"กรธ." สุดเข้ม !! "ส.ส.-ส.ว." หมดสิทธิ์แปรญัตติงบหลวง - นายกฯนั่งแท่นห้ามเกิน 8 ปี

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"อุดม รัฐอมฤต" ป้องกันการทุจริตสุดเข้ม !! "ส.ส.-ส.ว." ไม่มีสิทธิ์แปรญัตติงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งหากละเมิดกฎหมายจะถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งตลอดชีวิต โดยครม.ก็โดนด้วยหากรู้เห็นเป็นใจแก่กัน - กำหนดนายกฯ-ครม.ได้ไม่เกิน 35 คน โดยนายกฯจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี ส่วนคุณสมบัติเช่นเดียวกับ ส.ส.

 

 

วันนี้ (15 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงผลการพิจารณาบทบัญญัติในหมวด 7 รัฐสภา ส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทที่ใช้แก่สภาและการประชุมร่วมกันของรัฐสภา รวมทั้งการพิจารณาบทบัญญัติในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี ว่า สำหรับกระบวนการการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทางกรธ.กำหนดว่า เมื่อรัฐสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้วให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการส่งให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นดำเนินการตรวจสอบการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
         

 

รวมทั้งปัญหาในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่มีการตราขึ้นด้วย และถ้าหากองค์กรที่เกี่ยวข้องนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่ามีปัญหาก็สามารถส่งเรื่องให้นายกฯเพื่อส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเห็นตามที่องค์กรนั้นเสนอความเห็นก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการส่งพระราชบัญญัติกลับไปให้นายกฯเพื่อตีกลับให้รัฐสภาพิจารณาร่วมกันว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัตินั้นอย่างไร ก่อนที่จะนำเสนอให้นายกฯดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
         

 

นายอุดม กล่าวต่อว่า สำหรับการพิจารณาเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดิน กรธ.ได้เห็นชอบหลักการโดยให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินแผ่นดินไปตามกฎหมายงบประมาณรายจ่าย กฎหมายวิธีการงบประมาณ กฎหมายโอนงบประมาณและกฎหมายเงินคงคลังเป็นหลัก โดยกรณีนี้เป็นการอุดช่องว่างเพื่อป้องกันการใช้จ่ายเงินแผ่นดินไปในทางที่เสียหายต่อประเทศ โดยการพิจารณาการเงินของแผ่นดินต้องมีการกำหนดแบบแผนปฏิบัติที่ชัดเจน ขณะเดียวกัน การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ กรธ.เล็งเห็นความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ส.-ส.ว.กรรมาธิการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาใช้จ่ายเงินงบประมาณ แปรญัตติเพื่อเปิดโอกาสให้ส.ส. ส.ว.มีส่วนในการกำหนดโครงการหรือให้ความเห็นชอบต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพราะการให้ส.ส. ส.ว.แปรญัตติเพื่อให้ตัวเองมีส่วนต่อการกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณหรือกำหนดโครงการที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากนักการเมืองเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นกรธ.จึงกำหนดว่าหากบุคคลใดก็ตามรวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รู้เห็นเป็นใจต่อการแปรญัตติเพื่อให้นักการเมือง ส.ส.-ส.ว. มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณ บุคคลเหล่านั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องถูกเรียกให้ชดใช้เงินที่ได้มีการนำไปใช้ในโครงการต่างๆด้วย
         

 

"กรณีนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ และเป็นยาแรง เป็นการป้องกันการครอบงำการใช้จ่ายงบประมาณ ของส.ส. และส.ว.ด้วยกันเอง และให้รัฐสภาตรวจสอบสมาชิกรัฐสภาด้วยการเข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตรวจสอบหากพบว่า มี ส.ส. ส.ว. คนใดกระทำผิดก็จะตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เช่นเดียวกันครม.ก็จะถูกตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งด้วยและอาจทำให้พ้นทั้งครม.หรืออาจเฉพาะตัวบุคคล ที่ผ่านมาช่องว่างตรงนี้เป็นช่องว่างที่ใหญ่มากของการนำงบประมาณของประเทศไปใช้โดยไม่คำนึงถึงแบบแผนที่รัฐบาลวางไว้" นายอุดม กล่าว
         

 

ส่วนการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯนั้น ปกติที่ผ่านมาร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจะมีปัญหาการขอให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกรธ.จึงกำหนดให้นายกฯรอเวลาในการนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯไว้เป็นระยะเวลา 5 วันเพื่อเปิดโอกาสให้ส.ส.-ส.ว.ได้มีโอกาสทักท้วงกรณีที่เห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

 


นายอุดม กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบฝ่ายบริหารกรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้าน มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 5 ในการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ทางกรธ.ได้เปิดช่องให้มีการขอเปิดอภิปรายได้โดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่เป็นการยื่นอภิปรายเพื่อให้ครม.หรือนายกฯได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและชี้แจงปัญหา เช่นเดียวกับ ส.ว.ก็มีสิทธิยื่นเปิดอภิปรายเพื่อให้ครม.ชี้แจงได้เช่นกัน นอกจากนี้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านสามารถของสภาผู้แทนราษฎรสามารถยื่นขอให้เปิดประชุมรัฐสภานัดพิเศษเพื่ออภิปรายกรณีปัญหาความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศ เพื่อหารือแก้ไขปัญหาร่วมกันของรัฐสภาและครม.ด้วย
         

 

นายอุดม กล่าวอีกว่า การพิจารณาบทบัญญัติในหมวดคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรธ.กำหนดองค์ประกอบของนายกฯและรัฐมนตรี จำนวนไม่เกิน 35 คน โดยนายกฯ จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งและจะต้องเป็นรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯได้นั้นจะต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมด ซึ่งนายกฯจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 8 ปีมิได้ ขณะที่คุณสมบัติของนายกฯและครม.นั้น หลักการจะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับส.ส. แต่จะต้องเป็นบุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และหากเป็นบุคคลที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติจากกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง หรือความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ต้องเว้นวรรคการเป็นรัฐมนตรีเป็นระยะเวลา 2 ปี ส่วนการกำหนดนโยบายของครม.จะต้องมีความสอดคล้องกับบทบัญญัติในหมวดหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติและสถานะทางการเงินการคลังของรัฐด้วย
         

 

นายอุดม กล่าวว่า สำหรับประเด็นการทำหนังสือสัญญาระหว่างองค์การระหว่างประเทศ หรือมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบประเด็นสำคัญโดยเฉพาะเขตอำนาจอธิปไตย ผลประโยชน์ที่กระทบต่อชาติ ทางกรธ.เห็นสมควรมีพระราชบัญญัติกำหนดหลักเกณฑ์ขอบเขตของสัญญาเหล่านี้เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาที่ฝ่ายบริหารไปตกลงกับต่างประเทศต้องนำมาเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบกรณีใดบ้าง
         

 

เมื่อถามว่า ช่วงรอยต่อหากมีเหตุส่งผลให้หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองกันกันเอง จนไม่สามารถเลือกนายกฯที่ได้เสียงข้างมากได้ จะทำให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการไปตลอดหรือไม่และครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ จะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลรักษาการทันทีที่มีการเลือกตั้งหรือไม่ ?

 

นายอุดม กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับรัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ส่วนข้อกังวลว่าเลือกกันไปเท่าใดก็ไม่ได้นายกฯเสียงข้างมากนั้น หากสภาฯเปิดได้แต่ยังเลือกนายกฯไม่ได้ คนที่รักษาการก็คงต้องรักษาการต่อไป แต่ขณะนี้กรธ.ยังไม่ได้มีการเขียนบทเฉพาะกาลเลย ส่วนจะเขียนออกมาอย่างไรนั้นคงต้องรอดูอีกครั้ง