"มาร์ค" เตือนประชามติไม่ผ่าน คสช.ทรุด !! ติรธน.เน้นปราบโกง  จนลืมสิทธิปชช.

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th


 
"อภิสิทธิ์" เชื่อ ร่างประชามติไม่ผ่าน การทำงานคสช.ไม่มีทางราบรื่นแน่ แม้รธน.ชูปราบโกง  -แต่หมวดสิทธิ-เสรีภาพปชช. กลับโดนลดทอนบทบาท    ดูได้จากการใช้สิทธิ์เลือกตั้งของปชช.น้อยลง อำนาจเทไปที่สว.ที่เลือกกันเอง  และระบบเลือกตั้งนี้จะพบการโกงครั้งมโหฬาร  

 

 

 

วันนี้ ( 4 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการประชุมเพื่อพิจารณาชี้แจงซักถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าขอย้ำว่าเรากำลังพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเราควรจะมีความมุ่งหมายให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เนื่องจากรัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายสูงสุด จึงหวังว่าเมื่อประกาศใช้แล้วจะยั่งยืน ทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ โดยการทำประชามตินั้น ประชาชนจะต้องมีทางเลือกที่ชัดเจนเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ เพราะตนดูสถานการณ์วันนี้ ถ้าการประชามติไม่ผ่าน ปมปัญหาทางการเมืองจะมีมากขึ้น หลายฝ่ายก็พูดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะไม่ค่อยราบรื่น และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็จะลำบากมาก เนื่องจากอาจไปกระทบโรดแมป ที่ คสช. ประกาศไว้ และจะย้อนกลับมาเป็นปัญหาของสังคมโลก ที่จับตาอยู่ว่าตกลง คสช.จะเดินตามโรดแมปหรือไม่

 

 

 


          นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า การที่ กรธ.บอกว่าการปราบทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นจุดขายของร่างรัฐธรรมนูญ แต่จุดอ่อนอื่น ๆ คือ หมวดสิทธิ เสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการตรวจสอบถ่วงดุลของกลไกต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ศาล กับองค์กรอิสระ เพราะเรื่องสิทธิของประชาชนถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ค่อนข้างถดถอย ดังนั้นจึงมองไม่เห็นว่าการจะปราบโกง ทำไมต้องมากระทบกับตรงนี้ และในทางกลับกัน การจำกัดสิทธิของประชาชน หรือการไม่ให้ช่องทางที่เป็นรูปธรรมกับประชาชนที่เคยมีส่วนร่วมในการคานกับอำนาจรัฐนั้น จะทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจยากขึ้น อีกทั้งกลไกบางอย่างที่เคยเขียนในรัฐธรรมนูญก็ไม่มีแล้ว เช่น การถอดถอน แต่กลับมีตัวอื่นเข้ามาแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะศาลกับองค์กรอิสระ โดยเฉพาะองค์กรอิสระ จะมีที่มาจากการเห็นชอบของ ส.ว. ซึ่งฐานที่มาของส.ว ก็แคบลง เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเลือก เนื่องจากคนที่จะเลือก ส.ว. ได้ ต้องสมัคร ส.ว. ด้วย ตนจึงอยากจึงให้ กรธ.เปิดใจกว้างยอมรับฟังว่าทำอย่างไรจะปรับปรุงตรงนี้ได้ รวมถึงที่มานายกฯ ที่ไม่ได้เขียนเรื่องของนายกฯคนนอก โดยเฉพาะในกรณีของวิกฤตเท่านั้น และระบบเลือกตั้งที่ตนขอยืนยันว่า ระบบนี้มีโอกาสที่ในการซื้อเสียงรุนแรงมาก จึงอยากให้ กรธ.ปรับให้สอดคล้องกัน

 

 

 


          "ผมไม่คิดว่าการจะมีกติกาปราบโกงนี้ ต้องเป็นกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และก็ไม่ได้ต้องการกติกาที่เป็นประชาธิปไตย แต่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ผมคิดว่าประเทศไทยมีทางเลือกมากกว่า 2 ทางเลือกนี้ และเราไม่ควรยอมรับ 2 ทางเลือกนี้ จึงหวังว่า เรื่องเหล่านี้จะมีการปรับแก้ เข้าใจว่า กรธ.ก็ทำงานมาเหน็ดเหนื่อยพอสมควร พอออกร่างออกมาแล้วเจอเสียงท้วงติงก็อยากจะชี้แจง ว่าเขาก็พยายามทำมาดี แต่ถ้าจะใช้คำว่ายึดมั่น หรือ ถือมั่น แบบนั้นจะไม่เป็นผลดี เพราะ กรธ.ต้องปรับปรุงให้เป็นที่ยอมรับ แม้จะไม่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่ขอให้ปรับปรุงให้อยู่ในภาวะที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ และไม่เป็นปมปัญหาสำหรับอนาคต ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ เพราะเป้าหมายไม่ใช่แค่ผ่านประชามติ แต่รัฐธรรมนูญต้องดี และผ่านประชามติเพื่อให้ประเทศไทยจะได้มาคุยกันเรื่องอื่นด้วย" หัวหน้าพรรคปชป. กล่าว

 

 

 


          เมื่อถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ดีและจะผ่านประชามติผ่านนี้ อยู่ที่เงื่อนเวลาด้วยหรือไม่ เพราะมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ เช่น กฎหมายลูก 10 ฉบับ ในเวลา 8 เดือน จะทันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีเสียงเรียกร้องหลายเรื่องว่า ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของกฎหมายลูก เพราะถ้าปล่อยบางเรื่องให้อยู่ในกฎหมายลูก หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในอนาคตเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พูดง่าย ๆ คือ พอคนมาเป็นรัฐบาลก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงกติกาต่าง ๆ ได้ ดังนั้นอะไรที่ถือว่ามันเป็นหลักการที่จะต้องเป็นหลักประกันพื้นฐาน ในแง่ของสิทธิเสรีภาพ หรืออำนาจของฝ่ายต่าง ๆ ต้องเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่า กรธ.อยากให้รัฐธรรมนูญสั้นลง จึงพยายามเขียนให้กระชับ แต่บางอย่างนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเขียนเพื่อเป็นหลักประกัน มิฉะนั้นแล้วก็อาจจะไม่เกิดขึ้น