จับตา "รธน.ใหม่" ใกล้บรรลุผล ! ใช้ยาแรงขวางนักการเมืองโกง -"ศาลรธน." เปิดทางนายกคนนอก ร่วมผ่าวิกฤต

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

ได้ข้อสรุปครึ่งทาง "ร่างรธน.ชุดใหม่"  เบื้องต้นมี 261 มาตรา  แต่ยังไม่ได้ใส่บทเฉพาะกาล  -ไฮไลท์อยู่ที่   "ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วน" ที่ไม่ทอดทิ้งผู้คะแนนผู้แพ้  เฉลี่ยเก้าอี้กันเพื่อความปรองดอง นอกจากว่าผู้สมัครบางคนแพ้คะแนน "โหวตโน" จะไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.แน่นอน -พร้อมกฏเข้มกันไม่ให้นักการเมืองทุจริต เข้ามาเป็นส.ส.  เช่น "ยิ่งลักษณ์" โดนคดีอาญาจำนำข้าว ไม่ลงส.ส.ได้อีก   -เปิดช่อง "ศาลรธน." ร่วมผ่าทางตัน หากบ้านเมืองเกิดวิกฤต สามารถงัดม.7  แต่งตั้งนายกคนนอกได้  

 

 

 

 

  เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการประชุม ‘21 อรหันต์’ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มี ‘เนติบริกรครุฑ’ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ หลังหารือกันที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี กัน 7 วัน 7 คืน

 

 

 

 

มีบทสรุปคือร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นทั้งหมด 261 มาตรา แต่ยังไม่ได้ใส่บทเฉพาะกาล โดยมีหมวดสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง ได้แก่ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาของ ส.ส.-ส.ว. และการจัดตั้งองค์กรแก้ไข ‘วิกฤติ’ ในชาติ หากประเทศถึงทางตัน เป็นต้น

 

 

 

“สิทธิของประชาชนเป็นสิทธิที่กินได้ หรือสามารถบังคับใช้ได้จริง”

 

 

เป็นคำยืนยันของ ‘มีชัย’ ต่อจุดขายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่แตกต่างจากฉบับอื่น ๆ ในอดีต

 

 

 

จริงหรือไม่ ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปเนื้อหาบางส่วนให้สาธารณชนได้รับทราบ ดังนี้

 

 

เลือกตั้งจัดสรรปั้นส่วน เกลี่ยคะแนนหวัง‘ปรองดอง’-ส.ว.สรรหาล้วน-‘นายกฯ’คนนอกได้

 

 

 

‘มีชัย’ ระบุว่า ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปั้นส่วน เปลี่ยนจากผู้ชนะเอาไปหมด เป็นให้มีความหมายทุกคะแนน ส่งผลให้คนส่วนน้อยจะได้รู้สึกว่ามีความหมาย ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง และด้วยหลักการเดียวกัน เราให้ความสำคัญกับรวมทั้งการไปกำหนดให้ผู้แทนเสียงข้างน้อยได้มีส่วนในการแก้รัฐธรรมนูญ

 

 

 

 

เมื่อลงลึกในรายละเอียด กรธ. ได้เคาะให้ ส.ส. มีจำนวน 500 คน แบ่งเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน บัญชีรายชื่อ 150 คน ภายใต้ระบบจัดสรรปั้นส่วน ซึ่งเป็นระบบที่ กรธ. การันตีว่า ‘ไม่เคยมีที่ไหนใช้มาก่อน’ ซึ่งจะมีการนำคะแนน ‘ผู้แพ้’ มาคำนวณด้วย เพื่อเฉลี่ยให้ได้เก้าอี้เท่า ๆ กัน หวังว่าจะให้เกิด ‘ความปรองดอง’ เกิดขึ้น เนื่องจากทุกพรรคจะได้คะแนนเฉลี่ยลดหลั่นกันไป และถ้ามีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงน้อยกว่าคะแนน ‘โหวตโน’ จะไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.

 

 

 

 

 

ขณะที่คุณสมบัติของ ส.ส. นั้นยังคงยืนยันตามหลักการเดิมในรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ๆ แต่จะเพิ่มลักษณะต้องห้ามใหม่ เช่น เคยได้รับโทษจำคุกและพ้นโทษไม่ถึง 10 ปี จะไม่มีสิทธิ์สมัคร ส.ส. เว้นแต่เป็นความผิดโดยประมาท หรือลหุโทษ และนำลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านมาไว้ด้วย ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับป่าไม้ หรือยาเสพติด เป็นต้น

 

 

 

 

หลังจากนั้นเมื่อได้ ส.ส. ครบจำนวนแล้วจึงจะเปิดการประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ โดยใช้ ส.ส. ขั้นต่ำ 95% หรือ 475 คน โดยสภามีอายุ 4 ปี และแต่ละพรรคจะควบรวมกันไม่ได้ แต่เป็นพันธมิตรกันได้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. ต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกฯ จำนวน 3 คน ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย แต่พรรคการเมืองไหนจะไม่เสนอก็ได้

 

 

 

โดยผู้ที่จะเสนอให้เป็นนายกฯ ต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ต้องไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และถ้ามีชื่อซ้ำกันสองพรรค ถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้รับการเสนอชื่อมา ขณะเดียวกันจะไปเลือกบุคคลอื่นนอกเหนือจากรายชื่อดังกล่าวไม่ได้

 

 

 

หมายความว่า บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก็ย่อมได้

 

 

 

 

ท่ามกลางข้อสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะสามารถกลับมาเป็นนายกฯได้อีกหรือไม่ หากรับโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งครบ 5 ปี เนื่องจากถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนออกจากตำแหน่ง เรื่องนี้ กรธ. เคยให้ความเห็นไว้ว่า ไม่ได้อยู่ในข้อห้าม แต่ถ้าหากถูกเพิกถอนภายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้อีก

 

 

 

 

อย่างไรก็ดีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ระบุไว้ชัดเจนว่า หากเคยต้องโทษคดีเกี่ยวกับการทุจริต จะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้อีก ดังนั้นหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่ามีความผิดฐานไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ก็จะลงสมัคร ส.ส. อีกไม่ได้

 

 

 

 

ส่วนที่มาของ ส.ว. นั้น ให้มี 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มาจากกลุ่มทางสังคม 20 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะลงสมัครตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และส่วนกลางขึ้นมา โดยไม่บังคับว่าในแต่ละอำเภอจะต้องได้ผู้สมัครครบ 20 กลุ่ม โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาในแต่ละกลุ่มเพื่อคัดเลือกมาเป็น ส.ว. โดยมีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองอีกต่อไปแล้ว

 

 

 

 

อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หารือกับนายมีชัยว่า ต้องการให้ ส.ว. ที่ได้รับตำแหน่งภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ มีวาระ 10 ปี แต่นายมีชัย ไม่เห็นด้วย และเกรงว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต จึงตัดวาระลงให้เหลือแค่ 5 ปีเท่านั้น

 

 

 

เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ-ปรับบทบาทเชิงรุก มีสิทธิเตือน รบ.หากส่อทำเกิดความเสียหาย

 

 

 

 

ต่อไปนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากพบว่ารัฐบาลเตรียมดำเนินการสิ่งใด และส่อว่าจะเกิดความเสียหาย ทั้งในระดับนโยบาย หรือได้ลงมือกระทำไปแล้ว ให้ทั้งสามองค์กรพิจารณาร่วมกันว่า เรื่องที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการนั้น จะสร้างความเสียหายแก่ประเทศระยะยาวหรือไม่ หากพบประเด็นความเสียหายให้นำมติทั้งสามองค์กรที่มีร่วมกันแจ้งให้คณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรให้ทราบ โดยไม่ถือว่าเป็นคำสั่งให้รัฐบาลต้องดำเนินการตามข้อตักเตือนนั้น แต่ไม่มีผลผูกพันให้รัฐบาลต้องดำเนินการตามข้อตักเตือนดังกล่าว

 

 

 

เสมือนกระซิบดัง ๆ เตือนว่า เรื่องนี้ ‘ทำท่าจะเกิดความเสียหายกับประเทศ’

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังให้อำนาจโดยไม่จำเป็นต้องรอเรื่องร้องเรียนมาก่อน เช่น หากพบข่าวในหนังสือพิมพ์ สามารถลงมือทำได้เลยทุกองค์กร เพื่อให้ลดกรณีข้อโต้แย้งว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีเมื่อมีผู้ร้องเท่านั้น

 

 

 

 

ขณะเดียวกันก็ยังไม่แน่นอนว่าจะยังมี ป.ป.ช. จังหวัด หรืออนุกรรมการ ป.ป.ช. อีกหรือไม่ เนื่องจาก กรธ. กังวลว่าจะเป็นบทที่ตายตัว และอนุกรรมการฯจะมีอำนาจเต็มที่ทำให้เกิดปัญหาได้ ทั้งนี้ตอนออกกฎหมายลูกจะต้องปรึกษากับ ป.ป.ช. อีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

 

 

ส่วนการตรวจสอบซึ่งกันและกันขององค์กรอิสระนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดให้องค์กรอิสระทั้งหลายร่วมกันทำประมวลจริยธรรมเพื่อใช้ปฏิบัติโดยครอบคลุมให้ใช้บังคับกับ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย

 

 

 

ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมาตรา 7 จับตา คปป. แปลงร่าง ?

 

 

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในร่างรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับมีชัย’ คือให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

 

 

ซึ่งมาตราดังกล่าว ถูกตีความโต้แย้งเป็นปัญหากันมาอย่างยาวนานเวลาเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองว่า ตกลงแล้วมีอำนาจหน้าที่ขนาดไหน และใครจะเป็นผู้ชี้ขาด ?

 

 

 

เพราะหากจำกันได้ในช่วงปลายปี 2556-ต้นปี 2557 ม็อบ กปปส. ที่ขับเคลื่อนโดย ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการผลักดันให้ ส.ว. ใช้อำนาจตามมาตรา 7 คัดเลือกนายกฯกันเอง แต่มีหลายฝ่ายออกโรงเตือนว่าทำไม่ได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ

 

 

 

กรธ. เล็งเห็นปัญหาตรงนี้ จึงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความมาตรานี้ได้โดยตรง แต่ยังไม่แน่ใจว่า อาจมีการปรับถ้อยความในมาตรานี้บางส่วนด้วยหรือไม่

 

 

 

ที่น่าสนใจคือ หากให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความมาตรา 7 เช่นนี้ อาจเทียบเคียงได้กับการมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ ที่ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตีตกไปก่อนหน้านี้

 

 

 

เพราะอำนาจหน้าที่ของ คปป. คือ สามารถเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแทนรัฐบาล หากเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง-เศรษฐกิจ หรือรัฐอยู่ในสถานะล้มเหลว หรือเรียกกันว่า ‘Fail State’ โดยมีคณะกรรมการคือบรรดา ‘แม่ทัพ-นายกอง’ ระดับสูงในกองทัพ และประธานหรือผู้บริหารองค์กรอิสระ

 

 

 

แต่ในเมื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความมาตรา 7 เท่ากับว่า หากมีผู้ร้องกรณีเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมือง ขอให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ‘คนนอก’ หรือ ‘คนอื่น’ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เหมือนคราวปี 2556-ต้นปี 2557 หรือย้อนกลับไปไกลกว่านั้นคือการชุมนุมของม็อบพันธมิตรฯ เมื่อปี 2548-2549 และถ้าศาลฯ ‘ไฟเขียว’ วินิจฉัยว่าสามารถทำได้

 

 

 

ก็เท่ากับเปิดช่องให้ ‘คนบางกลุ่ม’ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้มาตรานี้ หากเกิดความไม่พอใจอะไรในรัฐบาลขึ้นมา ก็ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 7 ได้ตลอด

 

 

 

นอกจากนี้ยังไม่มีการกำหนดว่า ‘วิกฤติ’ ความหมายที่แท้จริงคือขนาดไหน ต้องเป็นเรื่องใหญ่แค่ไหนกันแน่

 

 

 

รวมถึงยังไม่ได้เป็นการการันตีว่า หากให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรานี้แล้ววิกฤติจะหายไป การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก ?

 

 

 

ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายในสังคมจะต้องจับตาดูให้ดี รวมถึงในบทเฉพาะกาลที่ขณะนี้ กรธ. ยังไม่ตกผลึกกันว่า จะใช้มาตรการอะไรในการ ‘ผ่าทางตัน’ หาทางออกให้กับประเทศหากเกิดวิกฤติจริง ๆ

 

 

 

แต่หากยัง ‘ดึงดัน’ หาวิธีการ ‘ต่ออำนาจ’ ให้ขั้วปัจจุบัน พร้อมเขียนเปิดช่องให้มีองค์กร ‘เหนือ’ รัฐบาลเหมือนคราวที่แล้ว

 

 

 

ให้รอดูการตัดสินจากประชาชนแล้วกัน !

 

 

 

ที่มา :  isranews.org