"ก.เกษตรฯ" ประกาศตั้งจุดรับซื้อยาง 3 พันจุด ทั่วประเทศ ! ด้านแกนนำยางอีสานวอนขอ 60 บ.

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"โฆษกกระทรวงเกษตร" ประกาศจุดรับซื้อยางพาราทั่วประเทศ 3 พันจุด แบ่งเป็นภาคใต้ 2 พันแห่ง อีสานและเหนืออย่างละพันแห่ง  เริ่ม 25 ม.ค.นี้  -ด้านแกนนำยางอีสาน ขอราคากิโลกรัมละ 60 บ. เพื่อความอยู่รอดของคนใต้ ที่แบกต้นทุนปลูก 64 บ. 

 

 

วันนี้ ( 15 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า     นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุถึงผลการหารือร่วมกับแกนนำชาวสวนยางภาคเหนือและภาคอีสาน หลังเข้ารับฟังแนวนโยบายการรับซื้อยางของรัฐบาลว่า ได้มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.จัดจุดรับซื้อน้ำยางพาราปริมาณ 1 แสนตัน จากเกษตรกรรายย่อยโดยตรงในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 2 พันแห่ง ภาคเหนือ และ อีสานจำนวน 1 พันแห่ง โดยจะรับซื้อ ไม่เกินรายละ 150 กิโลกรัม ซึ่งจะเริ่มรับซื้อได้ในวันที่ 25 มกราคมนี้

 

 


          ทั้งนี้เบื้องต้นได้มอบหมายให้กยท.ลงพื้นสำรวจจุดรับซื้อน้ำยางพาราในราคากิโลกรัมละ 45 บาทจากเกษตรกร รวมถึงขอความร่วมมือตัวแทนเกษตรในการดูแล แต่ในส่วนของรายละเอียดของเกษตรกรที่จะสามารถขายน้ำยางให้แก่กยท.นั้น จะเร่งดำเนินการเพื่อกำหนดความชัดเจนก่อน 25 มกราคมนี้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯได้มีมาตรการผ่านทั้ง 15 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมีรายได้ที่นอกเหนือจากยางพารา

 


          ด้านตัวแทนเกษตรกรตัวแทนภาคเหนือและภาคอีสาน ระบุว่า เข้าใจถึงสถานการณ์ราคายางพาราในประเทศที่ปรับตัวลดลงว่าเป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงนั้น ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรภาคใต้เป็นหลัก เพราะในพื้นที่ภาคใต้นิยมปลูกพื้นเชิงเดียว ดังนั้นเมื่อราคายางลดลงจึงเดือดร้อนมากกว่าเกษตรกรชาวสวนยางในภาคอื่น จึงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลรับซื้อยางพาราในกิโลกรัมละ 60 บาท เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรเพราะต้นทุนการผลิตยางปัจจุบันอยู่ที่ 64 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางภาคเหนือและภาคอีสานค่อนข้างได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวน้อยเนื่องจากได้มีการทำไร่นาสวนผสม

 


          นอกจากนี้กระทรวงยังได้หารือถึงแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ ร่วมกับ 8 กระทรวง เพื่อแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ โดยที่ประชุมได้ให้แต่ละกระทรวงฯกลับไปจัดทำแผนการใช้ยางพาราของแต่ละกระทรวงให้ชัดเจน เนื่องจากต้องการให้แต่ละกระทรวงใช้งบประมาณปกติ ที่สามารถดำเนินงานได้ทันที แทนการใช้งบกลางจะต้องตั้งเรื่องขออนุมัติจากรัฐบาลอีก ซึ่งจะเกิดความล่าช้าในการรับซื้อยางพารามาใช้ประโยชน์ และให้แต่ละกระทรวงปรับแผนงานปี 2559 ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการจะทำ และนำเสนอกระทรวงอีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า