ทันควัน !! "ไพบูลย์" โร่ยื่นหนังสือ "DSI" ตรวจสอบรถยนต์หรู "สมเด็จช่วง"

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"ไพบูลย์ นิติตะวัน" เข้ายื่นหนังสือถึง "ดีเอสไอ" ตรวจสอบรถยนต์หรูของ "สมเด็จช่วง" หลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ - วันที่ 19 ม.ค. นี้ จะเดินทางไปยื่น สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อวินิจฉัยกฎหมายมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์  ไม่เห็นด้วยที่ต้องเริ่มขั้นตอนจาก "มส."

 


วันนี้ (18 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นหนังสือถึงพ.ต.ท.ไพศิษฐ์ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อเร่งรัดการสืบสวนสอบสวนการครอบครองรถยนต์หรูของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ
         

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมกำลังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการครอบครองรถยนต์หรูของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในรถยนต์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบกรณีการหลีกเลี่ยงภาษี โดยกรณีดังกล่าวถูกนำไปเกี่ยวโยงกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ และอาจกลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอเป็นตัวแทนเร่งรัดให้ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้สิ้นข้อสงสัยรวม 3 ข้อ คือรถยนต์คันดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ พระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการได้มาอย่างไร และกระทำผิดกฎหมายอย่างไรบ้าง
         

 

"การตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหลังจากนี้ที่อาจไม่สามารถนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯได้ เพราะจะมีฝ่ายคัดค้านที่ตอบโต้กันไปมา อย่างไรก็ตาม หากดีเอสไอตรวจสอบแล้วไม่พบความผิดก็ถือว่าได้คลายความสงสัย แต่หากทำผิดกฎหมาย ผมเชื่อว่าสมเด็จช่วงจะมีวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์กับพุทธศาสนา" นายไพบูลย์ กล่าว
         

 

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 19 ม.ค. เวลา 09.00 น. จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราช ในส่วนขั้นตอนการเสนอพระราชาคณะผู้มีสมณะสูงให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนา ตีความข้อกฎหมายว่าต้องเริ่มขั้นตอนจากมหาเถรสมาคม (มส.) แต่ตนไม่เห็นด้วยเพราะตัวบทของกฎหมายเขียนไว้ว่าให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมส. ดังนั้น เท่ากับต้องมีชื่อส่งไปให้มส. ไม่ใช่เริ่มจากมส.เลือกเอง เรื่องดังกล่าวสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจวินิจฉัย พร้อมขอให้ผู้ตรวจการฯยื่นเรื่องทักท้วงไปนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลพศ. เพื่อชะลอการนำเสนอชื่อจากมส.ให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณา
         

 

ขณะที่ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนยบริหารคดีพิเศษกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า คดีรถหรูเลี่ยงภาษีที่ดีเอสไอตรวจสอบได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีราคาเกิน 4 ล้านขึ้นไป จำนวน 500 คัน และกลุ่มที่มีราคาต่ำว่า 4 ล้านบาท มีจำนวนกว่า 5,000 คัน โดยที่ผ่านมาดีเอสไอได้ดำเนินการตรวจสอบในกลุ่มแรกไปก่อนแล้ว ส่วนกลุ่มที่ราคาต่ำกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนี้มีรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์รวมอยู่ด้วย และขณะนี้อยู่ในตั้งตอนการตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อมีการร้องเรียนดีเอสไอได้ประสานไปยังกรมศุลกากรเพื่อขอข้อมูลในการนำเข้าชิ้นส่วนของรถจดประกอบ โดยรถของสมเด็จฯวัดปากน้ำ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ครอบครองเป็นคนแรก แต่ปัจจุบันได้มีการแจ้งยกเลิกใช้งานรถคันดังกล่าวแล้ว และถูกนำเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นของสะสม
         

 

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า แม้จะมีการร้องเรียนให้เร่งตรวจสอบในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องแยกแยะระหว่างคดีทางโลกและทางธรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้พนักงานสอบสวนคงต้องเข้าไปตรวจสอบรถของสมเด็จฯพระมหามังคลาจารย์ปัญหาคือ จะต้องเร่งตรวจสอบเอกสารการนำเข้าว่ารถจดประกอบคันดังกล่าวนำเข้ามาผิดหรือไม่ เพราะทางพนักงานสอบสวนจะต้องตรวจสอบเอกสารที่สำแดงว่า เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนหรือเป็นการนำเข้าทั้งคัน