"สนธิญาณ" ร้องป.ป.ช. เอาผิด "เลขาฯ ก.ล.ต." หลังส่อทำผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ (26 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ได้ยื่นหนังสือร้อง ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีมีเหตุอันควรสงสัย ว่า เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

 


สืบเนื่องจากกรณีที่ประธานและคณะกรรมการบริหารบริษัท NMG มีคำสั่งขัดขวาง ห้ามไม่ให้ตัวแทนของ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท NMG เป็นจำนวน 15,000,000 หุ้น และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นอีกหลายราย เข้าประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 โดยมิชอบด้วยกฏหมาย และเป็นข่าวสารที่สนใจของประชาชนและนักลงทุนทั้งหลาย

 


ซึ่งในกรณีนี้คณะกรรมการบริษัท NMG ได้ทำหนังสือถึง ตลท. ยอมรับข้อเท็จโดยชัดแจ้งว่ามีการห้ามและขัดขวางการเข้าประชุมของผู้ถือหุ้นบางรายจริง จึงเป็นการกระทำความผิดต่อกฏหมายตาม พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญามาตรา 89/7 มาตรา 281/2

 


จากนั้นปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นอีกหลายรายที่ถูกขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมประชุมได้ร้องเรียนต่อ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่นายรพี สุจริตกุล เลขาฯ ก.ล.ต. ได้แถลงข่าวในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 ว่าเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ก.ล.ต. คงยุ่งไม่ได้ และนายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาฯ ก.ล.ต. ก็กล่าวว่า กรณีดังกล่าว ก.ล.ต. จะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และ ต.ล.ท. ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวว่าผิดกฏหมายหรือกฏเกณฑ์หรือไม่ แต่เบื้องต้นเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม

 


แต่ตามข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติไว้ว่า ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 19 คือ กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติ และดำเนินการบังคับใช้กฏหมายกับบุคคลที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อประธานและคณะกรรมการบริษัท NMG กระทำความผิด ก.ล.ต. ก็ต้องดำเนินการบังคับใช้กฏหมายกับผู้กระทำความผิดเพื่อคุ้มครองนักลงทุน      

 


ดังนั้นการที่ นายระพี สุจริตกุล กล่าวว่า ก.ล.ต. คงยุ่งไม่ได้ และนายชาลี จันทนยิ่งยง กล่าวเพียงว่า การกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสมนั้นส่อให้เห็นถึงเจตนาที่จะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันมีโทษอาญาตามมาตรา 19 อย่างชัดเจน

 


และต่อมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เผยแพร่ข่าว ก.ล.ต. ฉบับที่ 91/2558 ว่า กรมพัฒนาธุรกิจ ได้แจ้งผลการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัดฯ แล้วว่า ประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจที่จะไม่อนุญาตหรือขัดขวางไม่ให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 33, มาตรา 102 และมาตรา 105 แห่ง พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัดฯ  ซึ่งเท่ากับว่า ก.ล.ต. ก็ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฏหมาย แต่ นายระพี กลับแถลงข่าวว่า หากพบว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว จะต้องระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับแต่ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท เป็นการสรุปว่าต้องระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่งเท่านั้น ทั้งๆ ที่ลักษณะการกระทำผิดของประธานและคณะกรรมการบริหารบริษัท NMG แท้จริงแล้วมีลักษณะเป็ยการกระทำผิดโดยทุจริต ซึ่งต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี ตามมาตรา 281/2 วรรคสอง

 


ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ก.ล.ต.ได้เผยแพร่ข่าวฉบับที่ 136/2558 แถลงว่า ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา ในฐานะประธานกรรมการบริษัท และประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น NMG ประจำปี 2558 ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กรณีไม่อนุญาตให้ผู้ถือหุ้นบางรายเข้าร่วมประชุมและห้ามผู้ถือหุ้นบางรายออกเสียงลงคะแนนในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น NMG ประจำปี 2558 เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต ตามกำหนดในมาตรา 89/2 อันเป็นเหตุให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง ซึ่งดำเนินการกล่าวโทษเฉพาะ นายณิทธิมน หัสดินทร ณ อยุธยา แต่เพียงผู้เดียว กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวน มีเจตนาละเว้นที่จะไม่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงใดๆ เพื่อพิสูจน์ความผิดของคณกรรมการบริหารคนอื่นๆ ซึ่งนายสนธิญาณในญานะผู้ถือหุ้นท่ีเป็นผู้เสียประโยชน์เห็นว่าการสอบสวนดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงผู้กระทำความผิดอื่นๆ ในฐานะตัวการการร่วม หรือผู้สนับสนุนครบถ้วนแล้วหรือไม่ เพราะพฤติการณ์และลักษณะการกระทำผิด ก่อนเกิดเหตุนั้น บริษัท NMG มีนายสุทธิชัย แซ่หยุ่น ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร จึงควรมีการสอบสวนว่าได้มีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้า ด้วยการลาออกจากตำแหน่งโดยมีผลในวันที่ 28 เมษายน 2558 ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพียงวันเดียว ซึ่งเห็นได้ชัดว่า นายสุทธิชัยฯ ได้มีการเตรียมวางแผนให้นายณิทธิมนฯ เข้าเป็นประธานกรรมการแทน เพื่อทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นนายณิทธิมนฯ เป็นเพียงกรรมการที่ไม่มีอำนาจลงนามกระทำการแทนบริษัท ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้นายณิทธิมนฯ เป็นผู้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นบางรายเข้าร่วมประชุมโดยยอมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

 


แต่โดยข้อเท็จจริงในวันที่ดำเนินการประชุม นั้นนายสุทธิชัยฯ และคณะกรรมการบริหารบริษัททุกคนได้นั่งประจำที่เข้าร่วมประชุมแต่ทุกคนก็ไม่ได้แสดงอาการท้วงติงหรือห้ามปรามนายณิทธิมนฯ ที่มีคำสั่งห้ามผู้ถือหุ้นบางรายเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตตนาเห็นชอบกับการกระทำครั้งนี้ ซึ่งมีลักษณะเป็นการกระทำผิดแบบเป็นกระบวนการ มีการตระเตรียมแผนการล่วงหน้า และเป็นตัวการร่วมทุกคน ที่สำคัญ นายสุทธิชัยฯ และ นายณิทธิมนฯ รวมถึงกรรมการบริหาร MNG ทุกคนที่มีลักษณะกระทำการทุจริต เพราะมีกรรมการบริษัท 3 คน ที่ต้องมีวาระพ้นจากการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ดังนั่นการห้ามไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นเข้าร่วมประชุมเป็นเจตตนาเพื่อไม่ให้มีการเสนอแต่งตั้งกรรมการใหม่เข้าไปทดทดแทน เพราะทำให้กรรมการที่พ้นวาระทั้ง 3 คนยังได้รับเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ตลอดไป ทั้งๆ ตนเองต้องพ้นจากวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว นอกจากนั้น กรรมการ NMG ทุกคน ยังได้รับประโยชน์โดยไม่ถูกตรวจสอบจากผู้ถือหุ้น หรือบุคคลภายนอก การกระทำครั้งนี้ กรรมการ NMG ทุกคนจึงมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกันกระทำโดยทุจริต แต่ ก.ล.ต. ดำเนินการกล่าวโทษเฉพาะนายณิทธิมนฯ จึงมีเหตุอันควรให้สงสัยว่า ก.ล.ต. จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าท่ีทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท NMG และผู้ถือหุ้น

 


นายสนธิญาณ จึงได้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า นายระพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ ก.ล.ต. และพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ผู้ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน กรณีการร้องเรียน บริษัท NMG หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำการอันมีมูลความผิดงานอาญาหรือไม่ และหากพบว่ามีมูลความผิดงานอาญา ขอให้คณะกรรมการ ปปช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ เพื่อดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป