"วัฒนา" รับไม่ได้ต้องก้มหัวเผด็จการ ? ยอมแค่น้ำมือประชาชนเท่านั้น

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"วัฒนา เมืองสุข" สวนกลับ "สุเทพ"  ไม่ควรตำหนิต่างชาติที่เข้ามาก้าวก่ายเรื่องภายในประเทศ  เนื่องจากเรามีพันธะสัญญากับประชาคมโลก -ส่วนเรื่องยังยืนกรานคำเดิม  ย้อนหลังไปได้ก็จะทำม็อบไล่ยิ่งลักษณ์ ไม่มีความเห็น แต่ตนยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากน้ำมือประชาชน แต่ไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ 

 

 

 

วันนี้ ( 17 มค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า    นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย "ผมอ่านข่าวที่หมอมงคล ณ สงขลา โพสต์ลงเฟซบุ๊ค รำลึกเหตุการณ์ชัตดาวน์กรุงเทพเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่าเป็นการทำผิดมหันต์ในชีวิต ผมไม่ขอมีความเห็นต่อโพสต์ของหมอมงคล รวมทั้งไม่ได้รู้สึกดีใจหรือสะใจกับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับคนที่เรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ เพราะมันคือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติที่ผมและคนไทยทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ในเรื่องเดียวกันที่ท่านประธานมูลนิธิ กปปส. ให้สัมภาษณ์ว่าหากย้อนกลับไปได้ยังทำแบบเดิมนั้น ผมคงไม่มีความเห็นเช่นกันเพราะเป็นวิธีคิดทางการเมืองของท่าน ส่วนผมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเพราะเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย คนไทยทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันแม้จะมีพื้นฐานการศึกษาหรือชาติตระกูลที่ต่างกันก็ตาม ผมยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากประชาชนและยินดีก้มหัวให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ แต่ผมไม่ยอมถอยให้กับเผด็จการโดยเด็ดขาด

 

 

 


          ส่วนที่ท่านให้สัมภาษณ์ตำหนิต่างชาติทำนองว่าไม่มีสิทธิมาก้าวก่ายเป็นเรื่องภายในประเทศ เรายังไม่เคยยุ่งกับเรื่องประเทศอื่นเพราะฉะนั้นต่างชาติก็ไม่ควรยุ่งกับเรื่องของเรา นั้น ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะคำว่าเรื่องภายในหรือกิจการภายใน (internal affairs) ที่ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงไม่ได้หมายถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการกำหนดเจตจำนงค์ของตนเอง (self-determination) ของประชาชนในรัฐนั้นๆ อันถือเป็นกิจการภายใน แต่ไม่หมายความรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เรามีพันธกรณีอยู่ เช่น กฏบัตรสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เราจึงมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ประชาคมโลกจึงมีความชอบธรรมในการติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกตามที่ผูกพันไว้

 

 

 


          ตั้งแต่มีการยึดอำนาจมามีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการห้ามแสดงความคิดเห็นต่างจาก คสช. การบังคับเอาบุคคลที่มีความเห็นต่างไปปรับทัศนคติ การจับกุมคุมขังผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง การห้ามคนเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงการบังคับพลเรือนให้ขึ้นศาลทหาร การกระทำที่กล่าวมานี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีอยู่ต่างชาติจึงมีความชอบธรรมที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องได้ ส่วนที่บอกว่าเราไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของประเทศอื่นนั้น ท่านคงลืมเหตุการณ์ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในสมัยนายชวน หลีกภัย ได้เสนอนโยบาย "พัวพันอย่างสร้างสรรค์" (constructive engagement) ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 31 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาการเมืองภายในของประเทศพม่าแต่ไม่มีภาคีสมาชิกใดเอาด้วย จนไทยต้องถอยด้วยการเปลี่ยนแนวทางเป็น "พัวพันอย่างยืดหยุ่น" (flexible engagement) แต่ก็ยังถูกปฏิเสธจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แบบนี้ยังบอกว่าเราไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของใครอีกเหรอครับ