชาวนาเป็นการทำหน้าที่ของรัฐที่ถูกต้องเหมาะสมและจำเป็น ผมขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายเลิกอคติ และหยุดบิดเบือนและประทับตราบาปว่า การช่วยเหลือเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าว หรือรับซื้อยาง เป็นประชานิยมที่เลวร้าย


ผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้รับทราบข่าวว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยจะเข้าไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรงในราคาสูงกว่าราคาตลาด แต่ไม่เกินกิโลกรัมละ 45 - 60 บาท จำนวนไม่เกิน 1 แสนตัน ซึ่งผมเข้าใจว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ตระหนักแล้วว่าการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นภารกิจและหน้าที่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของรัฐ และรัฐบาลชุดนี้ได้ก้าวข้ามกับดักประชานิยมได้แล้ว


ที่ผมดีใจอีกอย่างคือ รัฐบาลเริ่มเข้าใจถูกต้องว่า สภาพของปัญหาที่แท้จริงคือเรื่องตลาดและราคายางที่ตกตํ่าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ที่รัฐบาลออกมารับซื้อก็เพื่อปรับกลไกตลาดให้เกิดสมดุล เพราะผลผลิตทั้งโลกประมาณปีละ 12.8 ล้านตัน ในขณะที่มีการใช้ยางปีละประมาณ 12.2 ล้านตัน ผลผลิตในไทยปีละประมาณ 4.5 ล้านตัน ส่งออกปีละประมาณ 3.7 ล้านตัน จึงมีอุปทานส่วนเกิน (surplus supply) คือ ปริมาณผลผลิตมากกว่าการใช้อยู่ประมาณปีละ 7 - 9 แสนตัน ซึ่งเป็นตัวฉุดราคาสินค้าเกษตรชนิดนั้นให้ตกตํ่าทั้งหมด (Marginality Theory) ซึ่งมีผลเหมือนกันทั้งยางพารา และข้าว


การที่รัฐบาลเข้าไปรับซื้อยางหรือรับจำนำข้าวจากเกษตรกร เป็นการสร้างแรงกดดันให้พ่อค้าหรือผู้ใช้ไม่ให้กดราคาเกษตรกร เพราะรัฐเข้ามาช่วยอุ้มสต็อกส่วนเกินไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องแย่งรับซื้อยางหรือข้าวแพงขึ้น เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะใช้หรือบริโภค ดังจะเห็นได้จากราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ช่วงที่ไม่มีโครงการรับจำนำราคาตลาดเฉลี่ยประมาณตันละ 6,000 - 7,500 บาท แต่เมื่อมีโครงการรับจำนำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะมีราคาสูงขึ้นเป็นตันละ 9,000 - 11,500 บาท


เหตุผลที่ผมเชียร์ให้รัฐบาลรีบออกไปรับซื้อยางจากเกษตรกรโดยตรง ก็เพราะเป็นมาตรการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการรับจำนำข้าวช่วยชาวนาแทบทุกประการ ซึ่งพอสรุปง่ายๆ ดังนี้ 1.เป็นมาตรการแทรกแซงราคาที่ต้องการกดดันให้ราคาสูงขึ้น โดยรัฐเข้าไปอุ้มเกษตรกรโดยการรับซื้อในราคานำตลาด (เช่นราคาตลาดแผ่นยางดิบ กก.ละ 32 บาท รัฐบาลรับซื้อ กก.ละ 45 - 60 บาท) เป็นการเพิ่มทางเลือก และอำนาจต่อรองให้เกษตรกร 2.ทำให้เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรง โดยการรับซื้อหรือรับจำนำจากเกษตรกรโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเร็วขึ้นและมากขึ้น


แต่มีข้อแตกต่างกันคือ การรับจำนำข้าวเกษตรกรมีสิทธิไถ่ถอนภายใน 4 เดือน แต่การรับซื้อยางพาราเกษตรกรไม่มีสิทธิไถ่ถอน เพราะเป็นการโอนสิทธิเด็ดขาดให้รัฐไปเลย


ผมเห็นว่าการรับซื้อยางพาราจะประสบความสำเร็จคือสามารถผลักดันให้ราคายางสูงขึ้นได้ต้องรับซื้อในราคาสูงและในปริมาณที่มากพอ (เทียบกับอุปทานส่วนเกินที่มีอยู่ประมาณ 7 - 9 แสนตัน) ทำนองเดียวกับที่ต้องรับจำนำข้าวปริมาณมาก พูดง่ายๆ คือ ต้องใช้ยาแรง


ผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลรับซื้อยางในราคาสูง (กก.ละ 45 - 60 บาท น่าจะเหมาะสม) แต่ถ้ารับซื้อเพียง 1 แสนตัน น่าจะไม่พอ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันมีอุปทานส่วนเกินค่อนข้างสูง (คาดว่าประมาณ 7 - 9 แสนตัน) และเกษตรกรชาวสวนยางที่เดือดร้อนมีจำนวนมากกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน ถ้ารับซื้อจำกัดจะมีปัญหาการรับซื้อกระจายไม่ทั่วถึง


ผมเชื่อมั่นว่า การที่รัฐบาลรับซื้อยางจะทำให้ทุกฝ่าย รวมทั้งรัฐบาล คสช. แม่นํ้าทั้งห้าสาย และฝ่ายตุลาการ ได้ปรับมุมมองและทัศนคติเกี่ยวกับนโยบายการช่วยเหลือเกษตรกร และให้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้สังคมสามารถก้าวข้าม "กับดักประชานิยมได้อย่างแท้จริง"