"มีชัย" แถลงผลร่างรธน.ตลอด 7 วัน - พร้อมตั้งชื่อว่าฉบับ "ป้องกันทุจริต"

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธุ์" แถลงภาพรวมของการร่างรัฐธรรมนูญตลอดทั้ง 7 วัน รวม 261 มาตรา โดยจุดสำคัญที่แตกต่างจากฉบับที่แล้วคือเรื่องสิทธิของประชาชน ส่วนที่เขียนขึ้นมาใหม่คือเรื่องศาสนา เน้นปราบโกงเข้มข้น พร้อมให้ฉายาฉบับนี้ว่า "ป้องกันการทุจริต" ...

 

วันนี้ (17 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่โรงแรมดิ อิมพีเรียล เลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงข่าวถึงภาพรวมของการประชุม กรธ.นอกสถานที่ ตลอดทั้ง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 - 17 ม.ค. ว่า เบื้องต้นจะมี 13 หมวด 261 มาตรา ไม่รวมบทเฉพาะกาล โดย กรธ.จะนำไปพิจารณาต่ออีกครั้งที่รัฐสภา ซึ่งจุดแตกต่างของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จุดสำคัญ คือ เรื่องสิทธิประชาชน ทาง กรธ.พยายามทำให้สิทธิพื้นฐานเป็นสิทธิที่กินได้ เกิดผลอย่างจริงจัง หลักใหญ่ที่ทำก็คือ เปลี่ยนจากแต่การที่เขียนว่าทำอะไรได้บ้าง เป็นอะไรก็ตามที่รัฐธรรมนูญไม่เขียนห้ามไว้ก็มีสิทธิทำได้ และกำหนดว่าการจะออกกฎหมายจำกัดสิทธิต้องไม่กระทบสิทธิมนุษยชนด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือ เราจะกำหนดว่า การใช้สิทธิของบุคคลต้องนึกถึงหน้าที่และผลกระทบต่อคนอื่นรวมทั้งความมั่นคงของชาติ เพื่อไม่ให้ใช้แต่สิทธิจนลืมนึกถึงหน้าที่
         

 

นายมีชัย แถลงต่อว่า เรื่องต่อมาที่ กรธ.เขียนแบบใหม่ ก็คือเรื่องของศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธ มีการเรียกร้องให้กำหนดเป็นศาสนาประจำชาติ ทาง กรธ.ก็มีคำถามว่าทำไมต้องกำหนดแบบนั้น เพราะมีความรู้สึกว่าไม่มีอะไรปกป้องศาสนาพุทธจากการบ่อนทำลาย เขียนไว้เฉยๆแบบนั้นไม่มีประโยชน์ เราจึงเขียนบังคับไว้ว่า รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองไม่ให้ใครมาบ่อนทำลายได้ ส่วนกระบวนการในการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเป็นแบบผู้ชนะเอาไปหมด ทำให้เกิดผลเสียตามมาหลายอย่าง เช่น เสียงของผู้แพ้ที่ไม่ได้เอาไปใช้ ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่าต้องรอไปอีก 4 ปี จนคนส่วนใหญ่รอไม่ได้ ทำให้เกิดการทะเลาะกัน ทาง กรธ.จึงคิดว่าคะแนนทุกคะแนนต้องมีความหมาย ไม่ใช่แบบผู้ชนะเอาไปหมด เป็นการเฉลี่ยความสุข เพื่อให้เสียข้างน้อยได้รับการเคารพนับถือและดูแล รวมทั้งนำไปใช้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ที่ว่าให้เสียงข้างมากมีสิทธิแก้ไขแต่ต้องยอมรับและฟังเสียงข้างน้อยด้วย
         

 

ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน กรธ.ก็เขียนรับรองคุ้มครองเรื่องต่างๆ เอาไว้เหมือนเก่า แต่ในบางเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญเราก็ไปกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำ เช่น การใช้ทรัพยากร รัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบของประชาชนในพื้นที่ด้วย สิ่งนี้จะบังคับเอาไว้ว่ารัฐต้องคำนึงถึงและจัดสรรการใช้ทรัพยากรให้ทั่วถึง หรืออย่างกรณีคลื่นความถี่ คลื่นเหล่านนี้ยังไงก็เป็นของรัฐไม่ใช่เอกชน ดังนั้น รัฐก็ต้องคำนึงถึงสาธารณะประโยชน์จะไปคำนึงถึงแต่เงินทองอย่างเดียวไม่ได้
         

 

นายมีชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื้อรัง คือ เรื่องการทุจริต ดังนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เขียนไว้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการทุจริตการเลือกตั้งที่มีบทลงโทษรุนแรง ทาง กรธ.ได้มีความพยายามที่จะกำจัดออกไปให้หมดให้ได้ รวมทั้งเรื่องของการใช้งบประมาณ ที่กำหนดไว้ว่าใครทำแบบนั้นต้องพ้นจากหน้าที่ โดยเฉพาะหากรัฐมนตรีทำเอง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะต้องไปทั้งคณะ อาจจะมีคนหาว่าการทำอย่างนั้นทำให้รัฐบาลบริหารงานลำบาก ตนคิดว่า หากรัฐบาลคิดจะทุจริตมันก็ลำบาก แต่หากรัฐบาลบริสุทธิ์ใจก็ไม่ยากในการทำงาน เพื่อที่จะทำให้กลไกการขจัดการทุจริตเกิดผลอย่างแท้จริง กรธ.ก็ให้องค์กรอิสระยกระดับให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ทำงานคล่องตัวมากขึ้น ไม่ต้องรอคนมาฟ้อง ทำหน้าที่ของตนเองได้เลย
         

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีงานด้านนี้จำนวนมากรับทุกอย่าง ทำให้การทำงานช้าไม่ทันการ คนไม่กลัว ดังนั้น ก็มีการเปิดช่องทางไว้ว่า เรื่องเล็กๆ ป.ป.ช.ไม่ต้องทำ อาจให้ ป.ป.ท.หรือให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องตรวจสอบเอง โดยให้ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.มาควบคุมดูแลก็ได้ และเพื่อให้มีเวลาที่ชัดเจน การทุจริตบางเรื่องได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ เพื่อให้งานเดินหน้าและเห็นผลทันตา และได้วางกลไกให้เชื่อมโยงระหว่างองค์กรอิสระทั้งหมด แต่การทำงานต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน ถ้าใครเจออะไรที่เป็นหน้าที่ของหน่วยอื่นก็สอบสวนเบื้องต้นได้จากนั้นก็ส่งต่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลต่อไป
        

 

ส่วนการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ทาง กรธ.ต้องการให้ ส.ว.พ้นจากอำนาจพรรคการเมือง ซึ่งวิธีการได้มาในอดีตดูแล้วไม่ค่อยเหมาะสม ทั้งการเลือกตั้งทางตรงและการสรรหา แต่วิธีใหม่ที่ กรธ.กำหนด ส.ว.จะไม่ต้องอยู่ใต้พรรคการเมือง ประชาชนที่สนใจจะมามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ส่วนที่คนเข้าใจผิดว่าเราให้องค์กรอิสระควบคุมการทำงานของรัฐบาลนั้น ทาง กรธ.ก็เปิดช่องว่าในกรณีที่ สตง.ไปตรวจแล้วพบว่ามีการทำอะไรที่ก่อให้เกิดผลเสีย หรือขัดวินัยการเงินการคลังร้ายแรง ให้ไปปรึกษากับ กกต.และ ป.ป.ช.ที่ดูและเรื่อนโยบายและเรื่องการทุจริต เขาก็จะมองเห็นคนละแง่คนละมุม หากเห็นว่าโครงการนั้นมีอันตราย ก็เพียงแค่ทำรายงานให้ ครม.และสภาทราบ ครม.จะทำตามหรือไม่ก็ได้ โดยไม่มีอำนาจควบคุมสั่งการ
         

 

นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการปรองดอง ทาง กรธ.ก็ได้สอดแทรกเรื่องเหล่านี้ไปในหลายๆ หมวด ทั้งในส่วนสิทธิประชาชน หมวดรัฐสภา หรือแม้แต่กลไกการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดการปรองดอง รวมถึงกลไกหากเกิดขัดแย้งจะต้องไปที่ไหน มีช่องทางใดตัดสิน แบบนี้จะทำให้ไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันเวลาเกิดความเห็นต่าง ส่วนเรื่องการปฏิรูปจะสอดใส่เอาไว้ โดยที่จะไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปโดยตรง เช่น เรื่องกฎหมาย ต้องดูว่ากฎหมายล้าหลังไปหรือยัง ส่วนเรื่องการปฏิรูปจริงๆ ก็กำลังรอผลสรุป จาก สปท.ว่าจะมีอะไรใส่ลงไปได้บ้าง เพราะสิ่งที่ กรธ.กำหนดในรัฐธรรมนูญแล้วคือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนบทเฉพาะกาลนั้น ก็จะให้ กรธ.ทุกคนกลับไปอ่านร่างทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งก่อน หลังจากนั้นค่อยกลับมาร่างในบทเฉพาะกาล
         

 

อย่างไรก็ตาม กรธ.จะต้องไปดูรายละเอียดทั้งฉบับก่อนที่จะนำมาเขียนบทเฉพาะกาลว่าจะต้องเขียนว่ารองรับอะไรบ้าง เช่น การออกกฎหมายลูก รวมทั้งต้องครอบคลุมเรื่องใดบ้าง เช่นงบประมาณ โดยเฉพาะคำว่าประชานิยมจะสามารถใช้ได้มาน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่ากฎหมายลูกจะมีประมาณ 10 ฉบับ ส่วนการนิรโทษกรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คงมีเหมือนเดิมตามปกติ แต่ไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการรับรองสิ่งที่เขาทำว่าถูกหรือทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่รวมกับเรื่องที่ผิด อย่างเช่น การทุจริตซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการยกเว้น เมื่อถามว่า มั่นใจว่าจะผ่านประชามติหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้
         

 

ทั้งนี้ ภายหลังการแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรจะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าอะไร นายมีชัย กล่าวทีเล่นทีจริงว่า "ฉบับป้องกันการทุจริต"