"วันชัย" พบช่องโหว่ "เลือกตั้งสว.แบบไขว้" !! หวั่นบล็อคโหวต-แลกซื้อคะแนน

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th


 
"วันชัย" เผยระบบเลือกตั้งสว.แบบไขว้ น่าจะมีปัญหา และไม่สามารถคัดกรองคนดีเข้าสภาได้ เนื่องจากมีช่องทางบล็อคโหวตและแลกคะแนนผ่านการใช้เงิน  -แนะแก้ ที่คณะกรรมการสรรหาให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ก็จะแก้ปัญหาที่มาของสว.ได้ 

 

 

วันนี้ ( 17 มค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยเลือกกันแบบไขว้กลุ่ม รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ใหม่ โดยภาพรวมของที่มาน่าจะดี แต่วิธีการของการเลือกไขว้กลุ่มน่าจะเป็นปัญหา และอาจจะทำให้ไม่สามารถคัดกรองคนดีมีความรู้ความสามารถมาเป็น ส.ว.ได้ เพราะวิธีการแบบนี้จะทำให้เกิดการบล็อคโหวต แลกคะแนน และอาจจะทำให้เกิดการใช้เงินซื้อคะแนนกันได้ ดังที่เคยปรากฏมาแล้วในองค์กรบางองค์กรที่ให้มีการเลือกกันแบบนี้ และในที่สุดก็ทำให้ไม่ได้คนดีดังที่ต้องการ จึงไม่ควรจะมากำหนดวิธีการดังกล่าว เพราะเป็นสิ่งชำรุดในอดีตที่ไม่ควรจะมีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งก็จะทำให้การได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นไปในลักษณะแห่งความล้มเหลวเหมือนที่เคยเป็นมา ตนมองว่า ทางที่ดีควรเอาวิธีการสรรหาที่เคยทำมาแล้ว มาพิจารณาดูว่า มีจุดอ่อน จุดแข็ง จุดบกพร่อง จุดดี ว่าอยู่ตรงไหน แล้วก็แก้ที่จุดนั้น

 

 


          ทั้งนี้ ตนมองว่า ในอดีตน่าจะมีปัญหาอยู่ที่คณะกรรมการสรรหาว่าจำนวนน้อยไป ไม่หลากหลาย ไม่โปร่งใส ก็แก้ให้กรรมการสรรหามีจำนวนมากขึ้น หลากหลายมากขึ้นและวิธีการจะต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ก็จะแก้ปัญหาที่มาของ ส.ว.อย่างที่สังคมต้องการได้

 

 

 


          นายวันชัย กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาใดๆ ในรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นการแก้ปัญหาในอดีต และสร้างความก้าวหน้าขึ้นมาใหม่ มิใช่ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง เท่าที่ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่เห็นความชัดเจนในกลไกที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมอย่างเป็นระบบ และเป็นความหวังของประชาชนคนไทยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพราะกลไกที่สำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมได้นั้น น่าจะอยู่ที่ 3 ส่วน คือ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2.ข้าราชการทุกระดับ และ 3.ภาคประชาชน

 

 

 


          "ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องไปด้วยกัน ทำงานให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม เปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนแนวทาง และเปลี่ยนความคิดในการเลือก ซึ่งกลไกในรัฐธรรมนูญจะต้องมีให้ทั้ง 3 ส่วนนี้ร่วมกันทำงาน เปลี่ยนจากแนวทางเดิมๆ ซึ่งจากร่างที่แถลงออกมานั้น ยังไม่เห็นอะไรใหม่ที่จะเป็นกลไกในการแก้ไขเรื่องการเลือกตั้งได้อย่างชะงัด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ กรธ.จะต้องวางกลไกให้มีผล และเป็นความหวังของการเมืองที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า หากทำไม่ได้ กลไกไม่มีก็จะล้มเหลว การเมืองก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม" นายวันชัย กล่าว

 

 

 


          ดังนั้น ก่อนเลือกตั้ง ส.ส.ควรจะมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลที่ค้างคาอยู่นี้เป็นโซนๆ หรือเป็นภาคๆ ไป เพื่อเป็นการซักซ้อมการเลือกตั้ง เป็นการปฏิบัติจริงว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน จุดบกพร่องอยู่ตรงไหน เมื่อดำเนินการแบบนี้เชื่อว่า หากถึงวันที่มีการเลือกตั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเข้าที่เข้าทาง แก้ไขเรื่องการเลือกตั้งได้อย่างแท้จริง