มาแล้ว !! "กรธ." เปิดตัวร่างรธน.ฉบับ "ปราบโกง" - ใช้เวลาร่างทั้งสิ้น 170 วัน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธุ์" แถลงเปิดตัวร่างรธน.ร่างแรก ฉบับปราบทุจริต ใช้เวลาร่างทั้งหมด 170 วัน 270 มาตรา แบ่งเป็น 15 หมวด ตั้งแต่บททั่วไป-บทเฉพาะกาล ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่เพราะต้องรับฟังความเห็นของแม่น้ำ 4 สายและประชาชน ภายใน 15 ก.พ.นี้ "คสช." ยังคงอำนาจมาตรา 44 และบัญญัติไว้ในฉบับนี้ด้วย ... 

 

วันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แถลงถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกใช้เวลาทำงานทั้งหมด 170 วัน มี 270 มาตรา 15 หมวด ตั้งแต่บททั่วไปถึงบทเฉพาะกาล โดยยึดกรอบตามมาตรา 35 แห่ง รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ใน 10 ข้อ อาทิ กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกำกับและควบคุมให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ , กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
         


นายมีชัย ระบุว่า รธน. ฉบันนี้เน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง และจะไม่ให้การเมืองเป็นที่ฟอกตัวของบุคคลที่เคยกระทำความผิด คือ ถ้าศาลตัดสินว่าถูกตัดสินว่าทำผิด คนเหล่านั้นจะกลับมาเป็น ส.ส. ไม่ได้ เช่น ถูกตัดสินมีความผิดฐาน เป็นเจ้ามือการพนัน พอกเงิน ค้ายาเสพติด รวมถึงฉ้อโกงประชาชน ซึ่งถ้า รธน.ยังอยู่ สิ่งป้องกันปัญหาเหล่านี้ก็จะคงอยู่
         


ส่วนการมีส่วนร่วมของประเทศชาติและประชาชน นายมีชัย ยืนยันว่า ตลอดเวลาการร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย ในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันจะมีการรับฟังความคิดจากทุกฝ่ายอีกครั้ง คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ,คณะรัฐมนตรี (ครม.) ,สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ,สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชนชนทั่วประเทศภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเน้นมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง และทำให้การเมืองไม่ใช่กรอบป้องกันตัวเมื่อทำผิด
         


สำหรับ กลไกการใช้อำนาจรัฐ นายมีชัย ระบุว่า ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ครม. ที่จะต้องดำเนินการบางอย่าง พร้อมกันนี้ยืนยันว่า ไม่ได้มีการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระจนเกินไป เพียงแต่กำหนดกระบวนการไว้ให้ชัดเจนว่า เรื่องใดจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ ซึ่งหากพบว่าเป็นลักษณะต้องห้ามก็จะพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ
         


ในประเด็นที่ถูกระบุว่าไม่ยึดโยงกับประชาชนนั้น นายมีชัย ชี้แจงว่าองค์กรอิสระต้องเป็นอิสระ ไม่ใช่ลงคะแนนเอาเสียงข้างมาก ในสากลไม่ว่าประธานาธิบดี หรือ นายกรัฐมนตรี ทำผิดก็ต้องไปที่ศาล ซึ่งเป็นไปตามกลไกปกติ ซึ่งประชาชนในทุกประเทศก็ไม่ได้เชื่อมโยงประชาชนเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงองค์กรอิสระทุกองค์ก็จะถูกตรวจสอบเป็นวงจรหมด
         


ส่วนกลไกการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปนั้น นายมีชัย ระบุว่า กรธ.มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปอย่างจริงจัง โดยใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ขณะที่การจัดให้มีวุฒิสภาในระบบทางอ้อมนั้น เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในใจกลางการเมือง โดยไม่ต้องพึงพานายทุน หรือ พรรคการเมือง พร้อมย้ำว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกยังไม่สมบูรณ์เต็มที่เพราะต้องรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำความคิดเห็นมาปรับแก้ให้สอดคล้องกัน กรธ.พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเสมอ เพื่อมุ่งผลประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นหลัก
         


โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งให้แม่น้ำ 4 สายพิจารณาให้ความคิดเห็น ส่วนในเดือนมีนาคม จะส่งร่างที่แก้ไขให้กับรัฐบาล เดือนกรกฎาคม จะทำประชามติ ส่วนในเดือนมีนาคม 2560 คณกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มร่างกฎหมายลูก ประมาณเดือนสิงหาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะเลือกตั้งได้ในปลายปี 2560

 

"ส่วนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีอำนาจที่จะไปล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ การที่ คสช.ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไป เพราะจำเป็นต้องคงอำนาจไว้เช่นเดิม เนื่องจากภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น แต่อำนาจของ คสช.จะหมดไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา และไม่สามารถที่จะไปถ่ายโอนให้กับบุคคลอื่นได้ ซึ่งที่ผ่านมาผมเองยังไม่เห็นว่า คสช.จะใช้อำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับองค์กรอิสระ" นายมีชัย กล่าว